ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธุรกิจ(อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกรายงานวิจัย“จับตาเวียดนาม คู่ค้าหรือคู่แข่งไทยในทศวรรษหน้า” ใน Outlook ไตรมาส 2/2560 โดยมองว่าภายในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เวียดนามกลายเป็นตัวเลือกที่โดดเด่นกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ทั้งในด้านการลงทุนจากต่างชาติและการส่งออก การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเวียดนามและเศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 6% ต่อปี นับเป็นโอกาสในฐานะ “คู่ค้า” และตลาดส่งออกแห่งใหม่ของไทยในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ในอนาคตเมื่อศักยภาพของเวียดนามและกระแสอุตสาหกรรมครั้งใหม่มาถึง ไทยอาจจะเสียตำแหน่งประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเป้าหมายของนักลงทุนจากทั่วโลกให้แก่เวียดนามจากการแย่งชิงเงินลงทุนจากต่างชาติและการแข่งขันในอุตสาหกรรมบางสาขาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ธุรกิจไทยจะปรับตัวอย่างไร เมื่อเวียดนามก้าวขึ้นมาเป็น “คู่แข่ง” อย่างเต็มตัวในอนาคต

ทั่วโลกต่างให้ความสนใจในการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามโดยใช้ไทยเป็นเกณฑ์มาตรฐาน (benchmark) จากรายงาน Global Competitiveness Index 2016 ของ Deloitte กล่าวว่า ระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ผลิตภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของเวียดนามเพิ่มขึ้นกว่า 49% ซึ่งเป็นอัตราเติบโตที่เร็วกว่าไทย และภายในปี 2020 เวียดนามจะไต่ขึ้นไปอยู่อันดับที่ 12 เอาชนะไทยที่อยู่ในอันดับที่ 14 จากทั้งหมด 40 ประเทศ นอกจากนี้ จากรายงาน PricewaterhouseCooper (PwC)ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปี 2050 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จะมีมูลค่าสูงกว่าของไทยที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับคงที่และในภาพรวม ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจจากหลายสำนักทั่วโลกมีความเห็นตรงกันว่าเวียดนามจะสามารถเทียบเคียงและก้าวข้ามขีดความสามารถของไทยได้ในอนาคต

อีไอซีมองว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามจะสร้างโอกาสการเป็น “คู่ค้า” กับไทยในช่วง 10 ปีต่อจากนี้ แต่เมื่อขีดความสามารถในการแข่งขันของเวียดนามได้ถูกพัฒนาอย่างเต็มที่ หลังจากปี 2025-2030 เวียดนามจะก้าวขึ้นเป็น “คู่แข่ง” คนสำคัญ และไทยต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น

เวียดนาม

เวียดนาม1
Credit : EIC ธนาคารไทยพาณิชย์

เวียดนามในฐานะคู่ค้า

ทั้งนี้ ในปัจจุบันเวียดนามเริ่มทวีความสำคัญต่อภาคธุรกิจไทยในฐานะ “คู่ค้า” จากการค้าและการลงทุนของชนชั้นกลางที่ขยายตัวและการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมเมือง

การส่งออกจากไทยไปยังเวียดนามเติบโตเฉลี่ย 13.3% ต่อปีในระหว่างปี 2012-2016 โดยมีรถยนต์ ส่วนประกอบรถยนต์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นสินค้าส่งออกหลัก

ในด้านการลงทุนมูลค่าการลงทุนทางตรงจากไทย (Thai Direct Investment: TDI) ไปเวียดนามเติบโตเฉลี่ย 15.2% ต่อปี และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในภาคการผลิตเครื่องจักรและเครื่องมือมากที่สุด รองลงมา คือ การผลิตอาหารและอุปกรณ์ไฟฟ้า แต่ด้วยข้อได้เปรียบของเวียดนาม รวมถึงวิสัยทัศน์ผู้นำประเทศที่มุ่งมั่นในการนำเวียดนามไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยี การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน และสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทำให้เวียดนามมีศักยภาพเป็นคู่แข่งของไทยในอนาคต ทั้งนี้ ไทยและเวียดนามต่างมุ่งพัฒนาประเทศในจุดหมายเดียวกัน ทำให้เกิดอุตสาหกรรมที่ทับซ้อนและก่อให้เกิดการแข่งขันทางเศรษฐกิจโดยตรง

ดังนั้น การศึกษาวิจัยเพื่อศึกษาพัฒนาข้อด้อยและใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบของไทย จึงเป็นทางออกสำหรับธุรกิจไทยและเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้อีกต่อไป

เวียดนาม2
Credit : EIC ธนาคารไทยพาณิชย์

เวียดนามในฐานะคู่ค้า: คำถามคือ ในระยะข้างหน้า ไทยควรหาโอกาสจากจุดไหน?

อีไอซีมองว่า ในระยะสั้นหรือช่วงเวลา 10 ปีข้างหน้านี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมทำให้เวียดนามเป็นคู่ค้าและตลาดที่สำคัญของไทยด้วย รายได้ต่อครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นทุกปี ประกอบกับหนี้ครัวเรือนที่ยังไม่สูงราว 20% ของจีดีพี ในปี 2015 ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

ประชากรชนชั้นกลางของเวียดนามที่กำลังขยายตัวและมีกำลังซื้อสูงขึ้นเรื่อยๆ มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าไฮเทคเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการความต้องการบริโภคสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงความนิยมในสินค้าไทย เพื่อผลิตสินค้าในไทยและส่งออกไปยังเวียดนามหรือการเข้าไปลงทุนในประเทศโดยตรง ดังนั้น จากแนวโน้มความต้องการสินค้าและกำลังซื้อในเวียดนาม รวมถึงแนวโน้มเชิงต่อยอดสายการผลิต อีไอซีมองว่าอุตสาหกรรมไทยที่มีโอกาส เติบโตในฐานะคู่ค้ามี 4 อุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน อาหารและเครื่องดื่ม ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และขนส่งโลจิสติกส์

สินค้าส่งออกไทยที่มีโอกาสเติบโตคือสินค้าที่ยังขาดความหลากหลายในตลาดเวียดนาม เช่น หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ในส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านจำพวกตู้เย็น เครื่องซักผ้า และเครื่องปรับอากาศ เป็นสินค้าที่มีโอกาสเพิ่มมูลค่าส่งออกไปยังเวียดนามเนื่องจากมีส่วนแบ่งในตลาดเวียดนามสูง และยังมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นทุกปีในช่วงที่ผ่านมา โดยจากข้อมูลของ Euromonitor International ประมาณการว่าจำนวนครัวเรือนในเวียดนามที่ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านจะเพิ่มมากขึ้นทุกปี และมูลค่าการขายอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านของเวียดนามจะเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 5% ระหว่าง ปี 2016-2021 โดยคาดว่าในปี 2021 กว่าครึ่งหนึ่งของครัวเรือนในเวียดนามจะมีเครื่องปรับอากาศกับเครื่องซักผ้าอัตโนมัติ จากที่ปัจจุบันอัตราการครอบครองเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านดังกล่าวคิดเป็นเพียง 30% ของครัวเรือนเวียดนาม

สำหรับสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะอาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมีแนวโน้มจะเป็นที่ต้องการของตลาดเวียดนามในอนาคต ด้วยกระแสนิยมจากโลกภายนอกที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคชาวเวียดนามมากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในเมืองที่เร่งรีบ ต้องการความสะดวกสบาย และหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น

แม้ในปัจจุบันผู้บริโภคชาวเวียดนามยังคงนิยมอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุง (ready-to-cook) เช่น เนื้อไก่แช่แข็งมากกว่าอาหารแบบสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน (ready-to-eat) แต่จากข้อมูลของ Euromonitor International คาดการณ์ว่าระหว่างปี 2016-2021 ปริมาณการขายอาหารสำเร็จรูป (packaged food) และอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานจะเติบโตเฉลี่ยต่อปี 7.1% และ 9% ตามลำดับ

ในขณะที่สินค้าประเภทเครื่องดื่มแบบไม่ผสมแอลกอฮอล์มีแนวโน้มจะเติบโตเฉลี่ยต่อปี 7% ทั้งนี้ มีธุรกิจไทยหลายรายที่เข้าไปเป็นผู้กระจายสินค้าในเวียดนาม เช่น เครือสหพัฒน์, Change and Challenge และ Berli Jucker (BJC) รวมถึง Central Group ที่เข้าไปซื้อกิจการ Big C Vietnam ซึ่งปัจจุบันเป็นแบรนด์ผู้นำของห้างสรรพสินค้าแบบ hypermarket ในเวียดนาม จึงนับเป็นโอกาสแก่ผู้ประกอบธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มไทยให้มีช่องทางการขายที่สะดวกขึ้นหากมีความร่วมมือกับผู้กระจายสินค้าไทยในเวียดนาม

การเข้าสู่สังคมเมืองอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างฮานอยและนครโฮจิมินห์ ทำให้เกิดกระแสความต้องการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การเข้าใจผู้บริโภคชาวเวียดนามซึ่งจะเป็นฐานลูกค้าสำคัญในหมวดผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น เนื่องจากผู้บริโภคชาวเวียดนามมีอุปนิสัยเฉพาะอยู่บ้างและอาจเป็นส่วนหนึ่งในปัจจัยกำหนดความสำเร็จของธุรกิจได้

เวียดนาม14
รู้ใจผู้บริโภคชาวเวียดนาม / Credit : EIC ธนาคารไทยพาณิชย์

ในแง่ของการลงทุนเพื่อเข้าไปในห่วงโซ่มูลค่า (value chain) ของเวียดนาม ธุรกิจที่มีโอกาสคือธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และบริการด้านโลจิสติกส์ ธุรกิจไทยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะวงจรรวม (Electronics Integrated Circuits: IC) และวงจรพิมพ์ (Printed Circuits: PC) ควรเข้าไปลงทุนโดยตรงในเวียดนามเพราะจะได้สิทธิประโยชน์การลงทุน โดยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสนับสนุน (supporting industry) ที่รัฐบาลเวียดนามกำลังส่งเสริมให้มีการผลิตในประเทศมากขึ้น เพราะแม้ว่าเวียดนามจะเป็นหนึ่งในฐานการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะการผลิตโทรศัพท์มือถือของ Samsung Electronics แต่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามในปัจจุบันยังมีมูลค่าเพิ่มค่อนข้างต่ำ เนื่องจากชิ้นส่วนที่ใช้ประกอบนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนมาก และมีสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิต ภายในประเทศ (localization) ค่อนข้างน้อย จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปลงทุนผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อป้อนให้กับโรงงานประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนามต่อไป

นอกจากนี้ บริษัทไทยที่ให้บริการด้านโลจิสติกส์ทั้งทางบกและทางเรือยังสามารถหาโอกาสในการร่วมทำธุรกิจกับบริษัทไทยที่นำเข้า-ส่งออกสินค้าไปยังเวียดนาม โดยขยายเส้นทางการขนส่งทางบกจากไทยไปยังเวียดนามผ่านทางลาว หรือเส้นทางขนส่งทางเรือจากท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังไปยังท่าเรือน้ำลึกของเวียดนามตามเมืองใหญ่ต่างๆ เช่น ฮานอย และนครโฮจิมินห์ โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปลงทุนด้านโลจิสติกส์ในเวียดนามแล้วเช่นกัน ตัวอย่างเช่น SCG Trading และ Unithai Group และ CLMV 2014 Co.,Ltd. ทั้งนี้ ผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ไทยอาจพิจารณาหาพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นบริษัทเวียดนามเพื่ออำนวยความสะดวกในพิธีการศุลกากร รวมถึงขั้นตอนการขนส่งผ่านแดน

Credit : EIC ธนาคารไทยพาณิชย์
Credit : EIC ธนาคารไทยพาณิชย์

เวียดนามในฐานะคู่แข่ง: มีโอกาสแซงในระยะยาวและจุดไหนที่ไทยควรกังวล?

ในระยะยาว หลังจากปี 2025-2030 เวียดนามมีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งกับไทยในหลายด้าน ทั้งในแง่ของการแย่งเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ และการแย่งส่วนแบ่งในตลาดส่งออกไปจากไทย

โดยข้อได้เปรียบสำคัญของเวียดนาม คือ การพัฒนาด้านเทคโนโลยี รัฐบาลเวียดนามได้ยกอุตสาหกรรม เทคโนโลยี ยานยนต์ เทคโนโลยีชีวภาพ (biotechnology) และธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นกลไกสำาคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งจะเห็นได้ว่ากลุ่มธุรกิจดังกล่าวทับซ้อนกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย

ในแผนไทยแลนด์ 4.0 หากประเทศไทยยังคงผลิตสินค้าและบริการด้วยรูปแบบและ วิทยาการเดิมๆ เวียดนามจะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งกับไทยได้ไม่ยากนัก และหากเวียดนามสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อผลิตสินค้าเพื่อรองรับความต้องการในประเทศได้เองแล้ว การพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากไทยก็จะไม่จำเป็นอีกต่อไป ซึ่งนั่นจะส่งผลกระทบโดยตรงกับภาคส่งออกของไทยที่เคยได้รับโอกาสในการขยายตลาดส่งออกมายังเวียดนามอย่างสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน

อีไอซีมองว่าอุตสาหกรรมของเวียดนามที่จะก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งกับไทยในอนาคต ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมยานยนต์ นอกจากนี้ยังมีประเด็นการย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามเพื่อใช้ประโยชน์จากตำแหน่งที่ตั้งของเวียดนามอีกด้วย

สำหรับอุตสาหกรรมการเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพคือตัวแปรสำคัญที่จะทำให้เวียดนามก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งกับไทยในฐานะที่เป็นประเทศที่มีพื้นฐานดั้งเดิมมาจากภาคการเกษตร ทั้งไทยและเวียดนามต่างวางเทคโนโลยีชีวภาพให้เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับภาคเกษตรกรรมของประเทศ โดยที่ผ่านมาเวียดนามได้สร้างผลงานวิจัยทางเทคโนโลยีชีวภาพที่ประสบความสำเร็จแล้วมากมาย เช่น การพัฒนาข้าวคุณภาพดีเพื่อแข่งขันในตลาดโลก อย่างข้าวพันธุ์หน่างญาง (Nang Nhang), พันธุ์หน่างเฮือง (Nang Huong) และพันธุ์ต๊ามซวาม (Tam Xoan), การพัฒนาข้าวสายพันธุ์ที่ทนทานในช่วงฤดูแล้ง, ข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง กุ้งกุลาดำที่ปราศจากโรคเพื่อเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์สำหรับกุ้งส่งออก ไป จนถึงสายพันธุ์กล้วยไม้ที่มีราคา รวมทั้งปุ๋ยกับยาไล่แมลงชีวภาพ รัฐบาลเวียดนามส่งเสริมเทคโนโลยีชีวภาพอย่างจริงจังโดยมีการก่อตั้งศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพ (Ho Chi Minh Biotechnology Centre)  และนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคด้านเกษตรกรรมที่นครโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh City’s Agricultural High-Tech Park)

นอกจากนี้ เวียดนามยังเริ่มดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับการแก้ไขโรคในลำไยและเพิ่มสารแคโรทีนอยด์ในแก้วมังกร ซึ่งหากเวียดนามประสบผลสำเร็จสินค้าเกษตรส่งออกไทย โดยเฉพาะข้าว ลำไย และแก้วมังกร ก็จะได้รับผลกระทบในแง่การถูกแย่งส่วนแบ่งในตลาดโลกได้ ดังนั้น อุตสาหกรรมเกษตรไทย จึงควรเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างเอกลักษณ์แก่ผลิตภัณฑ์เกษตรไทย อย่างเช่น โมเดลข้าวไรซ์เบอร์รี่ ที่ประสบความสำเร็จในการยกระดับการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดข้าวโลกด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าว โดยผสมสายพันธุ์ข้าวเจ้าหอมนิลกับข้าวหอมมะลิ 105 จนได้ออกมาเป็นข้าวไรซ์เบอร์รี่ซึ่งมีสีม่วงเป็นเอกลักษณ์ กลิ่นหอม รสชาติดี และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันที่หันมาใส่ใจอาหารเพื่อสุขภาพกันมากขึ้นและยังสามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มต่อยอดแปรรูปไปได้อีก

ในอนาคต อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะเผชิญกับปริมาณการส่งออกในภูมิภาคที่ชะลอตัวลง เมื่อเวียดนามสามารถเป็นฐานการผลิตรถยนต์เพื่อรองรับความต้องการในประเทศเองได้ แม้ในปัจจุบันกำลังการผลิตรถยนต์ในเวียดนามยังเป็นรองจากไทย ทั้งยังมีผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศค่อนข้างน้อย แต่รัฐบาลเวียดนามกำลังสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก ซึ่งภาครัฐวางแผนจะลดภาษีฟุ่มเฟือยของรถขนาดเล็กที่มีความจุเครื่องยนต์น้อยกว่า 1.5 ลิตร จาก 45% เป็น 35% ในปี 2018 ทำให้บริษัทรถหลายราย เช่น Mazda และ Hyundai รวมถึง Mercedes Benz เตรียมขยายโรงงานและไลน์การผลิต รถยนต์ขนาดเล็กในเวียดนามมากขึ้นในอนาคต

Credit : EIC ธนาคารไทยพาณิชย์
Credit : EIC ธนาคารไทยพาณิชย์

หากรถยนต์สัญชาติเกาหลีใต้ที่เป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดเวียดนามสามารถพัฒนาจนเป็นที่นิยมในตลาดโลกแทนรถยนต์ญี่ปุ่นได้ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยซึ่งเป็นฐานการผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นเพื่อส่งออก ก็จะได้รับผลกระทบ ทั้งจากการสูญเสียส่วนแบ่งในตลาดโลก และความต้องการในตลาดที่น้อยลง ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจึงควรพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาขั้นตอนการผลิตมากขึ้น และการขยายฐานลูกค้าให้มีความหลากหลายเพื่อลดการพึ่งพิงค่ายรถยนต์หลักเพียงไม่กี่แห่ง รวมทั้งการคิดค้นผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แบบใหม่ๆ เพื่อตอบรับกับความต้องการของตลาดรถยนต์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งนั่นรวมถึงรถยนต์แห่งอนาคตอย่าง Electric Vehicle (EV) หรือรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าแทนน้ำมันซึ่งสอดคล้องกับกระแสอนุรักษ์ธรรมชาติ

ในอนาคต กระแสการเปลี่ยนแปลงไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อตลาดชิ้นส่วนยานยนต์และความต้องการชิ้นส่วนรถยนต์ซึ่งจะมีแนวโน้มลดลงได้ ดังนั้น หากความต้องการของตลาดโลกหันมานิยมรถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น ในขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังไม่พร้อมที่จะเป็นฐานการผลิต ผู้ประกอบการอาจเลือกไปลงทุนในเวียดนามซึ่งเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นทุนเดิมแทนก็เป็นได้

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่ยังมีความชำนาญแต่การผลิตรถยนต์หรือชิ้นส่วนแบบเดิมที่อาจล้าสมัย เช่น ท่อไอเสียและถังน้ำมัน ก็อาจต้องเจอกับปัญหาจากความต้องการในตลาดโลกที่ลดน้อยลง เมื่อตลาดเกิดใหม่ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญเริ่มหันไปหารถยนต์แบบใหม่ๆ เช่นเดียวกับที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

ขณะที่บริษัทต่างชาติในไทยอาจพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนามซึ่งมีตำแหน่งที่ตั้งเหมาะแก่การเป็นฐานการผลิต และกระจายสินค้าทั้งทางบกและทางเรือ ในทางบก เวียดนามมีข้อได้เปรียบจากพรมแดนติดกับลาว กัมพูชา โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นตลาดนำเข้าสินค้าและแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญของภูมิภาค สำหรับทางเรือ เวียดนามมีพื้นที่ด้านตะวันออกเป็นแนวชายฝั่งทะเล ตั้งแต่เหนือสุดจรดใต้สุดของประเทศ และมีเมืองท่าสำคัญถึง 3 แห่งทั้งทางตอนเหนือ ตอนกลาง และตอนใต้ของประเทศ ซึ่งการส่งสินค้าทางเรือจากเวียดนามมีระยะทางสั้นและรวดเร็วกว่าเส้นทางจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียซึ่งมีภูมิประเทศเป็นเกาะ

ดังนั้น ถ้าหากรัฐบาลเวียดนามสามารถพัฒนาโครงสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ถนน ทางด่วน รวมถึงภาคโลจิสติกส์ของประเทศ ได้สำเร็จตามเป้าหมายในปี 2025-2030 เวียดนามจะสามารถก้าวขึ้นเป็นคู่แข่ง “ศูนย์กลางโลจิสติกส์แห่งอาเซียน” แทนที่ไทยได้ เช่นกัน เพื่อรับมือกับการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเวียดนาม สิ่งที่ภาคธุรกิจไทยสามารถทำได้ คือ การพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีของตัวเอง และมองหาโอกาสเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

อีไอซีมองว่า ประเภทของผู้ประกอบการมีผลในการดำเนินกลยุทธ์ทั้งในเชิงคู่ค้าระยะสั้นและการรับมือสำหรับการเป็นคู่แข่งระยะยาวกับเวียดนาม โดยสามารถแบ่งประเภทผู้ประกอบการออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

1) บริษัทขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในด้านการเงินและเครือข่ายธุรกิจ ควรมองหาหุ้นส่วนทางธุรกิจต่างชาติที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี เพื่อร่วมลงทุนร่วมกันทำวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อนำเอาเทคโนโลยีใหม่มาปรับใช้ในการผลิตสินค้าไทย โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่มและความหลากหลายแก่ผลิตภัณฑ์ โดยมีธุรกิจเป้าหมาย คือ สินค้าเทคโนโลยีและเกษตรชีวภาพ สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยมีความเชี่ยวชาญเป็นทุนเดิม

2) ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งมีกำลังทรัพย์น้อยกว่า ควรหลีกเลี่ยงการแข่งขันโดยตรงในธุรกิจทับซ้อนกับเวียดนาม แต่ควรดึงข้อได้เปรียบจากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมของไทยมาใช้เพื่อสร้างสินค้าที่มีความโดดเด่นแตกต่างจาก สินค้าประเทศอื่น โดยกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพคือ สินค้า OTOP ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง มีความสร้างสรรค์หรือสินค้าที่บ่งบอกความเป็นไทย

3) ธุรกิจสตาร์ทอัพ ไทยยังมีทางเลือกในการลงทุนและเริ่มต้นธุรกิจในเวียดนาม โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ดิจิทัล และ e-Commerce เนื่องจากเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่รัฐบาลเวียดนามกำลังให้การสนับสนุน และในอนาคตการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีใหม่ๆ ของเวียดนามจะพร้อมรองรับการทำธุรกิจเหล่านี้ ทั้งยังช่วยก่อให้เกิดนวัตกรรมในสินค้าและบริการ รวมถึงช่วยส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในสายการผลิตและการบริการเพื่อช่วยตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในเวียดนาม

เวียดนาม9
Credit : EIC ธนาคารไทยพาณิชย์

เวียดนามกับเบื้องหลังความสำเร็จ: ข้อได้เปรียบอยู่ตรงไหนเมื่อเทียบกับไทย

ความน่ากลัวของคู่แข่งอย่างเวียดนาม คือ ข้อได้เปรียบทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไทยเคยมีเมื่อกว่า 30 ปีก่อนและส่วนหนึ่งมาจากลักษณะเฉพาะของเวียดนามเอง ในภาพรวมนั้น นักลงทุนชาวต่างชาติได้หลั่งไหลเข้าไปสร้างฐานการผลิตสินค้าและบริการในเวียดนามจากมนต์เสน่ห์สำคัญ 5 ประการ อันประกอบด้วย 1) แรงงานมีจำนวนมากและมีคุณภาพ 2) ค่าจ้างต่ำและมีผลิตภาพสูง 3) สภาพเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการทำาธุรกิจ 4) อุปสงค์ภายในประเทศและชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และ 5) ความหลากหลายของตลาดส่งออกและสิทธิประโยชน์ทางภาษี เหล่านี้ทำให้เวียดนามมีความได้เปรียบไทยอย่างเห็นได้ชัด รายละเอียด ดังนี้

1) โครงสร้างประชากรวัยทำงานและทรัพยากรมนุษย์ ในขณะที่ไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เวียดนามซึ่งมีโครงสร้างประชากรขนาดใหญ่และอายุน้อยมีความได้เปรียบอย่างชัดเจนในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จำนวนประชากรเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงหลังสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน และส่งผลให้ในปี 2016 เวียดนามมีประชากรรวมทั้งสิ้น 95 ล้านคน นับเป็นกลุ่มวัยทำงานกว่า 67 ล้านคน หรือราว 70% ของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยประชากรเวียดนามมีอายุเฉลี่ยเพียง 30 ปีเท่านั้น ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบด้านโครงสร้างประชากรที่สำคัญของเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม เวียดนามจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวในอีก 15 ปีข้างหน้า ด้วยอัตราการเพิ่มจำนวนประชากรที่เริ่มชะลอตัวเฉลี่ยราว 1% ในปี 2016 รัฐบาลเวียดนามจึงเริ่มมุ่งเน้นไปที่การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์เพื่อเพิ่มคุณภาพและความสามารถในการผลิตมากขึ้น

ย้อนไปในปี 1986 รัฐบาลเริ่มการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจังเพื่อให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจและสังคมใหม่หรือที่เรียกว่า โด่ยเหมย โดยมุ่งเน้นพัฒนาหลักสูตรด้านภาษาคณิตศาสตร์ ความรู้ทางวิชาการ ความรู้เฉพาะทาง ซึ่งความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษาของเวียดนามจะเห็นได้จากผลการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ Program for International Student Assessment (PISA) ในปี 2015 ด้านความเข้าใจการอ่าน ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ และความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เวียดนามได้อันดับที่ 33 และ 22 และ 8 ตามลำดับ ซึ่งเทียบเท่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ และแซงหน้าประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในทุกด้านอีกด้วย

ในภาคธุรกิจ นักลงทุนชาวต่างชาติให้ความเห็นตรงกันว่า แรงงานในเวียดนามมีความรู้ ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจเทคโนโลยีและเพิ่มความน่าลงทุนภายในประเทศ บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google Inc. ยังให้ความสนใจพัฒนาศักยภาพแรงงานด้านเทคโนโลยีและวิทยาการคอมพิวเตอร์ร่วมกับรัฐบาลเวียดนาม และกล่าวว่าเวียดนามจะกลายเป็นตลาดสำคัญของ Google Inc. ในอีกไม่ช้า

ปัจจัยความสำเร็จด้านทรัพยากรมนุษย์อีกประการ คือ การที่แรงงานเวียดนามมีการพัฒนาฝีมือต่อเนื่องและสอดรับกับรูปแบบเทคโนโลยีการผลิตในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะการประกอบชิ้นส่วนแผงวงจรสำหรับแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน สินค้าเวียดนามนั้นจะประสบความสำเร็จในแง่การส่งออกไม่ได้เลยถ้าแรงงานไม่มีความสามารถในการซึมซับทักษะ (absorptive capacity) ในการผลิตเพื่อการส่งออก แรงงานเวียดนามทั้งในภาคการผลิตและบริการมีการเรียนรู้เทคโนโลยีและพัฒนาศักยภาพตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ ทำให้สินค้าเวียดนามเริ่มเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก รวมถึงได้แรงหนุนจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่นำวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าสู่ประเทศ ทำให้เกิดการพัฒนาและกระจายทักษะสู่สายการผลิตแรงงานในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง

Credit : EIC ธนาคารไทยพาณิชย์
Credit : EIC ธนาคารไทยพาณิชย์

2) ความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ราคาถูก เวียดนามในปัจจุบันยังคงได้รับประโยชน์จากแรงงานที่มีจำนวนมากและค่าแรงที่ยังค่อนข้างต่ำ คล้ายกับจีนเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ซึ่งเม็ดเงินการลงทุนจากต่างชาติจำนวนมหาศาลไหลเข้าสู่จีนเพื่อสร้างฐานการผลิตในภูมิภาคเอเชียในเวลานั้น แต่จากปี 2010 ค่าแรงของจีนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มใช้กลยุทธ์ “China plus one” (จีนบวกหนึ่ง) เพื่อมองหาตลาดและฐานการผลิตใหม่ในภูมิภาคเอเชียที่ยังคงมีความได้เปรียบในด้านต้นทุนและลดความเสี่ยงในการพึ่งพิงเศรษฐกิจจีน เวียดนามจึงเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของนักลงทุน โดยนักลงทุนมองว่าแรงงานชาวเวียดนามมีค่าแรงต่ำกว่าในจีนและมีประสิทธิภาพการผลิตแข่งขันได้เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน นอกจากนี้ ผลิตภาพของแรงงานเวียดนามยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2013 ในขณะที่แรงงานในจีนและไทยมีทิศทางตรงกันข้าม

ตัวอย่างเช่น Intel Corporation เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำแรกๆ ที่ตัดสินใจใช้กลยุทธ์ China plus one และ สร้างฐานการผลิตวงจรรวม (IC) ที่ใหญ่ที่สุดแห่งใหม่ในเวียดนามซึ่งมีมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จนกระทั่งปัจจุบันมีบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่หลายบริษัทเข้ามาลงทุนในเวียดนามเป็นมูลค่ามหาศาล รวมถึง Samsung Electronics และ LG Corporation ซึ่งได้มีการย้ายฐานการผลิตไปจากไทยเพื่อตั้งโรงงานการผลิตใหม่ในเวียดนาม และ Canon Inc. ซึ่งเข้าไปตั้งฐานการผลิตอย่างเป็นปึกแผ่นในเวียดนาม

3) สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่สนับสนุนต่อการลงทุนและการดำเนินธุรกิจ การปกครองโดยระบบสังคมนิยมทำให้รัฐบาลเวียดนามมีเสถียรภาพทางการเมืองสูง ส่งผลให้นโยบายการพัฒนาประเทศมีความต่อเนื่อง การสร้างสภาพเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการลงทุนและการดำเนินธุรกิจได้ถูกดำเนินการอย่างมุ่งมั่นเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายการเป็น “ศูนย์กลางโลจิสติกส์แห่งภูมิภาค” และ “โรงงานของเอเชีย” รวมทั้ง “ผู้นำด้านเทคโนโลยีของเอเชีย”

มาตรการต่างๆ ของรัฐบาลรวมถึงแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในทุกด้าน การสร้างเขตเศรษฐกิจ และการให้สิทธิประโยชน์การลงทุนจำนวนมาก ซึ่งหากเปรียบเทียบกับไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การเมืองและสภาพทางเศรษฐกิจของเวียดนามเอื้ออำนวยต่อการลงทุนและดำเนินธุรกิจค่อนข้างมาก เนื่องจากมีความนิ่งและความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบาย รวมถึงการผลักดันการปฏิรูปทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็มีความคืบหน้ารวดเร็วกว่าเมื่อเทียบกับไทย เวียดนามยังมีพรมแดนติดกับจีน ลาว และกัมพูชา และมีชายฝั่งทอดยาวจากเหนือจรดใต้ของประเทศ ทำให้มีความเหมาะสมสำหรับการเป็นฐานการผลิตและกระจายสินค้า เพราะสามารถขนส่งสินค้าทางบกมายังจีนและอาเซียน ทั้งยังสามารถส่งออกสินค้าทางเรือได้สะดวกกว่าฟิลิปปินส์หรืออินโดนีเซีย

ในขณะนี้เวียดนามกำลังพิจารณาแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และแผนพัฒนาท่าเรือน้ำลึก เพื่อสนับสนุนโลจิสติกส์ โดยมีโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เปิดให้นักลงทุนต่างชาติร่วมทุนแล้ว เช่น การก่อสร้างถนนหลวง สะพาน และทางรถไฟ การขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในนครโฮจิมินห์และฮานอย การก่อสร้างและพัฒนาเขตอุตสาหกรรม และการยกระดับท่าเรือน้ำลึก

เวียดนาม10
Credit : EIC ธนาคารไทยพาณิชย์

แม้ในเชิงภูมิศาสตร์ ไทยยังคงความได้เปรียบทั้งในแง่ของคุณภาพและความครอบคลุมสำหรับเครือข่ายการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค แต่เวียดนามเองก็มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่องเช่นกัน การก่อสร้างเขตเศรษฐกิจ (Economic Zone) นับเป็นโครงการที่สำคัญต่อการเป็น “โรงงานของเอเชีย” ของเวียดนามเพื่อรองรับการจัดตั้งโรงงานขนาดใหญ่ของบริษัทต่างชาติจากหลากหลายธุรกิจ

ปัจจุบันเวียดนามมีเขตเศรษฐกิจพิเศษจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วประเทศ แบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรม (Industrial Zone: IZ) เขตอุตสาหกรรมส่งออก (Export Processing Zone: EPZ) และเขตนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค (High Tech Zone: HTZ) ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 3 แห่งในฮานอย ดานัง นครโฮจิมินห์ และยังมีแผนจะสร้างเพิ่ม ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมไฮเทคเป็นส่วนที่รัฐบาลเวียดนามกำลังให้ความสำาคัญมากขึ้น เพื่อผลักดันประเทศให้เป็น “ศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี (Silicon Valley)” แห่งใหม่ของเอเชีย ซึ่งโครงการเหล่านี้ตอกย้ำถึงความพร้อมของเศรษฐกิจเวียดนามที่จะขยายความน่าลงทุนทั้งในด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีในอนาคต

ในรายละเอียดนั้น เขตเศรษฐกิจแต่ละแห่งจะให้สิทธิประโยชน์แตกต่างกันไปตามอุตสาหกรรมและพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งมีส่วนที่คล้ายและต่างไปจากไทย โดยประเภทธุรกิจหลักที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในเวียดนามคือ อุตสาหกรรม เทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน และอุตสาหกรรมเกษตร ส่วนพื้นที่ที่รัฐบาลสนับสนุนการลงทุน คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ และเขตพื้นที่ด้อยพัฒนา ทั้งนี้ หากการลงทุนจากต่างชาติเข้าข่ายเงื่อนไขที่รัฐบาลให้การสนับสนุน ทั้ง Board of Investment (BOI) ของไทยและรัฐบาล ท้องถิ่นเวียดนามมีอำนาจให้สิทธิประโยชน์การลงทุนเพิ่มเติมได้ (preferential treatment) แต่ประเด็นสำคัญที่ต่างไปจากไทยคือ นายกรัฐมนตรีของเวียดนามสามารถอนุมัติสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในกรณีพิเศษได้ เช่น การลงทุน “ขนาดใหญ่” ใน หมวดอิเล็กทรอนิกส์ ของ Samsung Electronics และการลงทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) ในหมวดอาหาร ที่จะ “เป็นประโยชน์ต่อประเทศ” สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมพิเศษดังกล่าวดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้เป็นจำนวนมาก

4) การขยายตัวของตลาดภายในประเทศและการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องของเวียดนามส่งผลให้รายได้ต่อหัวและมาตรฐานการครองชีพของชาวเวียดนามสูงขึ้นเรื่อยๆ จากรายงานของ Boston Consulting Group (BCG) คาดการณ์ว่าภายในปี 2020 จำนวน ผู้มีรายได้ปานกลางของเวียดนามจะเพิ่มจำนวนขึ้น 2 เท่า เป็น 33 ล้านคน (ราว 2 ใน 3 ของชนชั้นกลางในประเทศไทย) และรายได้เฉลี่ยต่อหัวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 1,400 เป็น 3,400 ดอลลาร์สหรัฐ คนเหล่านี้เป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของแบรนด์สินค้าชั้นนำจากต่างประเทศ เนื่องจากมีกำลังซื้อและความต้องการที่หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าไฮเทค และสินค้าฟุ่มเฟือย บริษัทอย่าง CP Group และ Unilever Vietnam International Company Limited และ Samsung Electronics รวมถึง Google Inc. จึงเลือกลงทุนในเวียดนามเพื่อรองรับความต้องการของตลาดภายในที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งสำหรับบริษัททั่วโลกที่กำลังพิจารณาการลงทุนเพื่อขยายหรือหาตลาดผู้บริโภคใหม่ การเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง และความเป็นเมืองนี้เองที่เป็นข้อได้เปรียบสำคัญข้อหนึ่งของเวียดนามเมื่อเทียบกับไทยในการดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนจากต่างชาติในตอนนี้

5) สินค้าส่งออกสำคัญหลากหลายและได้สิทธิพิเศษทางการค้า นับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา สินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนามมีความหลายหลากและซับซ้อนมากขึ้นโดยเฉพาะสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์ เหตุผลหลักมาจากการเข้ามาทำธุรกิจของบริษัทต่างชาติอย่าง Samsung Electronics รวมถึงการลงทุนจากบริษัทสัญชาติเกาหลีใต้อื่นๆ อีกทั้งสินค้าอุตสาหกรรมอย่างเครื่องนุ่งห่มและรองเท้ายังคงมีบทบาทด้วยแรงงานในประเทศที่มีจำนวนมาก ส่งผลให้สินค้าอุตสาหกรรมมีสัดส่วนราว 70% ของการส่งออกทั้งหมดของเวียดนามในปัจจุบัน

ภาคการส่งออกนับเป็นสัดส่วนสำคัญของเศรษฐกิจเวียดนาม และในช่วงวิกฤติการณ์ subprime ของสหรัฐฯ ช่วงปี 2008-2009 และวิกฤติการณ์การเงินของสหภาพยุโรป (EU) ช่วงปี 2010-2012 การส่งออกของเวียดนามได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับไทย

นอกจากนี้ โครงสร้างสินค้าส่งออกของเวียดนามเป็นที่ต้องการของตลาดโลกและสิทธิพิเศษทางการค้าต่างๆ เป็นเบื้องหลังความสำเร็จของภาคการส่งออกของเวียดนาม สินค้าส่งออกสำคัญหมวดอิเล็กทรอนิกส์ เช่น สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต เป็นสินค้าที่ตลาดโลกมีความต้องการสูงและมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เวียดนามจึงมีการส่งออกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่ไทยยังคงเป็นฐานการผลิตและส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เทคโนโลยีเก่าอย่าง เช่น คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) นอกจากนี้ การเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) การทำข้อตกลงการค้าเสรี หรือ Free Trade Agreement (FTA) กับนานาประเทศถึง 14 ฉบับ และการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ Generalized System of Preferences (GSP) จากประเทศที่พัฒนาแล้วถึง 11 ประเทศ เหล่านี้สนับสนุนภาคการส่งออกของเวียดนามและทำให้ตลาดส่งออกมีความหลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่เน้นส่งออกไปยังประเทศที่ปกครองด้วยระบบสังคมนิยมด้วยกัน ปัจจุบันตลาดส่งออกที่สำคัญของเวียดนามคือ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป อาเซียน ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

เวียดนาม3
Credit : EIC ธนาคารไทยพาณิชย์

นัยต่อภาคธุรกิจไทยปรับกลยุทธ์อย่างไรในฐานะคู่ค้าและคู่แข่ง

จุดแบ่งความเป็นคู่ค้าคู่แข่งของไทยและเวียดนามจะชัดเจนในอีก 1 ทศวรรษ เมื่อโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมไฮเทค และการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคของเวียดนามแล้วเสร็จในปี 2025-2030 ซึ่งไทยต้องเตรียมรับมือโดยมี EEC เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ การแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับเวียดนามจะทวีความรุนแรงขึ้นในอุตสาหกรรมยุคหน้า แม้กระทั่งในปัจจุบันมีบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกได้ย้ายฐานการผลิตสินค้าไฮเทคจากไทยไปยังเวียดนามแล้ว ด้วยข้อได้เปรียบต่างๆ ของเวียดนามรวมถึงตำแหน่งที่ตั้งของประเทศ

หากในอนาคตเวียดนามสามารถพัฒนานิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ระบบสาธารณูปโภค ระบบขนส่ง และสิ่งอำนวยความสะดวกทางธุรกิจอื่นๆ ได้ตามเป้าหมาย โครงการเหล่านี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพการแข่งขันของเวียดนาม เงินทุนต่างชาติจะไหลเข้าสู่เวียดนามในอุตสาหกรรมยุคหน้าเพื่อสร้างฐานการผลิตแห่งใหม่ในภูมิภาคเอเชีย เพราะเล็งเห็นความสำคัญในการต่อยอดการพัฒนาด้านเทคโนโลยี รัฐบาลเวียดนามจึงได้ให้การสนับสนุนในทุกด้านเพื่อเร่งความเร็วและยกระดับคุณภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมสนับสนุนในประเทศ

แต่ที่ผ่านมา ไทยกลับมีความเชี่ยวชาญเฉพาะเทคโนโลยีที่เริ่มเก่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไม่ค่อยต่อเนื่อง ทำให้ไทยขาดปัจจัยสนับสนุนในการสร้างนวัตกรรมภายในประเทศเอง ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลไทยจึงได้ริเริ่มโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ซึ่งกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมที่เชื่อมโยงกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเบื้องต้นครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อผลักดัน ประเทศไทยตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งรัฐบาลได้กำาหนดแผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระยะเวลา 5 ปี (2017-2021) มูลค่ากว่า 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่ง EEC นี้เองจะเป็นเครื่องจักรใหม่ในการผลักดันประเทศไปข้างหน้าและรองรับการแข่งขันกับเวียดนามในทุกๆ ด้าน รวมถึง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และ พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในด้านการค้าการลงทุน และเทคโนโลยี นวัตกรรม ตลอดจนประสิทธิภาพของแรงงานไทยในอนาคต

อีไอซีมองว่า ธุรกิจไทยต้องปรับกลยุทธ์ด้วยการเพิ่มศักยภาพของสินค้าไทยในการแข่งขันในตลาดโลก พร้อมยกระดับปัจจัยสนับสนุนทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อรองรับกระแสการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่ แรงงานไทยจะมีจำนวนสูงสุด ในปี 2018 และจะลดลงเรื่อยๆ ทำให้ไทยไม่สามารถเอาชนะเวียดนามในเรื่องจำนวนแรงงานและค่าแรงได้ ดังนั้น ไทยควรเร่งเพิ่มผลิตภาพแรงงานและพัฒนาแรงงานให้มีทักษะ พร้อมทั้งเร่งดำเนินโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ทางด่วน ท่าเรือน้ำลึก และสนามบินนานาชาติ สิ่งอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษและศูนย์วิจัยเทคโนโลยี และเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศ เพื่อป้องกันการโดนแย่งความเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาค เตรียมความพร้อมรองรับเทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ และเป็นเป้าหมายในการลงทุนที่มีคุณภาพ ทดแทนข้อได้เปรียบด้านแรงงานและต้นทุน

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ธุรกิจไทยจะต้องสามารถผลิตสินค้าและบริการที่มีนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าและตอบโจทย์ความต้องการของโลก โดยเน้นความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งหากนำเอาข้อได้เปรียบเหลานี้มาร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จะทำให้สินค้าและบริการมีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์ความเป็นไทยมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันโดยตรงกับเวียดนามได้

หากจะยกตัวอย่างจากอุตสาหกรรมการเกษตรไรซ์เบอร์รี่ นับเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความสำเร็จในการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของไทย และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอีกหลายชนิดสามารถพัฒนาต่อยอดให้มีมูลค่าเพิ่มได้ เช่น ผลิตภัณฑ์ความงามที่ทำจากธรรมชาติและอาหารเสริมที่ทำจากวัตถุดิบธรรมชาติของไทย เป็นต้น ในด้านอุตสาหกรรมการผลิตที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ เช่น การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เป็นโครงเหล็ก ธุรกิจไทยต้องพัฒนาศักยภาพให้เทียบเท่ามาตรฐานโลก และขยายฐานลูกค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาบริษัทใดบริษัทหนึ่ง และเพิ่มความมั่นคงให้แก่ธุรกิจ อีกทั้งยังต้องมองหาหุ้นส่วนต่างชาติที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีใหม่เพื่อเรียนรู้และปรับใช้ในการพัฒนานวัตกรรมของตนเอง ทั้งนี้ การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องใช้การลงทุนด้านเศรษฐกิจและเวลารวมทั้งแรงสนับสนุนจากทุกฝ่าย หากไทยต้องการจะหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางและภาคธุรกิจต้องการที่จะประสบความสำเร็จในตลาดโลก และมีความได้เปรียบคู่แข่งคนสำคัญอย่างเวียดนามในอนาคต การพัฒนาจะต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้และอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง

 

thaipublica
แหล่งข้อมูล : Thaiblublica


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …