กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ชวนให้ชาวโคราชและผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต้องหันมาขบคิดกันอย่างจริงจังอีกครั้ง เมื่อผู้ใช้เฟสบุ๊คนาม Nikhom Boonyanusith หรือที่หลายๆ คนรู้จักในนาม ดร.นิคม บุญญานุสิทธิ์ ซึ่งเป็นผู้คร่ำหวอดในวงการด้านการจัดการผังเมืองได้ออกมาชี้แนะแนวทางในการแก้ปัญหาน้ำท่วมในเขตตัวเมืองง่ายๆ ที่หลายคนมองข้ามไป ภายหลังจากที่จังหวัดนครราชสีมาด้องเผชิญกับสภาวะน้ำท่วมขังหลายจุดจากฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน โดยเนื้อหาในโพสต์มีรายละเอียดดังนี้…

“ลักษณะน้ำท่วมในพื้นที่เมืองโคราชนั้น เป็นลักษณะของน้ำผิวดินที่มากเกินกว่าระบบระบายน้ำของเมืองจะรับได้ในช่วงเวลาวิกฤติ เราจึงได้เห็นว่าเมื่อฝนตกกระหน่ำเมื่อไหร่ หลายพื้นที่ในโคราชก็น้ำท่วมในทันที แล้วในเวลาอีกสามสี่ชั่วโมงก็กลับสู่สภาพปกติ


เป็นเพราะการพัฒนาเมืองของเราเองที่ไปเพิ่มน้ำผิวดินให้เป็นภาระของเมือง เนื่องจากการเปลี่ยนพื้นที่น้ำซึมผ่านได้แบบดั้งเดิมเช่นที่เคยเป็นสวน เป็นลานดินมาก่อน เราก็ไปทำเป็นถนนเป็นที่จอดรถ เป็นผิวคอนกรีตขนาดใหญ่ (ตลาดเซฟวันเป็นตัวอย่าง) แต่เราไม่เคยสร้างพื้นที่ที่เป็นลานให้น้ำซึมผ่านหรือเพิ่มต้นไม้ในเมืองเลย (ใครเคยไปเซฟวันช่วยนึกหน่อยว่ามีไม้ยืนต้นอยู่ในบริเวณถึงสิบต้นไหม)

การมีพื้นที่น้ำซึมผ่านเหล่านี้ จะเป็นการช่วยชะลอน้ำผิวดินเมื่อเวลาที่ฝนตกหนัก ทำให้ลดปริมาณการรวมตัวกันของน้ำผิวดินในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (เรียกง่ายๆ ว่าเป็น “พื้นที่หน่วงน้ำ”) น้ำก็จะไหลเข้าระบบในปริมาณที่ระบบระบายน้ำของเมืองรองรับได้ (หรือไม่มากจนล้นกลายเป็นน้ำรอระบาย)

บรรดาที่จอดรถทั้งหลายในพื้นที่เมืองโคราชนี้หากหันมาทำตามภาพตัวอย่างที่เห็นนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม้ยืนต้นที่ปลูกคั่นระหว่างที่จอดทั้งหลายก็จะเป็นตัวช่วยสร้างร่มเงาและเป็นเหมือนฟองน้ำดูดซับน้ำฝนไว้ได้ระดับหนึ่ง

เรื่องง่ายๆ ไม่คิด
ไปวิ่งดูแต่ฝาปิดท่อระบายน้ำ หรือดูรางน้ำกันทำไม
นั่นมันเป็นงานประจำของผู้ปฏิบัติที่เค้าจะต้องทำตามวาระอยู่เสมอ

หน้าที่ของผู้บริหารเมืองคือติดตามให้เขาเหล่านั้นทำงานได้ก็พอ ไม่ต้องถึงขนาดลงไปสร้างภาพทำเองก็ได้

มาผลักดันให้ที่จอดรถในเมืองโคราชรูปร่างแบบนี้ดีไหมครับ?

หลังจากที่บทความดังกล่าวถูกเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย ได้มีชาวโคราชออกมาร่วมแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน แสดงให้เห็นสาเหตุหลักของปัญหานี้เกิดจากการเจริญเติบโตของเมืองอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการถมพื้นที่ซับน้ำทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่เพื่อสร้างที่อยู่อาศัย จนน้ำไม่มีทางระบาย กลายเป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนให้กับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อยู่อาศัยตามจุดต่างๆ เป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี ซึ่งสอดคล้องกับบทความถัดมาที่ ดร.นิคม บุญญานุสิทธิ์ โพตส์ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้นความว่า…

“ความเป็นเมืองที่เพิ่มมากขึ้น การขยายตัวของเมืองที่กระจายออกไปเป็นวงกว้างโดยรอบพื้นที่เมืองเดิม ราคาที่ดินในเมืองที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ปริมาณถนนที่เพิ่มขึ้นมา แต่ว่าลานดิน เดิ่นบ้าน และพื้นที่รับน้ำที่สูญหายไปจากเมือง

เมืองโคราช เมืองที่มีห้างใหญ่รวมกันสามห้างเบ้อเริ่มเทิ่ม แต่มองไปทางไหนก็ไม่สามารถเห็นพื้นที่หน่วงน้ำที่จะช่วยชะลอน้ำผิวดินในภาวะที่ฝนตกหนัก มีแต่ลานคอนกรีต พื้นที่ดาดแข็งไปทั่วทั้งเมือง ดังนั้นเพียงแค่ฝนตกหนักสักห้านาที…โคราชก็กลายเป็นเมืองบาดาลได้ในทันที

เพื่อลดภาระในการรับน้ำผิวดินของระบบระบายน้ำของเมือง เราจึงควรที่จะต้องร่วมกันสร้างพื้นที่หน่วงน้ำอย่างภาพประกอบที่นำมาให้ดูในอัลบั้มนี้

นี่คือภาพเปรียบเทียบพื้นที่ที่ไร้สวนหน่วงน้ำ หลังคาเขียว และต้นไม้ประดับพื้นที่ (อย่างที่โคราชเป็นอยู่ทุกวันนี้) ทำให้น้ำผิวดินรวมตัวกันเป็นมวลน้ำขนาดใหญ่ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันอย่างทันใด แต่เมื่อเราเพิ่มพื้นที่หน่วงน้ำ และพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง ก็เหมือนกับเรามีฟองน้ำกระจายอยู่หลายๆ จุดในเมือง ช่วยซับน้ำ ลดปริมาณของมวลน้ำผิวดิน ทำให้น้ำผิวดินระบายผ่านระบบระบายน้ำของเมืองในปริมาณน้อยลง ลดน้ำท่วมฉับพลันได้

เมืองโคราชจึงควรพิจารณาให้มีพื้นที่สีเขียวหลากหลายประโยชน์ใช้สอยกระจายไปให้ทั่วทั้งพื้นที่เมืองเพื่อลดปริมาณน้ำผิวดิน

การส่งเสริมให้มีการเก็บน้ำไว้ใต้ดินเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยลดปริมาณน้ำผิวดินของเมืองได้

เทศบาลนครควรมีข้อบัญญัติที่กำหนดให้ต้องมีที่จอดรถแบบนี้เกิดขึ้นในเมืองให้มาก จะสามารถลดความร้อนและน้ำผิวดินได้

การเพิ่มต้นไม้ในพื้นที่เมือง ทำให้เมืองมีชีวิตชีวาน่าเดิน และตำแหน่งของต้นไม้และพื้นที่สีเขียวเหล่านี้ยังเป็นพื้นที่หน่วงน้ำให้เมืองอีกด้วย

การส่งเสริมให้ชาวเมืองมีบ่อหน่วงน้ำในพื้นที่ตนเอง ทำหน้าที่รับและชะลอน้ำฝนก่อนที่จะระบายไปสู่ระบบระบายน้ำของเมือง จะช่วยลดการเกิดน้ำท่วมในโคราชได้

ระบบสวนหน่วงน้ำที่ช่วยรับน้ำผิวดินแล้วซึมผ่านลงไปใต้ดิน ทำให้ระดับน้ำใต้ดินมีความอุดมสมบูรณ์

นอกจากประโยชน์ในเรื่องของการลดน้ำท่วมแล้ว การมีพื้นที่หน่วงน้ำเหล่านี้กระจายตัวไปทั่วเมืองยังช่วยเพิ่มระดับน้ำใต้ดินให้กับเมืองได้ด้วย (มีน้ำซึมลงดินกระจายตัวกันไป ทำให้น้ำใต้ดินไม่สูญไป แต่หากมีแต่ลานคอนกรีตความชื้นในดินในพื้นที่นั้นก็จะหมดไป กลายเป็นการลดน้ำใต้ดินไปด้วย)

ไม่เฉพาะแต่การช่วยลดผลกระทบของน้ำท่วมฉับพลัน ช่วยสร้างความชื้นใต้ดินเพื่อรักษาระด้บน้ำใต้ดินแล้ว…พื้นที่หน่วงน้ำเหล่านี้ยังทำให้เมืองมีความร่มรืน น่าเดิน น่าดู มากยิ่งขึ้นอีกด้วย”

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเมืองโคราชคงเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นแล้วว่า การที่เมืองจะเจริญได้นั้นจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับพื้นคอนกรีตหรือตึกที่สูงระฟ้า แต่เป็น “คุณภาพชีวิต” ที่ดีของคนในชุมชน ได้กินอิ่มนอนหลับ พรั่งพร้อมด้วยระบบสาธารณูปโภคที่ครบครัน ระบบขนส่งมวลชนที่เพียงพอต่อความต้องการ และการออกแบบผังเมืองที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต เมื่อประชาชนมีความปลอดภัยและได้รับความสะดวกสบาย สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ก็มีกำลังที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในองค์รวมไปพร้อมๆ กัน เริ่มจากจุดเล็กๆ จากบ้านของเรา ขยายออกเป็นชุมชน ตำบล อำเภอ ธุรกิจต่างๆ รวมถึงหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่ต้องร่วมมือร่วมใจกัน พัฒนาโคราชให้เป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างแท้จริงซักที

 

แหล่งข้อมูล : Nikhom Boonyanusith


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …