จากแมทช์การแข่งขันประวัติศาสตร์ศึก โตโยต้าไทยพรีเมียร์ลีก เกมดาร์บี้แมทช์อีสาน ที่สวาทแคท นครราชสีมา มาสด้า เอฟซี เปิดบ้านรับการมาเยือนของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ผลการแข่งขันเสมอกันด้วยสกอร์ 1 – 1 ในวันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม ที่ผ่านมา บรรยากาศในสนามเป็นไปอย่างสนุกทั้งนักเตะและแฟนบอล

มีอีกหนึ่งสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ ของแฟนบอลสวาทแคทและวงการฟุตบอลไทยคือ ยอดจำนวนผู้ชมในสนามนัดนี้พุ่งสูงเป็นประวัติศาสตร์ถึง 34,659 คน สูงที่สุดในศึกโตโยต้าไทยพรีเมียร์ลีก เป็นที่จับตามองของสื่อจากหลายสำนักทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ยอดผู้ชมในสนามเฉลี่ยต่อนัดของสวาทแคทตอนนี้ ขยับขึ้นไปเป็น ‘อันดับ 1 ของอาเซียน’ ไปแล้ว สามารถเทียบได้กับหลายๆ ทีม ในลีกฟุตบอลชั้นนำโซนยุโรป อย่างเช่น พรีเมียร์ลีกอังกฤษ

แต่ก็ไม่วายมีเรื่องให้ฉุกคิด เมื่อมีรายงานกล่าวถึงการที่สโมสรมีการปล่อยให้ผู้ชมเข้าชมเกมมากกว่าความจุในสนาม? ข้อมูลที่สโมสรนครราชสีมา มาสด้า เอฟซี รายงานต่อไทยพรีเมียร์ลีก ในเรื่องความจุของรังเหย้า มีจำนวน 22,500 ที่นั่ง แต่ในเกมนัดล่าสุดนั้นมียอดผู้ชมกว่า 35,000 คน มีความกังวลว่าสนามเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ ทำไมถึงเปิดให้แฟนบอลเข้าชมเกมมากขนาดนั้น? สนามจะรับน้ำหนักไหวไหม? จะเกิดอันตรายกับแฟนบอลหรือเปล่า?

มามองในเรื่องหลักวิศวกรรม จากข้อมูลของตัวสนามนี้แต่เดิมที โครงการมีการออกแบบให้รองรับผู้ชมประมาณ 40,000 ที่นั่ง แต่เนื่องด้วยงบประมาณมีจำกัด การก่อสร้างแต่เดิมออกแบบไว้ให้มีโซนที่มีหลังคามี 2 ฝั่ง (โซน E ในปัจจุบันจะเป็นแบบเดียวกับโซน W) จึงถูกปรับลดขนาดลง และโครงสร้างออกแบบไว้ให้สามารถต่อเติมให้เป็นไปตามรูปแบบเดิมได้ภายหลัง

หากถามตรงๆ ว่า สนามความจุ 22,500 ที่นั่งนี้ จะถล่มไหม? เมื่อมีผู้ชมมากขนาดนั้น ตอบได้เลยว่าไม่ มั่นใจได้เลย ตัดความกังวลจุดนี้ทิ้งไป อ้างไปถึงการออกแบบตัวสนามกีฬาต้องได้มาตรฐานตามสภาวิศวกร (ไม่ใช่แค่สนามกีฬา การออกแบบทุกอย่าง ตึก โรงงาน อาคารต้องได้ตามมาตรฐานนี้ ถึงจะขออนุญาตก่อสร้างได้) มีข้อกำหนดของสภาวิศวกร กำหนดให้ “คลังสินค้า โรงกีฬา พิพิธภัณฑ์ อัฒจันทร์ โรงพิมพ์ โรงงานอุตสาหกรรม ห้องเก็บเอกสารและพัสดุ ต้องมีน้ำหนักการบรรทุกจร (LIVE LOAD) ขั้นต่ำ 500 กก./ตรม.” อาจจะงงว่า “น้ำหนักบรรทุกจร (LIVE LOAD)” คืออะไร ซึ่งก็คือ น้ำหนักบรรทุกที่เป็นลักษณะมีการเคลื่อนย้าย เคลื่อนที่ หรือมีการเปลี่ยนแปลงขนาดน้ำหนักอยู่ตลอดเวลา หรืออยู่ชั่วคราว เช่น รถยนต์ หรือผู้คน เป็นต้น

ถามต่อไปอีกว่า ในสนามน้ำหนักบรรทุกจรขั้นต่ำ 500 กก./ตรม. จะไหวไหม ลองนึกภาพตามนะครับ พื้นที่ 1 ตรม. คือ กว้าง X ยาว ด้านละเมตร ในหนึ่งช่องนี้รับได้ 500 กก. สมมติให้มีคนหนัก 60 กก. มาแย่งกันยืนเบียดกันในช่อง 8 คน เท่ากับ 480 กก. ถึงจะมีความเสี่ยง ซึ่งเป็นไปได้น้อยมากๆ จะทำยังไงให้คนหนัก 60 กก. ยืนในพื้นที่ 1 ตรม. ได้พร้อมกัน 8 คน ถ้าไม่ขี่คอกัน?

อีกตัวอย่างคือ ผู้ใหญ่หนึ่งคน บ่ากว้าง 60 ซม. ยืนเรียงกัน 2 คน ก็เป็น 1.2 เมตรแล้ว สมมติแต่ละคนลำตัวหนา 30 ซม. มายืนซ้อนหลัง 2 คนเมื่อกี้ แบบบ่าต่อบ่า อกชนอก หายใจรดต้นคอกัน อย่างมากก็ได้แค่ 6 คน เว้นแต่ขี่คอกัน? แล้วพื้นที่ในสนามส่วนใหญ่ก็ติดเก้าอี้ ซึ่งติดห่างกันด้วย 1 ตรม. ไม่น่าเกิน 2 – 2.5 ที่นั่ง เท่านั้น ก็เป็นไปตามที่หลายๆคนบอกไว้ โครงสร้างมีการออกแบบไว้รองรับการเพิ่มความจุให้เป็น 40,000 ที่นั่งได้ในอนาคต ตรงนี้ก็หายสงสัยกันไป

สิ่งที่สโมสรควรจะมาพิจารณาวางแผนคือ ถ้าคนจำนวนมากขนาดนี้ หากเกิดเหตุสุดวิสัย จะระบายคนออกนอกสนามได้อย่างไร การออกแบบสนามก็มีรองรับไว้แล้วด้วยบันไดขนาดใหญ่ ประตูมีหลายช่อง แถมยังมีประตูขนาดที่ขับรถบรรทุกตรงเข้ามาในสนามได้อีกตั้ง 4 ช่อง ใหญ่ๆ ควรเตรียมพร้อมไว้ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตของแฟนบอล หากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เพราะสวาทแคทในอนาคต จำนวนแฟนบอลจะไม่หยุดอยู่แค่นี้แน่ๆ ถ้ามีการจัดการที่ดี … หรือว่าเรามาอยู่ในจุดๆ นึง ที่ควรจะมีสนามใหม่?

ขอบคุณข้อมูลจากสภาวิศวกร http://www.coe.or.th/e_engineers/knc_detail.php?id=54

1629


Comments are closed.

Check Also

รำบวงสรวงย่าโม วันมงคล 23 มีนาคม 2567

สปิริตแรงกล้ารำบวงสรวงย่าโมท่ามกลางสายฝน วันมงคล 23 มีน … …