เมื่อเวลา 05.00 น. วันที่ 23 มิ.ย.  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา มีชาวบ้าน นักท่องเที่ยว นักวิ่ง และนักปั่น จำนวนมาก พากันเข้าร่วมงานครบรอบ 1 ปี ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ที่ จ.เชียงราย จัดขึ้น ภายใต้ชื่อ “วิ่ง-ปั่น ครบรอบ 1 ปีเหตุการณ์ถ้ำหลวง รวมใจเป็นหนึ่งเดียว” เพื่อหารายได้มาเป็นกองทุนในปรับปรุงพัฒนาถ้ำหลวง และจัดซื้ออุปกรณ์สาธารณภัยให้กับ อ.แม่สาย และเป็นการรำลึกเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสต์ การกู้ภัยโลก ช่วยเหลือเยาวชนพร้อมโค้ช 13 ชีวิต ทีมหมูป่าอะคาเดมี ที่ติดอยู่ภายในถ้ำเป็นเวลา 18 วัน ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.-10 ก.ค. 2561

นำโดย  พล.ท.ฉลองชัย ชัยยะคำ แม่ทัพภาคที่ 3 ได้เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม นายกมลไชย คชชา ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 เครือข่ายสุขภาพ อ.แม่สาย เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ฝ่ายปกครอง มณฑลทหารบกที่ 37 ฉก.ม.2 กองกำลังผาเมือง หน่วยเรือรักษความสงบเรียงบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) เขตเชียงราย หอการค้า จ.เชียงราย ฯลฯ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปเดินทางไปร่วมกิจกรรมรำลึกนับ 10,000 คน

นอกจากนี้ยังมีบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือ มาร่วมกิจกรรมดังกล่าวด้วย เช่น นายณงรวค์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา นางวลีพร กุนัน ภรรยานาวาตรี สมานกุนัน พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผบ.หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือกองเรือยุทธการ นายเวรินธ์ อันเวิสท์ นักสำรวจถ้ำหลวง พ.ท.นพ.ภาคย์ โลหารชุน และทีมหมูป่าอะคาเดมี่

สำหรับกิจกรรม วิ่ง-ปั่น ดังกล่าว ไม่มีการแข่งขันแต่จะมีถ้วยรางวัลประเภทรางวัลต่างๆ ให้ผู้เขาร่วมแทน เช่น ทีมที่สมัครและมาร่วมกันในงานจำนวนมากที่สุด หรือทีมผู้ที่เดินทางมาไกลที่สุด ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากที่สุด ฯลฯ และทุกคนจะได้รับเหรียญที่ระลึกออก แบบโดย อ.ทรงเดช ทองทิพย์ จากสมาคมขัวศิลปะ ทำให้มีผู้ที่แต่งกายด้วยชุดแปลกตาหรือเดินทางมาจากที่ไกลๆ ไปร่วมงานกันอย่างคักคัก

โดยก่อนเริ่มกิจกรรมทุกคนจะไปกราบไหว้เจ้าแม่นางนอนบริเวณหน้าถ้ำ และอนุสาวรีย์จ่าแซมที่ที่ตั้งอยู่หน้าศาลาอนุสรณ์สถานที่ที่ภายในบรรจุภาพวาดโดยศิลปินชาวเชียงรายลงทุนสร้างโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงรายด้วย

จากนั้นช่วงสายนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นประธานในการปล่อยตัวนักปั่นจักรยานระยะทาง 54 กิโลเมตร และ 20 กิโลเมตรตามลำดับ โดยใช้เส้นทางปั่นออกจากถ้ำหลวงมุ่งหน้าขึ้นไปทางถนนพหลโยธินและขึ้นสู่ทิศเหนือไปยังหน้าด่านพรมแดนไทย-เมียนมา ตรงสะพานมิตรภาพข้ามลำน้ำสายไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 และวกกลับไปยังหมู่บ้านห้วยไคร้ ต.ห้วยไคร้ อ.แม่สาย และปั่นกลับย้อนกลับไปยังบ้านจ้อง-ขุนน้ำนองนอน และเข้าสู่ถ้ำหลวงตามลำดับ ทั้งนี้เส้นทางผ่านของการออกกำลังกายดังกล่าวกำหนดให้ผ่านจุดประวัติศาสตร์เหตุการณ์สำคัญๆ ในปฏิบัติการช่วยเหลือ เช่น จุดสูบน้ำบริเวณปากถ้ำ หนองน้ำพุ แหล่งพักแรมของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครฝ่ายต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ วัดและชุมชนบ้านจ้องที่เป็นจุดพักแหล่งใหญ่ จุดจอดเฮลิคอปเตอร์เพื่อติดตามค้นหาและนำทีมหมูป่าทั้ง 15 คนส่งโรงพยาบาล สระน้ำมรกตภายในขุนน้ำนางนอน เป็นต้น

พล.ท.ฉลองชัย กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวแสดงถึงความเสียสละและความสามัคคีของผู้คนอย่างแท้จริง ซึ่งสิ่งนี้คือการสร้างความมั่นคงให้กับคนในชาติและเมื่อครบรอบ 1 ปีแล้วทุกคนได้กลับมาพบเจอกันอีกครั้งหนึ่งจึงเป็นเรื่องที่น่าประทับใจ จึงเห็นว่าน่าจะมีกิจกรรมในลักษณะนี้เป็นประจำทุกปีโดยปี 2563 ก็น่าจะจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป

นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่าความรู้สึกเหมือนเหตุการณ์พึ่งผ่านพ้นไปเพียงวันเดียวและผู้คนที่เคยทำงานร่วมกันอย่างหนักตลอดระยะเวลา 18 วันของเหตุการณ์ได้กลับมาพบกัน โดยตลอดระยะเวลาดังกล่าวพบกับเหตุการณ์ต่างๆ โดยวันที่เลวร้ายที่สุดคือช่วงเวลา 5 วันที่เกิดเหตุการณ์น้ำในถ้ำมีปริมาณมากที่ไล่พวกเราที่กำลังตามหาเด็กๆ ไปถึงตรงสามแยกในถ้ำแล้วให้หนีกระเจิงออกมานอกถ้ำ ทำให้อุปกรณ์ภายในถูกน้ำท่วมหมดจึงต้องระมกำลังและจัดหาอุปกรณ์ทั้งไฟฟ้า สายไฟ ท่อน้ำ ฯลฯ กันใหม่และอีก 7 วันต่อมาสถานการณ์จึงดีขึ้นในที่สุด ตนจึงเห็นว่าควรจะจัดกิจกรรมรำลึกนี้เป็นประจำทุกปีเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์แห่งควาสามัคคีและเสียสละดังกล่าวรวมทั้งทำให้ทั่วโลกได้ทราบว่าถ้าคนไทยสามัคคีกันไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดๆ เราก็สามารถผ่านพ้นไปได้เป็นที่ประจักษ์

 


แหล่งข้อมูล : ข่าวสด


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …