ภายหลังจากที่เข้าสู่ช่วงฤดูฝน ซึ่งมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ทุกภาคของประเทศไทย ประกอบกับเกิดเหตุการณ์เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ในแขวงอัตตะปือ ของ สปป.ลาวแตก ทำให้ประชาชนชาวไทยต่างรู้สึกวิตกกังวลกับปริมาณน้ำที่ไหลลงเขื่อนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประชาชนชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ซึ่งมีเขื่อนขนาดใหญ่อยู่จำนวน 6 แห่ง ที่อยู่ในการดูแลของสำนักงานชลประทานที่ 8

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม นายวิวัฒน์ ฐิติรัตนอัศว์ ผอ.ส่วนบริหารจัดการน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา ได้ออกมาเปิดเผยว่า ในเขตพื้นที่ดูแลของสำนักงานชลประทานที่ 8 นั้น ดูแลพื้นที่ 4 จังหวัด ประกอบไปด้วย นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ ซึ่งมีเขื่อนขนาดใหญ่อยู่จำนวน 6 แห่ง โดยอยู่ใน จ.นครราชสีมา จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนลำตะคอง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแชะ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำปลายมาศ และอยู่ใน จ.บุรีรัมย์ จำนวน 1 แห่ง คือเขื่อนลำนางรอง ซึ่งภาพรวมปริมาณน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 6 แห่ง ขณะนี้มีปริมาณน้ำกักเก็บรวมอยู่ประมาณ 600 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเฉลี่ย 53 เปอร์เซ็นต์ ของความจุกักเก็บทั้งหมด ดังนั้นปริมาณน้ำในปีนี้ถือว่ายังไม่มากนัก สามารถรองรับน้ำได้อีกจำนวนมาก โดยมีการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบเพื่อให้มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอในฤดูแล้งหน้า

ส่วนเขื่อนขนาดกลางในพื้นที่มีทั้งหมดจำนวน 71 แห่ง ซึ่งปีนี้ทางกรมชลประทานมีนโยบายว่า ทั้งเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางจะต้องมีปริมาณน้ำไม่เกิน 80 เปอร์เซ็นต์ เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการเกิดน้ำล้นเขื่อนได้ ซึ่งที่ผ่านมาเขื่อนขนาดใหญ่ไม่มีปริมาณน้ำเกิน 80 เปอร์เซ็นต์ มีเพียงเขื่อนขนาดกลางที่เกินอยู่แห่งเดียว คือเขื่อนลำเชียงไกรตอนบน ซึ่งสัปดาห์ที่แล้วมีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ที่ 101 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นทางสำนักงานชลประทานที่ 8 จึงได้ลงพื้นที่สำรวจทางน้ำเพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบ พร้อมกับเจรจาขอทำลายคันดินของชาวบ้านที่ขวางทางน้ำผ่าน ก่อนที่จะเปิดประตูระบายน้ำทั้ง 3 บาน ซึ่งสามารถระบายน้ำได้ 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จนถึงขณะนี้จึงสามารถระบายน้ำออกจากเขื่อนลำเชียงไกรตอนบนให้เหลือ 88 เปอร์เซ็นต์แล้ว โดยที่ไม่มีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ

ส่วนเรื่องที่ประชาชนเป็นห่วงว่าสันเขื่อนจะมีความแข็งแรงหรือไม่นั้น ขณะนี้ขอให้ประชาชนสบายใจได้ เพราะทางเจ้าหน้าที่ประจำเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้ง 77 แห่ง ในความรับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 8 ได้มีการสำรวจสันเขื่อนและรายงานผลให้ทราบตลอดช่วงหน้าฝน ซึ่งหากตรวจพบว่ามีการแตกร้าว หรือน้ำซึม จะแจ้งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายซ่อมบำรุงรักษาลงพื้นที่ดำเนินการซ่อมแซมในทันที แต่จนถึงขณะนี้ได้รับรายงานว่าสันเขื่อนทุกแห่งมีความแข็งแรงมั่นคงดี จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า สันเขื่อนขนาดใหญ่ และขนาดกลางทั้ง 77 แห่ง มีความมั่นคงแข็งแรง ไม่มีทางเกิดเหตุการณ์เขื่อนแตกแน่นอน

 


แหล่งข้อมูล : มติชนออนไลน์


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …