เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมาผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่หมู่บ้านมะค่า หมู่ที่ 6 ต.บ้านโพธิ์ อ.เมือง จ.นครราชสีมา เพื่อดูอาชีพเก่าแก่ของชุมชนแห่งนี้ที่สืบทอดกันมายาวนานกว่า 100 ปี นั่นคืออาชีพช่างตีมีด ซึ่งในอดีตหมู่บ้านมะค่าแห่งนี้ ชาวบ้านทุกครัวเรือนจะทำอาชีพเป็นช่างตีมีดขายเป็นอาชีพหลัก แต่ด้วยสังคมที่เปลี่ยนไป ตัวเมืองโคราชเริ่มขยายมาถึงพื้นที่บ้านมะค่า ประกอบกับเยาวชนรุ่นใหม่หันไปสนใจอาชีพอื่นแทน ทำให้อาชีพช่างตีมีดเหลือน้อยลงทุกปี ถึงอย่างไรก็ตามยังคงมีชาวบ้านมะค่าส่วนหนึ่ง สืบทอดอาชีพเป็นช่างตีมีดอยู่ถึงปัจจุบัน

นายจำเนียร จันทร์โพธิ์

นายจำเนียร จันทร์โพธิ์ อายุ 67 ปี อดีตกำนัน ต.บ้านโพธิ์ เล่าว่า ในอดีตเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว ได้มีช่างตีมีดชาวลาวชื่อนายเพชร เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่ ต.บ้านโพธิ์ อ.เมืองนครราชสีมา และได้แต่งงานกับนางพิน ชาวไทย มีครอบครัวอยู่ในชุมชนเล็กๆ แถวนี้ โดยนายเพชรนั้นเป็นช่างตีมีดฝีมือดี ซึ่งได้ทำการตีมีดแบบโบราณ และวางขายในหมู่บ้าน ด้วยความที่มีดจากฝีมือช่างชาวลาว มีคุณภาพดี ทำให้มีการบอกปากต่อปาก จนทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วภาคอีสาน เป็นที่ต้องการของคนทั่วไปเดินทางมาขอซื้อเป็นจำนวนมาก จนชาวบ้านเรียกชื่อบริเวณนี้ว่าบ้านมาค้า เพราะชาวลาวมาทำการค้าขายจนมีเชื่อเสียงขจรไกล ต่อมานายเพชรก็ได้สอนอาชีพการตีมีดให้กับชาวบ้าน เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ทำให้ทุกครัวเรือนหันมาสนใจทำอาชีพเป็นช่างตีมีด สืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน แม้ว่าสังคมที่เปลี่ยนไป ซึ่งทำให้หลายครอบครัวเลิกล้มการทำอาชีพตีมีดแล้วก็ตาม แต่ปัจจุบันก็ยังคงมีชาวบ้านกว่า 30 ครัวเรือน สืบทอดอาชีพช่างตีมีดจากบรรพบุรุษถึงทุกวันนี้

นายอารีย์ หร่ายขุนทด

นายอารีย์ หร่ายขุนทด อายุ 52 ปี ช่างตีมีดในหมู่บ้านมะค่ารายหนึ่ง เล่าว่า ตนเองนั้นได้สืบทอดอาชีพตีมีดมาจากรุ่นปู่ ซึ่งในอดีตนั้นได้ใช้เตาหลุมและมีที่สูบลมป่าเร่งให้ไฟแรง เพื่อเผาเหล็กกล้าให้ร้อน ก่อนนำมาตีมีดแบบโบราณ ด้วยแรงงานคน 3-4 คนรุมตี ทำให้สามารถตีมีดได้เพียงวันละ 8-10 เล่มเท่านั้น ต่อมาได้มีการสั่งซื้อเครื่องค้อนลม จากประเทศจีน ในราคาเครื่องละ 1 แสนกว่าบาท มาใช้กันอย่างกว้างขวาง ทำให้การตีมีดด้วยแรงคนหมดไป ซึ่งเครื่องค้อนลมนี้ สามารถตีมีดได้ไม่ต่ำกว่า 100 เล่ม ส่วนเหล็กที่นำมาทำมีดนั้น มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ เหล็กแหนบรถยนต์ ซึ่งซื้อมาในราคากิโลกรัมละ 30 บาท เหมาะกับการทำมีดอีโต้ และใบขวาน เพราะมีความหนา และแข็งแรง ทนทาน ส่วนเหล็กใบเลื่อยหินอ่อน ราคากิโลกรัมละ 27 บาท จะมีความบางกว่า เหมาะกับการทำจอบ และเสียม โดยได้ทำเป็นอุตสาหกรรมครัวเรือน ผลิตสินค้าได้หลายชนิด อาทิ มีดอีโต้ ขวาน จอบ เสียม มีดสับอ้อย มีหัวตัด มีดขอนกแก้ว และมีพร้าหวด เป็นต้น ซึ่งจะขายในราคาส่ง เล่มละ 80-170 บาท แล้วแต่ขนาดและวัสดุ ซึ่งมีดเหล่านี้จะมีลูกค้าสั่งออเดอร์เข้ามาไม่ขาดสาย โดยเฉพาะแถว จ.จันทบุรี จ.ตราด และ จ.ระยอง จะสั่งมารอบละประมาณ 1.2 ตันเป็นอย่างน้อย เฉลี่ยราคาขายประมาณรอบละ 1 แสนกว่าบาท ในแต่ละปีขายได้ไม่ต่ำกว่า 4 รอบ สร้างรายได้ให้กับครอบครัวของตนเป็นอย่างงาม

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับมีดจากฝีมือช่างชาวบ้านมะค่าแห่งนี้ จะขายอยู่ 3 รูปแบบ คือ 1.วางขายหน้าบ้าน ซึ่งจะมีลูกค้ามารับซื้อไปขายตามตลาดนัดทั่วไป 2.ขายให้กับรถเร่ ซึ่งจะมีเดินทางมารับซื้อถึงที่ แล้วนำไปเร่ขายในหมู่บ้านและชุมชนทั่วประเทศ และ 3.ส่งขายให้กับร้านค้า และห้างขนาดใหญ่ เช่นร้านไทวัสดุทั้ง 45 สาขาทั่วประเทศ โดยภาพรวมสามารถสร้างรายได้ และนำเงินเข้าสู่ชุมชนบ้านมะค่าไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาทต่อปี จึงนับว่าอาชีพช่างตีมีดเก่าแก่ ยังสามารถทำเงินให้ชาวบ้านในชนบทได้ไม่น้อยเลย และจะยังคงมีผู้สืบทอดอาชีพนี้ไปอีกนานหลายปี

 


แหล่งข้อมูล : มติชนออนไลน์


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …