ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2559 ประเทศไทยจะเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (ปี 2560-2564) ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงท้ายๆ ของการจัดทำแผนแล้ว โดยวันที่ 22 ก.ค.นี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเป็นรอบสุดท้ายก่อนเสนอแผนฉบับใหม่ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 จะแตกต่างจากแผนพัฒนาฯ ทั้ง 11 ฉบับที่ผ่านมา ตรงที่แผนนี้จะเกาะเกี่ยวอยู่กับแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ที่ถูกจัดทำเป็นครั้งแรกในรัฐบาลทหารภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงมอบหมายให้ สศช. ร่วมกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ร่างยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน คือ 1.การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 2.ความมั่นคง 3.การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 4.การสร้างความสามารถในการแข่งขัน 5.การสร้างโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียม และ 6.การพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพของคน

 

ในขณะที่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 จะมียุทธศาสตร์ 10 ด้าน โดยยุทธศาสตร์ 6 ด้าน จะคาบเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ และอีก 4 ด้านจะเป็นยุทธศาสตร์เฉพาะตามแผนพัฒนา คือ 1.ยุทธศาสตร์การต่างประเทศประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาค 2.การพัฒนาภูมิภาคเมืองและพื้นที่พิเศษ 3.วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีวิจัยและนวัตกรรม และ 4.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ หรือที่เรียกว่ายุทธศาสตร์ “6-6-4” ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สู่ยุทธศาสตร์แผนฯ 12 “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้ถูกบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญที่กำลังจะมีการลงประชามติในเดือนหน้านี้ ซึ่งจะทำให้ไม่ว่ารัฐบาลใดเข้ามาก็ต้องเดินตามยุทธศาสตร์นี้ โดยทั้ง 10 ยุทธศาสตร์ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 หลายส่วนยังคงมีความต่อเนื่องกับแผนฉบับที่ 11 คือ

 

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทุนมนุษย์ จะให้ความสำคัญกับการดำเนินการเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากในปี 2564 สัดส่วนผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 19.8% ของประชากรทั้งประเทศ และจะเพิ่มเป็น 30% ในอนาคต ดังนั้นนอกจากการเตรียมการรับสังคมสูงวัยแล้ว ยังต้องมีการพัฒนาคนตั้งแต่ในระบบการศึกษาไปจนถึงการพัฒนาฝีมือแรงงาน

 

Credit : britishcouncil

 

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งแม้ว่าในช่วงการพัฒนาที่ผ่านมาไทยจะลดความยากจนลงได้อย่างต่อเนื่อง และมีเป้าหมายที่ต้องลดให้ได้เหลือต่ำกว่า 7% ของประชากรทั้งหมด แต่ความเหลื่อมล้ำไม่ได้ลดต่ำลงเลย “เมื่อพิจารณาการกระจายรายได้ พบว่ากลุ่มที่รวยสุด 10% มีสัดส่วนรายได้ 35% ของรายได้รวมปี 2558 ขณะที่กลุ่มประชากร 40% ที่มีรายได้ต่ำสุด มีสัดส่วนรายได้เพียงร้อยละ 14.3% ของรายได้รวมเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีความเหลื่อมล้ำทางด้านสินทรัพย์และการถือครองที่ดิน และปัญหากระจายบริการภาครัฐที่มีคุณภาพที่ยังไม่ทั่วถึง”

 

Credit : wachalife
Credit : wachalife

 

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำมาหลายปี จำเป็นต้องฟื้นฟูให้กลับมาขยายตัวได้สูงขึ้น โดยการเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ สร้างบรรยากาศการลงทุน และปฏิรูปเศรษฐกิจในหลายด้าน เพื่อวางพื้นฐานให้ประเทศไทยเป็นประเทศรายได้สูงได้ภายในปี 2570 ขณะที่กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีเป้าหมายเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5% โดยมีรายได้ต่อหัวเป็น 8,200 เหรียญสหรัฐ ในปี 2564 จากที่มีรายได้อยู่ที่ 6,000 เหรียญสหรัฐ

 

Credit : sbrchina
Credit : sbrchina

 

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยแผนฯ 12 จะเร่งขับเคลื่อนทั้งการรักษา ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 40% ของประเทศ

 

Credit : OKNation
Credit : OKNation

 

ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ความมั่นคง ถือเป็นครั้งแรกที่ สศช. นำงานด้านความมั่นคงเข้ามาอยู่ในแผนพัฒนาฯ เนื่องจากงานด้านความมั่นคงมีความสำคัญเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและมีความท้าทายใหม่ๆ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม เช่น กลุ่มก่อการร้ายรุนแรงสุดขั้ว จึงต้องให้ความสำคัญต่อการฟื้นฟูพื้นฐานความมั่นคงในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงทางไซเบอร์ ระบบสื่อสาร พัฒนาเสริมสร้างศักยภาพการป้องกันเพื่อรับมือภัยคุกคามต่างๆ

 

Credit : QUARTZ
Credit : QUARTZ

 

ยุทธศาสตร์ที่ 6 : การบริหารจัดการภาครัฐ การป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ และธรรมาภิบาลในสังคมไทย โดยตั้งเป้าลดปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบของประเทศ เพื่อเพิ่มคะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (CPI) ให้อยู่สูงกว่า 50% จากปัจจุบัน 38% ผ่านการพัฒนาหลายด้าน เช่น ปรับปรุงกระบวนการงบประมาณ และสร้างกลไกในการติดตามตรวจสอบการเงินการคลังภาครัฐ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

Credit : THE WORLD POST
Credit : THE WORLD POST

 

ยุทธศาสตร์ที่ 7 : การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ โดยตั้งเป้าว่าในปี 2564 จะลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทยเหลือ 12% ของจีดีพี เพิ่มการขนส่งทางรางเป็น 4% จาก 2% ทางน้ำเป็น 19% จาก 15% ขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ได้ 85% ของหมู่บ้านทั่วประเทศ เป็นต้น

 

Credit : EABER
Credit : EABER

 

ยุทธศาสตร์ที่ 8 : วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม มีเป้าหมายสำคัญ คือ เพิ่มสัดส่วนค่าใช้จ่ายการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเป็น 1.5% ของจีดีพี จากปัจจุบัน 0.48% และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และด้านเทคโนโลยี จัดโดย IMD ให้อยู่ในลำดับ 1 ใน 30

 

Credit : SWU
Credit : SWU

 

ยุทธศาสตร์ที่ 9 : การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคของประเทศไทย

ประกอบด้วย การพัฒนาภาคเหนือให้เป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง พัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้หลุดพ้นจากความยากจนก้าวสู่เป้าหมาย “อีสานพึ่งตนเอง” พัฒนาภาคกลางให้เป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำ และพัฒนาภาคใต้เป็นฐานการสร้างรายได้ที่หลากหลาย ขณะที่พื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก จะเป็นศูนย์อุตสาหกรรมทันสมัย ใช้เทคโนโลยีสูง

 

Credit : Wikipedia
Credit : Wikipedia

 

ยุทธศาสตร์ที่ 10 : การต่างประเทศ ประเทศเพื่อนบ้าน และภูมิภาค โดยใช้ประโยชน์จากจุดเด่นของทำเลที่ตั้งของประเทศเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญของแนวระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย

 

Credit : BMAM Epxpo Asia 2016
Credit : BMAM Epxpo Asia 2016

 

แม้บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญจะทำให้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 มีผลทำให้รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในการนำแผนไปสู่การปฏิบัติ แต่ความท้าทายที่สุดประการหนึ่งก็คือจะทำอย่างไรให้แผนพัฒนาฯฉบับนี้ เป็นแผนที่ได้รับการตอบรับและพร้อมร่วมขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ใช่เป็นแผนที่กำหนดและขับเคลื่อนโดยภาครัฐเพียงเท่านั้น

 

แหล่งข้อมูล : อนัญญา มูลเพ็ญ (โพสต์ทูเดย์)

 


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …