จวบจนบัดนี้ ช่วงใกล้ถึงวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พสกนิกรยังแซ่ซ้องสาธุการถึงสายพระเนตรอันยาวไกล และน้ำพระทัยอันยิ่งใหญ่ ทรงพระราชทานงานในพระราชดำริไว้ให้ชาวโลกได้ประจักษ์อย่างกว้างขวาง

เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทย ตั้งแต่อดีตได้รับการขานถึงว่าเป็นเมืองอุดมสมบูรณ์ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” แต่ปัจจุบันสภาพภูมิประเทศถูกแปรเปลี่ยน จากปัจจัยภัยธรรมชาติและภัยจากน้ำมือมนุษย์ ไปแผ้วถางบุกทำลายผืนป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่และพืชใบเขียวปกคลุมดินอย่างต่อเนื่อง จนกลับกลายเป็นป่าเขาโล่งเตียนอุ้มน้ำไม่อยู่ ปล่อยให้ไหลหายไปตามธรรมชาติ ที่สำคัญยิ่งได้ส่งผลกระทบกับสภาพดินฟ้าอากาศ ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล เหมือนกับที่เคยเป็นมาในอดีต

หอเฉลิมพระเกียรติที่หัวหิน

จากหลักการและเหตุผล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงค้นคว้าวิธีการทำให้มวลเมฆรวมตัวกันตกลงมาเป็น “ฝนหลวง” ในพระราชดำริ แห่งแรกของโลก และได้รับการเทิดพระเกียรติถวายพระนามว่า “พระบิดาแห่งฝนหลวง” ตั้งแต่นั้นมา

 

นายสินชัย พึ่งตำบล ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวัน ออกเฉียงเหนือ ย้อนอดีตให้ฟังว่า เมื่อปี พ.ศ.2498 คราว พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนพสกนิกรในถิ่นทุรกันดาร 15 จังหวัด ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ครั้งนั้นทรงทราบถึงความเดือดร้อนของราษฎรที่ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆที่เกิดจากสภาพพื้นที่ถูกทำลายลงอย่างต่อเนื่อง

ประชาชนเข้าเยี่ยมชมศูนย์.

เริ่มจากยามเมื่อฝนตกหนักน้ำจะไหล่บ่าลงมาจากภูเขา เพราะไม่มีสิ่งใดดูดซับหรือหยุดน้ำไว้ได้ เข้าท่วมบ้านเรือนและเรือกสวนไร่นาได้รับความเสียหาย แต่พอช่วงหน้าแล้งฝนไม่ตก ต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำ เนื่องจากน้ำเปรียบเสมือนดั่งชีวิตจะขาดไปไม่ได้ พระองค์ทรงจุดประกายมาตรการการช่วยเหลือราษฎร จนเป็นที่มาของ โครงการฝนหลวง และ โครงการเขื่อนกักเก็บน้ำ ทั่วประเทศไทย

โดยเฉพาะปัญหาเกษตรกรประสบภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำทำการเกษตร ทรงค้นคว้าวิจัยงานด้านอุตุนิยมวิทยา และลักษณะภูมิประเทศของประเทศไทย รวมทั้งในภูมิภาคเขตร้อนที่ประสบกับอิทธิพลลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จากนั้นพระราชทานคำแนะนำให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรวิศวกรรม ในฐานะผู้รับสนองงานในขณะนั้น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปศึกษาความเป็นไปได้

เครื่องบินขณะโปรยฝนหลวง.

สำหรับสูตรทำฝนหลวงพอสังเขป เริ่มจากใช้สารดูดความชื้น เกลือทะเล และสารทำให้ความชื้นกลั่นตัวรวมกันเป็นเมฆน้ำแข็งแห้ง จนตกลงมาเป็นฝนหลวงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นแห่งแรกของโลก

ปฏิบัติการฝนหลวง “เขาหนองตะกู”.

จากความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ ในปี พ.ศ.2545 รัฐบาลจึงมีมติประกาศเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงเป็น “พระบิดาแห่งฝนหลวง”

ห้องทรงงาน.

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ในฐานะที่เป็นผืนแผ่นดินซึ่ง “ฝนหลวง” ในพระราชดำริ ตกลงมาเป็นครั้งแรกของโลก จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี เมื่อภาคส่วนต่างๆ ประกอบด้วย ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายฉันติ เดชโยธิน ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงหัวหิน ร.อ.อำนาจ บัวศรี ผบ.ร้อย ศูนย์ฝึกการรบพิเศษ ค่ายหนองตะกู (สนามบินหนองตะกู) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา, กองพันรบพิเศษ ศูนย์สงครามพิเศษ (พัน.รพศ./ศสพ.) บ้านวังกระทะ ต.หนองสาหร่าย เตรียมจัดนิทรรศการ โครงการ “ธ สถิตในดวงใจ นิรันดร์กาล ดังน้ำพระราชหฤทัย ฝนหลวง….แรกที่โคราช” ณ ศูนย์ การค้าเดอะมอลล์นครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมาระหว่าง วันที่ 12-27 ตุลาคมนี้

ฝูงบินศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง.

พสกนิกรชาวไทยทุกคนจะได้น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งฝนหลวง”.

 


แหล่งข้อมูล : ไทยรัฐออนไลน์


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …