ณ กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก คสช. กล่าวว่า พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมสำนักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำ และฝนตกหนักใน 1-2 สัปดาห์นี้ว่า หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีความห่วงใยต่อความเดือดร้อนของประชาชน สั่งการให้ทุกส่วนเร่งคลี่คลายสถานการณ์ โดยเฉพาะพื้นที่นอกคันกั้นน้ำที่เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมในพื้นที่การเกษตร อย่างไรก็ตาม จากการเร่งพร่องน้ำออกจากลำน้ำ กระจายน้ำเข้าทุ่งแก้มลิง รวมถึงแผนฉุกเฉินที่รัฐบาลมอบให้แต่ละจังหวัดเร่งดำเนินการในพื้นที่เสี่ยงที่ คาดว่าจะสามารถรองรับ และคลี่คลายสถานการณ์น้ำให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า จากการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ ปริมาณน้ำฝน รวมทั้งการระบายน้ำเพิ่มของเขื่อนอุบลรัตน์และน้ำทะเลหนุน ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ สถานการณ์น้ำในหลายพื้นที่อยู่ในระดับเฝ้าระวังและระดับวิกฤติ โดยเฉพาะบริเวณแม่น้ำที่มีปริมาณน้ำจากทางตอนบนไหลมาสมทบ หรือมีฝนตกในพื้นที่รับน้ำบริเวณลุ่มน้ำ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำในลำน้ำพองและลำน้ำชีส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง น้ำไหลหลากในพื้นที่ลุ่มต่ำริมน้ำ และน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำของแม่น้ำสายต่างๆ ในช่วงวันที่ 15-30 ต.ค.นี้

นายชยพลกล่าวว่า ปภ.ประสาน 34 จังหวัดริมแม่น้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย แม่น้ำลาว ได้แก่ เชียงราย แม่น้ำยม ได้แก่ แพร่ พิษณุโลก สุโขทัย และพิจิตร แม่น้ำปิง ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ตาก และกำแพงเพชร แม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ แม่น้ำป่าสัก ได้แก่ เพชรบูรณ์ และลพบุรี แม่น้ำสะแกกรัง ได้แก่ อุทัยธานี แม่น้ำท่าจีน ได้แก่ สุพรรณบุรี และนครปฐม แม่น้ำชี ได้แก่ หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร และกาฬสินธุ์ และแม่น้ำมูล ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี เตรียมพร้อมรับมือ ผลกระทบจากปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ควบคุมการเปิด-ปิดการระบายน้ำให้สอดคล้องกับระดับการขึ้น-ลงของน้ำทะเล พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ วิเคราะห์แนวโน้มและปัจจัยเสี่ยงจากปริมาณน้ำท่าและปริมาณน้ำฝน รวมถึงปริมาณน้ำไหลผ่าน

 

ในขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา เผยถึงสถานการณ์ล่าสุดว่า ขณะนี้พายุไต้ฝุ่น “ขนุน” (Khanun) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน หรือด้านตะวันออกของเกาะไหหลำ มีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำ ประเทศจีน และอ่าวตังเกี๋ย ในช่วงวันที่ 16-17 ต.ค. และจะอ่อนกำลังลง พายุโซนร้อน พายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำตามลำดับ จะส่งผลทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น เริ่มจากด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อนในวันที่ 16 ต.ค. ในช่วงวันที่ 17-19 ต.ค. ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระวังน้ำท่วมขังและลมกระโชกแรง

รายงานแบบจำลองภูมิอากาศ (วาฟ) สถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ระบุว่า พายุไต้ฝุ่นขนุน อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน จากนั้นก็จะสลายตัวไปอย่างรวดเร็ว แล้วหายไปเลยตั้งแต่ยังไม่ขึ้นฝั่งประเทศเวียดนาม ไม่มีผลกับประเทศไทยโดยตรง อย่างไรก็ตาม ทำให้ร่องมรสุมจากเดิมที่จะพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ก็จะเปลี่ยนไปพาดผ่านทางภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค. มรสุมจะเลื่อนกลับลงมาบริเวณภาคกลาง และภาคตะวันออกอีกครั้ง ส่งผลให้พื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะบริเวณเขตดุสิต ดินแดง จตุจักร บางพลัด หลักสี่ วังทองหลาง และปริมณฑล รวมทั้งภาคตะวันตกบางพื้นที่ คือ จ.กาญจนบุรี ราชบุรี มีฝนตกหนักถึงหนักมาก

 


แหล่งข้อมูล : ไทยรัฐออนไลน์


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …