นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ค.60 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลามาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้านการเดินทาง ได้แก่ รถประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 800 คันทุกเส้นทาง และรถไฟชั้น 3 ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จำนวน 152 ขบวนต่อวัน และรถไฟชั้น 3 ระยะทางไกลในขบวนรถเชิงพาณิชย์ จำนวน 8 ขบวนต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-30 ก.ย.60

รัฐบาลจะต้องรับภาระค่าใช้จ่าย เป็นวงเงิน 1,907.441 ล้านบาท แบ่งเป็น ขสมก. 1,540.441 ล้านบาท ร.ฟ.ท. 367 ล้านบาท ทั้งนี้ ครม.เห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม เร่งรัดการนำระบบตั๋วร่วมมาใช้ ในการเชื่อมต่อการเดินทางสาธารณะของประชาชน

“จะเร่งรัดระบบตั๋วร่วมให้สามารถใช้กับรถไฟฟ้าแอร์ พอร์ต ลิ้งค์ สายสีม่วงช่วงบางใหญ่-เตาปูน รถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ให้ได้ภายในวันที่ 30 ก.ย. ก่อนที่มาตรการจะสิ้นสุด” นายอาคมกล่าวและว่า

เนื่องจากโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 คาดว่าจะออกบัตรในเดือน ส.ค.-ก.ย. 60 และเริ่มใช้งานในเดือน ต.ค.60

นอกจากนี้ ครม.ยังได้รับทราบรายงานการประชุมด้านการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคเอเชียครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 14-15 มี.ค.60 กรุงเวียงจันทน์ สาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมี นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วงว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมประชุม ได้รายงานถึงความก้าวหน้าโครงสร้างพื้นฐานและโครงการพัฒนาพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อการขนส่งที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เช่นโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 10 เส้นทาง โครงการรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง เป็นต้น รวมทั้ง แผนพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ประกอบด้วย โครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและการสร้างเมืองใหม่

ซึ่งประเทศไทยได้กำหนดให้มีแผนการลดปริมาณก๊าซเรื่อนกระจกให้ได้20-22% ภายในปี  2563 จากปัจจุบันที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 27% โดยมีมาตรการหลีกเลี่ยงการเดินทางไกลที่เกินความจำเป็น และลดระยะทางในการเดินทาง โดยกระทรวงคมนาคมมีแผนก่อสร้าง Transport Hub พหลโยธิน เพื่อเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อระบบขนส่ง เปลี่ยนรูปแบบ

เช่นโครงการสร้างช่องทางจักรยาน รถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รถไฟทางคู่ ปรับปรุง นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ เช่น การกำหนดให้รถยนต์ใหม่ต้องมีมาตรฐานการปล่อยไอเสียขั้นต่ำตาม EURO 4 และจัดซื้อรถประจำทางที่ใช้ก๊าซ CNG เป็นเชื้อเพลิง รวมถึง เพิ่มความปลอดภัยต่อชีวิตและสุขภาพในการขนส่ง

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม.วงเงิน 53,519.50 ล้านบาท และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. วงเงิน 51,931.15 ล้านบาท อยู่ในระหว่างสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงบประมาณ กฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงยังไม่สามารถเข้า ครม.ได้

 

prachachartlogo
แหล่งข้อมูล : ประชาชาติธุรกิจ


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …