สนข. เปิดเวทีสาธารณะสรุปผลการศึกษารถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน เส้นกรุงเทพฯ – หนองคาย เชื่อมการขนส่งจากจีนสุดคุ้ม สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว – ขนส่งสินค้าปีละหมื่นกว่าล้านบาท

11944612_10200816432850199_225995206_n

วันนี้ (1 กันยายน  2558) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมสุรนารี เอ โรงแรมดุสิตปริ๊นเซส โคราช จังหวัดนครราชสีมา นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน (Standard Gauge) เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ภายใต้โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ ฯ – หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษาในพื้นที่  และภาคประชาชน ภายในจังหวัดนครราชสีมา รวมประมาณ 400 คน โดยการสัมมนาครั้งนี้ได้นำเสนอสรุปผลการศึกษาโครงการ เกี่ยวกับแนวเส้นทาง รูปแบบการเดินรถ ผลประโยชน์จากโครงการ และผลกระทบสิ่งแวดล้อม

koratstartup_shutterstock_221750068 (1)

แนวเส้นทางโครงการมีจุดเริ่มต้นบริเวณสถานีรถไฟนครราชสีมา สิ้นสุดโครงการบริเวณสถานีรถไฟหนองคาย ผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย มีระยะทางประมาณ 355 กิโลเมตร โดยแนวเส้นทางจะเป็นทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร วางขนานไปกับแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ขนาด 1 เมตร ก่อสร้างเป็นทางอิสระอยู่ภายในเขตทางรถไฟปัจจุบันให้มากที่สุด เพื่อลดผลกระทบจากการเวนคืนที่ดิน

koratstartup_06

รูปแบบการเดินรถขนาดทางมาตรฐานมี 2 ทางเลือก ประกอบด้วย 1. การเดินรถร่วมกัน ระหว่างรถไฟโดยสารกับขบวนรถสินค้า(Mixed Traffic) ออกแบบให้รองรับรถไฟความเร็วสูงสุด 200 กม/ชม. และขบวนรถสินค้าความเร็วสูงสุด 120 กม./ ชม. ใช้ระยะเวลาเดินทางจากกรุงเทพ ฯ – หนองคาย รวม 4 ชั่วโมง มูลค่าโครงการประมาณ 239,285 ล้านบาท  และ 2.การเดินเฉพาะรถไฟความเร็วสูง ออกแบบให้รองรับรถไฟความเร็วสูงสุด
300 กม.ต่อ ชม. โดยไม่มีขบวนรถสินค้าวิ่งร่วมด้วย ใช้ระยะเวลาเดินทางจากกรุงเทพ ฯ – หนองคาย รวม 3  ชั่วโมง มูลค่าโครงการประมาณ235,325 ล้านบาท  โดยในการออกแบบได้พิจารณาข้อจำกัดต่าง ๆ ให้สามารถรองรับได้ทั้ง 2 แบบ ได้แก่ รัศมีโค้งราบ ความลาดชัน  กำหนดมีสถานี 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย โดยเป็นสถานียกระดับทั้งหมด

koratstartup_150614-Train-Station-R3-BY
ภาพจำลองสถานีบัวใหญ่
koratstartup_150615-Train-Station-R2-BP
ภาพจำลองสถานีบ้านไผ่
koratstartup_150614-Train-Station-KK
ภาพจำลองสถานีขอนแก่น
koratstartup_150616-Train-Station-R2-UD-Revised
ภาพจำลองสถานีอุดรธานี
koratstartup_150618-Train-Station-R2-NK
ภาพจำลองสถานีหนองคาย

กรณีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและการเงิน เมื่อรวมผลประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจในเชิงกว้างแล้ว กรณีพัฒนาโครงการแบบเดินรถร่วมกัน และมีโครงข่ายทางรถไฟจากจีนมาเชื่อมโยง จะมีความคุ้มค่าและมีความเหมาะสมทางเศรษฐกิจมากที่สุด  ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายในการใช้รถจากการเดินทางและการขนส่งสินค้า เฉลี่ยปีละ 12,800 ล้านบาท ลดเวลาเดินทางเฉลี่ยปีละ 9,900 ล้านบาท ลดอุบัติเหตุในภาคการขนส่งเฉลี่ยปีละ 200 ล้านบาท ลดมลพิษจากภาคการขนส่งเฉลี่ยปีละ 10,900 ล้านบาท สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและค่าโดยสารเฉลี่ยปีละ 8,300 ล้านบาท และสร้างรายได้จากการขนส่งสินค้า เฉลี่ยปีละ 2,200 ล้านบาท

koratstartup_Over_road_02

สำหรับการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการได้กำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญๆ ไว้ เช่นด้านเสียงและความสั่นสะเทือน จะเลือกใช้เข็มเจาะที่เหมาะสม และติดตั้งกำแพงกั้นเสียงในบริเวณพื้นที่อ่อนไหว ด้านการแบ่งแยกชุมชน จะจัดให้มีทางลอดและสะพานลอยคนข้ามในบริเวณที่มีชุมชนหนาแน่น และด้านการโยกย้ายเวนคืน จะมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ถูกเวนคืนทราบขั้นตอนการเวนคืน โดยดำเนินการจ่ายค่าทดแทนทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 เป็นต้น

koratstartup_ServiceRoad_03

ในตอนท้ายการสัมมนาเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้ซักถามถึงข้อสงสัยและเสนอข้อคิดเห็นต่างๆ ประเด็นคำถามในส่วนใหญ่ สนับสนุนและอยากให้มีโครงการนี้เกิดขึ้นโดยเร็ว แต่ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับรูปแบบการก่อสร้างที่อาจจะกระทบกับวิถีชีวิตของชุมชนสองฝั่งทางรถไฟ เพราะโครงมีการมีการติดรั้วกั้นเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ

koratstartup_1423_RNSR_Under_A_05

ทั้งนี้คณะที่ปรึกษาการออกแบบได้เก็บข้อคำถามและข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อนำไปปรับปรุงให้มีความเหมาะสมต่อไป ในส่วนระยะเวลาดำเนินโครงการ เมื่อกระบวนการศึกษา ออกแบบ และจัดทำรายงานต่างๆ ครบถ้วน
ตามขั้นตอนของกฎหมาย และคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ประกวดราคาหาผู้รับเหมาเพื่อดำเนินการก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 5 ปี ในการดำเนินงาน ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายให้สามารถเปิดให้บริการได้ในปี พ.ศ. 2565

 

ขอขอบคุณรูปภาพประกอบจากคณะทำงานฯ และสนข.


Comments are closed.

Check Also

รำบวงสรวงย่าโม วันมงคล 23 มีนาคม 2567

สปิริตแรงกล้ารำบวงสรวงย่าโมท่ามกลางสายฝน วันมงคล 23 มีน … …