เมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่ห้องประชุมตะโกราย 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) นครราชสีมา เมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดี มทร.อีสาน เปิดเผยแนวทางการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน RMUTI 4.0 ตอบสนองนโยบายรัฐ มุ่งผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติด้วยนวัตกรรม สู่การเป็น SMART UNIVERSITY ใน 4 ปี ว่า ห้วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา มทร.อีสาน ได้เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่รู้จักและมีบทบาทในวงการศึกษา ทั้งด้านการเรียนการสอน การวิจัยสิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึงการวางรากฐานการเรียนรู้ เพื่อรองรับการพัฒนาของประเทศไทย อาทิ ด้านระบบราง ด้านอากาศยาน ด้านโลจิสติกส์ ด้านเกษตรอินทรีย์ และการส่งเสริมธุรกิจ SMEs โดย มทร.อีสานได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศหลายแห่ง เพื่อผลิตบัณฑิตให้รองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติได้มั่นคงยิ่งขึ้น ให้ความสำคัญกับการผลิตนักปฏิบัติด้านวิชาชีพ พัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน เพื่อตอบสนองประชาคมอาเซียน ซึ่งมุ่งส่งเสริมศักยภาพบัณฑิตให้มีคุณภาพหลหลายด้านและมีนโยบายในส่วนการวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานสะอาด ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อการปรับเปลี่ยนสู่การเป็น GREEN UNIVERSITY หรือมหาวิทยาลัยสีเขียว จะทำให้มีสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ดีรวมถึงคนไทยมีสุขภาพดีขึ้น นอกจากนี้ยังได้ช่วยเหลือและบริการวิชาการแก่ชุมชน ซึ่งเป็นพันธกิจของ มทร.อีสาน ที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

ผช.ดร.วิโรจน์กล่าวว่า เราให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์พัฒนาระบบการขนส่ง หรือ LOGISTICS/TOURISM ให้สอดรับกับแผนพัฒนาประเทศ เตรียมตั้งสถาบันอุตสาหกรรมการบินครบวงจรแห่ง มทร.อีสาน Rajamangala University of Technology ISAN Aviation Industrial Institute (RMUTI AII) เพื่อพัฒนาบุคลากรให้ได้มาตรฐาน IKAO และEASA รองรับอุตสาหกรรมการบิน เพื่อขับเคลื่อนที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ซึ่งต้องการให้เร่งสร้างบุคลากรรองรับการขยายตัวด้านโลจิสติกส์ และอากาศยาน มีกรอบลงทุน 4 ปี งบประมาณ 1,240 ล้านบาท ปี 2560 พัฒนาบุคลากรร่วมกับสถาบัน ฯ ประเทศเยอรมันและไต้หวัน ปี 2561 เปิดสอนหลักสูตรช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน (CAAT) ระดับอนุปริญญา และ ปวส. ปี 2562 เปิดสอนหลักสูตรช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน ระดับปริญญาตรี 4 ปี และเทียบโอน และ ปี 2563–64 ดำเนินการจัดเตรียมสำหรับเปิดหลักสูตรอบรมการซ่อมบำรุงรักษาอากาศยาน ( EASA)

ส่วนการพัฒนาและผลิตกำลังคนด้านระบบขนส่งทางราง เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูง ไทย–จีน รถไฟทางคู่ระหว่างเมืองและรถไฟรางเบาภายในเมือง มีกรอบวงเงินลงทุน 4 ปี งบประมาณ 980 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยและจีน จัดตั้ง ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมระบบขนส่งทางรางแห่งอาเซียน เน้นด้านล้อเลื่อนและการบริหารจัดการรถและศูนย์วิจัยและฝึกอบรมระบบขนส่งทางราง ระบบอานัติสัญญาณและงานโยธา เป็นการพัฒนาแบบคู่ขนานในอนาคต โดยยกระดับให้เป็นวิทยาลัยระบบขนส่งทางรางแห่งอาเซียน เปิดสอนหลักสูตรให้สอดคล้องกับนวัตกรรมระบบขนส่งทางราง รูปแบบพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษาแบบสหกิจ ซึ่งเน้นการเรียนรู้ด้วยการทำงานจริง ปัจจุบัน มทร.อีสาน มีศักยภาพด้านบุคลากรการเรียนการสอนแบบครบวงจรที่เกี่ยวข้องกับระบบรางทั้งสาขาบริหารธุรกิจและวิศวกรรม จึงเปิดหลักสูตรการเรียนการสอน ผลิตบัณฑิตรรองรับการพัฒนาระบบขนส่งทางราง มีแผนดำเนินการในปี 2560 พัฒนาบุคลากรและครุภัณฑ์ ปี 2561 เปิดสถาบันฯ รถไฟความเร็วสูงไทย–จีน หลักสูตร ปวส. และ วศบ.ระบบราง ปี 2562 เปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรี ปี 2563 เริ่มวิจัยระบบราง และ ปี 2564 ดำเนินการสร้างนวัตกรรม เบื้องต้นได้วางแผนใช้สถานที่ก่อสร้างสถาบัน ฯ ทั้ง 2 แห่ง ที่ศูนย์หนองระเวียง อ.เมือง จ.นครราชสีมา หากดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ประเทศไทย จะก้าวผ่านไปอยู่ในสถานะแห่งความเป็นมาตรฐานสากล มีศักยภาพเป็นศูนย์กลางเครือข่าย การเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย ” อธิการบดี มทร.อีสาน กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ

 


แหล่งข้อมูล : มติชนออนไลน์


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …