รถไฟฟ้าไทย-จีน วงเงินเกินกรอบ ครม.อนุมัติ จีนคิดค่าตัวแพงเวอร์ ไทยบีบค่าคุมงานก่อสร้าง “กทม.-โคราช” เร่งเกลี่ยจ้างวิศวกรคนไทย ให้อยู่ในวงเงิน 3,500 ล้าน “อาคม” ยัน ต.ค.นี้ตอกเข็ม”กลางดง-ปางอโศก” เตรียมเสนอ ครม.สัญจรพิจารณา รวมความคืบหน้ามอเตอร์เวย์ เพิ่มค่าเวนคืน เปิด PPP เก็บเงินอัตโนมัติ สัมปทาน 30 ปี 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ผลประชุมคณะกรรมการร่วมฯ ครั้งที่ 20รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา 253 กม.เงินลงทุน 179,413 ล้านบาท ได้ข้อยุติค่าคุมงานก่อสร้าง จีนลดจากกว่า 4,000 ล้านบาทอยู่ที่ 3,500 ล้านบาท สูงกว่ากรอบที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ 1,649 ล้านบาท

“ยืนยันไม่กระทบต่อกรอบวงเงินโครงการ จะลดวงเงินจากงานส่วนอื่นแทนเช่น ค่าเซฟตี้ ลดบุคลากรทั้งไทยและจีนลงจากเดิมจีน 50 คน ไทย 400 คน”

ให้คณะทำงานทั้ง 2 ฝ่าย เร่งร่างสัญญาคุมงานก่อสร้างให้เสร็จเสนอ ครม. อนุมัติวันที่ 29 ส.ค.นี้ ให้ทันกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนจีน วันที่ 4-5 ก.ย.นี้

“ผู้นำ 2 ประเทศตั้งเป้าจะลงนามสัญญาค่าออกแบบและคุมงานก่อสร้างพร้อมกัน 2 สัญญา รวม 5,206 ล้านบาท ซึ่งสัญญาจ้างออกแบบ 1,706 ล้านบาท จะเสนอ ครม.อนุมัตินัดสัญจรที่โคราช 21-22 ส.ค.นี้ เพื่อก่อสร้าง 3.5 กม. จากกลางดง-ปางอโศก ให้ทัน ต.ค.นี้”

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า การก่อสร้างรถไฟไทย-จีน 3.5 กม. ให้ทัน ต.ค.นี้ ยังมีความไม่แน่ไม่นอนสูง แม้เป็นงานถมคันดินที่ให้กรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการ วงเงิน 425 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การที่จะเริ่มงานก่อสร้างได้ต้องรอรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ได้รับอนุมัติก่อน ล่าสุดคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) กำลังพิจารณาเป็นครั้งที่ 6

สำหรับค่าจ้างจีนออกแบบ จำนวน 250 คน วงเงิน 1,706 ล้านบาท ตลอดโครงการ เมื่อคิดเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 6.824 ล้านบาท ส่วนค่าคุมงานก่อสร้างก่อนหน้านี้ ฝ่ายจีนเสนอจ้างวิศวกรจีน 50 คน ตลอดระยะเวลา 52 เดือน เป็นวงเงิน 2,600 ล้านบาท เมื่อคิดค่าจ้างเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 52 ล้านบาท ล่าสุดได้ปรับลดเหลือ 3,500 ล้านบาท ยังไม่มีระบุจำนวนที่ชัดเจนจะจ้างจีนเท่าไหร่ แต่มีแนวโน้มจะจ้างคนไทยมากขึ้น เพราะฐานเงินเดือนจีนสูงกว่าไทยมาก

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า วันที่ 22 ส.ค.นี้จะประชุมร่วมกับจีน และที่ปรึกษาโครงการเรื่องแบบรายละเอียดก่อสร้าง 3.5 กม. หลังลงพื้นที่สำรวจต้องปรับรายละเอียด เช่น แนวอยู่ชิดกับรถไฟสายเก่ามากเกินไป วัสดุก่อสร้างที่ใช้

ขณะที่การประชุม ครม.สัญจรที่นครราชสีมา กรมจะรายงานความก้าวหน้าการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช 196 กม. คืบหน้าแล้วกว่า 10% ส่วนบางใหญ่-กาญจนบุรี 96 กม. คืบหน้า 3% ยังล่าช้าจากแผน 7% ติดปัญหาการเวนคืนที่ดิน กรมได้เสนอของบฯกลางปี 2560 จำนวน 5,100 ล้านบาท จ่ายค่าเวนคืนบางใหญ่-กาญจนบุรี 2,358 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 2,242 ล้านบาท และจ่ายค่าเวนคืนบางปะอิน-นครราชสีมา ตอนที่ 24 และ 25 วงเงิน 500 ล้านบาท

นอกจากนี้ กรมจะขออนุมัติหลักการให้เอกชน PPP Fast Track ระบบเก็บเงินและซ่อมบำรุงรักษา 24,000 ล้านบาท แยกเป็น บางปะอิน-โคราช 15,000 ล้านบาท และบางใหญ่-กาญจนบุรี 9,000 ล้านบาทรูปแบบ PPP Gross Cost 30 ปีเปิดให้เอกชนเข้าร่วม เช่น บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM), บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง หรือโทลล์เวย์

“กรมจะออกทีโออาร์เชิญชวนต้นปี”61 และได้ผู้ชนะ พ.ค. จากนั้นใช้เวลาติดตั้งระบบ 1 ปี 6 เดือน แล้วเสร็จปลายปี’62 เปิดต้นปี’63” กรมจะของบฯกลางซ่อมบำรุงถนนที่ได้รับความเสียหายจากพายุเซินกา ในพื้นที่ภาคอีกสาน 2,700 ล้านบาท

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า จะของบฯกลาง 480 ล้านบาท ปรับปรุงถนนภาคอีสานที่ได้รับความเสียหายจากพายุเซินกา 47 สายทาง

 


แหล่งข้อมูล : ประชาชาติธุรกิจ


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …