นับเป็นครั้งที่สองของขุนพลเศรษฐกิจ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ควงขุนคลังบุกหัวลำโพง เกาะติดงานระบบรางใต้ปีก “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” มีศิษย์เอก “อานนท์ เหลืองบริบูรณ์” นั่งกุมบังเหียน

ถึงเวลานี้องค์กรม้าเหล็กที่มีภาระหนี้ร่วม 1 แสนล้านบาท จะยังไร้ผู้ว่าการตัวจริงมาบริหารงาน แต่ “อานนท์”ที่ข้ามห้วยจาก “กรมทางหลวง” แบบหัวเดียวกระเทียมลีบ ก็ฟันฝ่าการทำงานสไตล์ที่ได้ชื่อว่า “ดินแดนสนธยา” จนสามารถผลักดันโปรเจ็กต์ด่วนจี๋และร้อนฉ่า จนเป็นที่น่าพอใจ

ไม่ว่าไฮสปีดเทรนสายแรกของประเทศไทย “กรุงเทพฯ-นครราชสีมา” โปรเจ็กต์ความร่วมมือของสองมิตรประเทศ “ไทย-จีน” ที่สามารถเข็นจนเริ่มคิกออฟงานถมคันดินเฟสแรก “กลางดง-ปางอโศก” เป็นที่เรียบร้อย

ต่อด้วยปิดดีลเซ็นสัญญาบิ๊กลอตรถไฟทางคู่ 9 สัญญา สั่งลาปี 2560 ด้วยเม็ดเงิน 7 หมื่นล้านบาท

สเต็ปต่อจากนี้ “สมคิด” วางไทม์ไลน์ให้ ร.ฟ.ท.เร่งเครื่องรถไฟทางคู่ 14 เส้นทางที่เหลือให้เชื่อมแหล่งท่องเที่ยวและเพื่อนบ้าน สร้างรายได้

“วันนี้ที่มาพร้อมรัฐมนตรีคลังและรัฐมนตรีคมนาคม จะมาบอกกล่าวกับทางผู้บริหารรถไฟว่า ในอนาคตข้างหน้าการสร้างความเชื่อมโยงของการพัฒนา ไม่ว่าภายในประเทศ หรือประเทศเพื่อนบ้าน เราจะให้ความสำคัญกับรถไฟเป็นอย่างยิ่ง ให้รีบดูรีบปรับปรุงโครงการทั้งหลายที่คิดกันอยู่ให้สอดรับกับนโยบาย”

ขณะนี้อยู่ในช่วงการเตรียมงบประมาณของปี 2562 ขอเน้นการสร้างเส้นทางรถไฟสายหลัก ทั้งรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง รถไฟทางคู่สายใหม่ รถไฟเพื่อการท่องเที่ยวจากเมืองใหญ่ไปเมืองรอง สร้างการเข้าถึงท้องถิ่น และภูมิภาค

ส่วนแผนการฟื้นฟูองค์กร หลัก ๆ จะสร้างรายได้จากการบริหารทรัพย์สินที่มีประสิทธิภาพและการเดินรถที่พัฒนาประสิทธิภาพการบริการ ทั้งผู้โดยสาร และขนส่งสินค้า อาจจะมีตั้งบริษัทลูก 2-3 บริษัทมาบริหาร เช่น บริษัทบริหารทรัพย์สิน จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) นัดพิเศษ หลังทำรายละเอียดแผนงานเสร็จสมบูรณ์แล้ว

“ดูจากตัวเลข ได้คุยกับรัฐมนตรีคลัง โอกาสฟื้นฟูมีสูงมาก เพราะประสิทธิภาพรถไฟมี แต่ต้องดูแลใกล้ชิด ด้านกำลังคนรองรับโครงการใหม่ ๆ ก็สำคัญ ได้กำชับให้รัฐมนตรีช่วยไพรินทร์ดูแผนการปรับปรุงประสิทธิภาพและกำลังคน ให้รถไฟเป็นความหวังของประชาชนให้ได้ มาวันนี้ค่อนข้างพอใจ หวังอย่างยิ่งจะเห็นมิติใหม่ของการรถไฟฯแข็งแรงขึ้นหลังชะงักมาหลายปี”

ขณะที่การปรับขึ้นค่าโดยสาร ซึ่งอยู่ในแผนฟื้นฟูองค์กร ให้นโยบายไปว่า ก่อนขึ้นค่าโดยสาร ต้องพัฒนาบริการให้คนเห็นว่าบริการดี ทั้งหมดต้องไปด้วยกัน

ด้าน “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” เจ้ากระทรวงคมนาคม ขยายความเพิ่มว่า จะเร่งเดินหน้าลงทุนในโครงการหลัก ๆ เช่น รถไฟทางคู่เฟส 2 ปีนี้เดินหน้าต่อ 9 เส้นทาง ถือว่าเป็นการปฏิรูปรถไฟครั้งใหม่ในรอบ 120 ปี ตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเร่งด่วนปี 2561

ส่วนเส้นทางใหม่ให้สร้างเส้นทางส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวและการเดินทางของประชาชน ไม่ใช่สร้างเฉพาะจากกรุงเทพฯไปต่างจังหวัด อีกทั้งให้รถไฟทำการตลาดเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันการเดินทางท่องเที่ยวด้วยรถไฟกำลังได้รับความนิยม

โครงการสำคัญอื่น ๆ ที่กำลังเร่งรัด มีเส้นทางเชื่อมไปยังพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) โครงการเชื่อมระหว่างประเทศ มีสร้างรถไฟไทย-จีนต่อจากนครราชสีมา-หนองคายเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงลาว-จีนที่เวียงจันทน์ และรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่

ยังมีโครงข่ายเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก ที่ศึกษาแล้วมีบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ส่วนบ้านไผ่-นครสวรรค์-ตาก ยังศึกษาร่วมกับญี่ปุ่นและเกาหลี

“การปรับโครงสร้างองค์กร จะแยกบริษัทลูกออกมาในเรื่องการบริหารสินทรัพย์ในเดือน ก.ย. จะเห็นเป็นรูปธรรม เรื่องการตลาดธุรกิจต่อเนื่องจากการรถไฟฯ มีพื้นที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ให้เป็นแพ็กเกจ และเชื่อมโยงกับธุรกิจเอกชน จากแผนฟื้นฟูที่รถไฟทำ ตั้งเป้าปี”63 จะมีอีบิตด้าเป็นบวก”

ขณะที่ “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวเสริมว่า รถไฟฯตั้งเป้าปี 2563 จะมีกำไรเป็นบวก มาจากการบริหารทรัพย์สินจะมีรายได้เข้ามาก่อน ซึ่งมีสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีที่มีขนาดใหญ่เท่าสุวรรณภูมิ ถ้าบริหารได้ดี จะเป็นรายได้หลัก ส่วนการเดินรถจะมีกำไรหลังปี 2563 แต่ในระยะยาวรายได้จากการขนส่งสินค้าจะแซง เนื่องจากมีทางคู่ทำให้การขนส่งทางรางเพิ่มขึ้น 4 เท่า

 


แหล่งข้อมูล : ประชาชาติธุรกิจ


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …