“หนี้ครัวเรือน” เป็นอีกปัญหาสำคัญที่รั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน เพราะเม็ดเงินที่รัฐอัดฉีดลงไปนั้น ส่วนใหญ่ได้ถูกนำไปหมุนเวียน “โปะหนี้” ทั้งหนี้ในระบบ และหนี้นอกระบบ ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานได้เข้ามาแก้ปัญหา โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ อาทิ คลัง มหาดไทย ตำรวจ ทหาร

เช่นเดียวกับ “ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม” กระทรวงยุติธรรม ที่มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในด้านการช่วยเหลือเพื่อให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมด้านกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายกับนายทุนเงินกู้นอกระบบ ซึ่งได้ย้ายจากสำนักงานปลัดมาสังกัดกรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว

“พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ” ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะเลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กล่าวว่า ปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาความรุนแรงของหนี้นอกระบบ คือ ประชาชนจำนวนมากขาดโอกาส หรือไม่มีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และเกิดจากเจ้าหนี้อาศัยฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่สูงกว่าเอารัดเอาเปรียบด้วยวิธีต่าง ๆ ทำให้ลูกหนี้ตกอยู่ในภาวะจำยอม โดยเรียกดอกเบี้ยในอัตราเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และมีการทำสัญญาที่ฉ้อฉลหลอกลวงไม่เป็นธรรม ใช้ช่องว่างของกฎหมายฟ้องร้องยึดทรัพย์สิน

ผลวิจัยชี้แบกหนี้เฉลี่ย 3.5 แสน

ขณะที่ผลการวิจัยที่ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ลูกหนี้นอกระบบ ร้อยละ 51.5 มีหนี้นอกระบบเพียงอย่างเดียว มูลหนี้เฉลี่ย 55,793 บาท ส่วนลูกหนี้นอกระบบ ร้อยละ 48.4 มีหนี้สินในระบบและนอกระบบ มีมูลหนี้เฉลี่ย 357,669.12 บาท ค่าเฉลี่ยมูลหนี้ในระบบเท่ากับ 300,145.46 บาท ซึ่งสูงกว่ามูลหนี้นอกระบบถึง 5.38 เท่า ซึ่งปัญหาหนี้นอกระบบมีความเชื่อมโยงกับหนี้ในระบบ

สำหรับเจ้าหนี้นอกระบบร้อยละ 24.8 เป็นญาติ ร้อยละ 20.2 เป็นคนรู้จัก ร้อยละ 14.1 เป็นแก๊งหมวกกันน็อก ร้อยละ 13.8 เป็นนายทุนจากนอกพื้นที่ ร้อยละ 11.6 เป็นนายทุนในพื้นที่

ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบจะสูงกว่าดอกเบี้ยตามกฎหมาย (ร้อยละ 15 ต่อปี) ถึง 6.3 เท่า โดยอัตราสูงที่สุดร้อยละ 60 บาทต่อเดือน แม้ลูกหนี้จะรู้ดีว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่ก็ยอมรับเงื่อนไขการกู้เงินดังกล่าว ไม่ว่าดอกเบี้ยจะสูงโดยเฉพาะในภาวะฉุกเฉิน

นอกจากนั้น ลูกหนี้ร้อยละ 40.4 ไม่รู้วิธีการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 25.2 เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม และไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 5.0 หนี้นอกระบบ 2 แบบ

การเป็นหนี้นอกระบบ แบ่งตามลักษณะของการให้กู้ คือ 1) การใช้รูปแบบการกู้เงิน เจ้าหนี้จะปล่อยเงินกู้ให้แก่ลูกหนี้ โดยมีการทำสัญญาเงินกู้ มีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน คือ 1.จำนวนเงินในสัญญาเงินกู้สูงกว่าเงินที่ได้กู้ไปจริง 2. การกำหนดจำนวนเงินกู้ในสัญญาไว้สูงกว่าจำนวนที่ลูกหนี้ได้รับจริง 3. การลงนามในกระดาษเปล่าของลูกหนี้ หรือสัญญาเปล่าที่ยังไม่มีการเขียนรายละเอียดใด ๆ ไว้

4. การแก้ไขตัวเลขในสัญญาเงินกู้ 5. เจ้าหนี้หักดอกเบี้ยล่วงหน้า ทำให้ลูกหนี้ได้รับเงินกู้น้อยกว่าที่ระบุไว้ในสัญญาเงินกู้ และ 6. การทำสัญญาเงินกู้ย้อนหลังและฟ้องบังคับคดีโดยให้ลูกหนี้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งบังคับคดีได้โดยไม่ต้องทำการฟ้องร้องอีก

รูปแบบที่ 2) มีลักษณะเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงิน ได้แก่ 1.การซื้อสินค้า เจ้าหนี้จะให้ลูกหนี้ทำสัญญาซื้อสินค้า เช่น ทองคำ เครื่องใช้ไฟฟ้า 2.การขายฝาก ลูกหนี้จะต้องนำทรัพย์สิน ได้แก่ ที่ดิน บ้าน เพื่อไปทำสัญญาขายฝาก ทั้ง ๆ ที่เป็นการกู้เงินแต่ใช้รูปแบบการขายฝากทรัพย์สินหรือการกู้เงินโดยให้มีทรัพย์สินค้ำประกัน หากลูกหนี้ไม่ชำระเงินกู้ตามสัญญาจะต้องมีการฟ้องร้องจึงจะสามารถยึดทรัพย์สินของลูกหนี้

การขายฝากมักจะกำหนดเวลาไม่นาน โดยอ้างว่าเพื่อไม่ให้ลูกหนี้ต้องมีภาระดอกเบี้ยมากนัก และจะขยายเวลาให้ เมื่อลูกหนี้ไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ตามกำหนด ลูกหนี้มักจะยินยอม และเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการขายฝาก เจ้าหนี้ก็ไม่ขยายเวลาให้ ทำให้ทรัพย์สินตกเป็นของเจ้าหนี้ทันที

ภาคอีสาน-เหนือรุนแรง

พ.ต.ท.วิชัยบอกอีกว่า สถิติผู้ร้องขอความช่วยเหลือด้านหนี้สินภาคประชาชน ระหว่างปี 2553-13 ก.ย. 2560 มีเรื่องร้องเรียนจำนวน 1,020 เรื่อง ผู้ร้อง 6,910 คน ทุนทรัพย์กว่า 8,476 ล้านบาท

กลุ่มที่ตกเป็นเหยื่อนายทุนเงินกู้นอกระบบ ถ้าเป็นสังคมชนบทจะเป็นกลุ่มเกษตรกร ส่วนในเขตเมืองก็จะเป็นกลุ่มมนุษย์เงินเดือน และคนค้าขาย หากจำแนกเป็นภาค พบว่าในเชิงปริมาณ พื้นที่ภาคอีสานมากที่สุดและรุนแรง รองลงมาคือภาคเหนือ ส่วนหนี้ภาคกลางเป็นหนี้กู้ยืม และภาคใต้ก็จะเป็นหนี้ขายฝาก

อย่างไรก็ตาม เน้นให้การช่วยเหลือในลักษณะกลุ่ม คือ เจ้าหนี้รายเดียว แต่มีลูกหนี้จำนวนมาก ขณะนี้มีคดีใหญ่ 10 กลุ่ม เช่น ที่ จ.เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ นครสวรรค์ เชียงราย ขอนแก่น นครราชสีมา และคดีปุ๋ยที่ จ.บุรีรัมย์ ที่มีผู้ร้องถึง 210 คน

ทั้งนี้ เกษตรกรเสี่ยงที่จะสูญเสียที่ดินมากสุด คนในพื้นที่ตามไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมนายทุน ตอนนี้ที่ดินในภาคอีสานมีราคาสูงขึ้น ก็จะมีนายทุนต่างถิ่นเข้ามากว้านซื้อ ถ้าชาวบ้านไม่ยอมขาย ก็จะใช้วิธีทำสัญญาขายฝาก แต่หลอกให้ผ่อนดอกเบี้ยรายวัน โดยอาศัยความไม่รู้ของชาวบ้าน เช่น กรณีที่ จ.ชัยภูมิ อุบลราชธานี มีเจ้าหนี้ไล่ฟ้องชาวบ้านกว่า 1 พันราย ซึ่งสุดท้ายชาวบ้านก็แพ้คดี เพราะมีการให้ยอมความในลักษณะที่เสียเปรียบ และขาดนัด ไม่ไปศาล

“ปัญหาที่สำคัญมาก คือ ความไม่รู้กฎหมาย และเมื่อเกิดปัญหา หรือถูกฟ้องก็ไม่รู้จะไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานใด การเข้าถึงความเป็นธรรมไม่มี ดังนั้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ศูนย์จึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยช่วยถ่ายทอดความรู้แก่ประชาชน และได้มีการต่อยอดจากงานวิจัยพัฒนา มาเป็น The Choice เกมทางเลือก-ทางรอด เพื่อช่วยให้เรียนรู้กฎหมายได้ง่ายขึ้น เพราะการให้ความรู้กับประชาชนที่ถูกต้อง จะเป็นการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้อย่างยั่งยืน”

ผุดนวัตกรรมเกม The Choice

สำหรับ The Choice เกมทางเลือก-ทางรอด ได้คัดเลือกชีวิตจริงของคนที่ตกเป็นหนี้นอกระบบ 8 ชีวิต จำลองมาเป็นตัวละครในเกมจำนวน 8 เรื่อง ผู้เล่นจะได้เลือกทางเดินชีวิตตามที่ตนเองกำหนด พร้อมกับเรียนรู้กฎหมาย/เคล็ดลับการไม่เป็นหนี้ และวางแผนการใช้ชีวิต การเงิน และการลงทุน เช่น การเอาที่ดินไปจำนอง การทำสัญญาขายฝาก-กู้ยืมเงิน-เช่าซื้อ การชำระหนี้เงินกู้ บัตรเครดิต การลงลายมือชื่อในเอกสาร และการให้ความรู้ข้อกฎหมายหนี้นอกระบบ ซึ่งล่าสุดได้รับรางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติ ประจำปี 2560 ประเภทรางวัล การพัฒนาการบริการ ระดับดีเด่น

นอกจากนั้น ยังได้ยกร่าง พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2560 ซึ่งมีการกำหนดโทษที่รุนแรงขึ้น รวมถึงใช้มาตรการทางภาษี โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ดีเอสไอได้ส่งมอบบัญชีรายชื่อนายทุนเงินกู้นอกระบบให้กับอธิบดีกรมสรรพากร 6 กลุ่ม วงเงินหมุนเวียนกว่า 1,400 ล้านบาท มีที่ดินรวมกันกว่า 3,400 ไร่ และมีการฟ้องร้องบังคับคดีลูกหนี้กว่า 1,800 ราย

การโฟกัสให้ความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมาย และวางแผนการเงินการลงทุนให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องทั่วถึง จะช่วยป้องกันให้ไม่กลับเข้าสู่วงจรของการเป็นหนี้นอกระบบโดยง่ายอีก

 


แหล่งข้อมูล : ประชาชาติธุรกิจ


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …