เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงตัวเลขจีดีพีเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2560 ว่าเติบโตได้ 3.3% ฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนหน้าที่เติบโต 3% และฟื้นตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 3.1% โดยมีปัจจัยหลักจากการส่งออกที่ฟื้นตัวเติบโตได้ 6.6% ในลักษณะกระจายตัวไปในทุกสาขาและเป็นการเติบโตสูงสุดในรอบ 17 ไตรมาส แบ่งเป็นการเติบโตทางด้านราคา 3.7% และเป็นการเติบโตด้านปริมาณ 2.8% และหากหักทองคำ ซึ่งหดตัวในไตรมาสแรกของปี 2560 ไป -37.5% จะทำให้การส่งออกของไทยในไตรมาสแรกของปี 2560 เติบโตได้ถึง 9%

ทั้งนี้ การเติบโตดังกล่าวสอดคล้องกับกับการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักและการปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก ซึ่งในไตรมาสแรกของปี 2560 การส่งออกของประเทศต่างๆ ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปในทิศทางเดียวกับประเทศไทย

gdp_q1_2017_1

อย่างไรก็ตาม การลงทุนของเอกชนยังคงหดตัวที่ -1.1% โดยการลงทุนในสิ่งก่อสร้างลดลง 4.5% ขณะที่การลงทุนในเครื่องจักรลดลง 0.3% โดยเป็นผลจากอัตรากำลังการผลิตของเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำที่ 63% รวมไปถึงการจ้างงานและจำนวนชั่วโมงการทำงานที่ถูกปรับลดลงไปก่อนหน้านี้ ในช่วงการเศรษฐกิจและการส่งออกของไทยยังไม่ฟื้นตัวมาก ซึ่งส่วนนี้ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งให้เอกชนเริ่มเพิ่มกำลังการผลิต จำนวนชั่วโมงการทำงาน และการจ้างงาน อนึ่ง สภาพัฒน์ได้ปรับประมาณการการลงทุนของเอกชนลงจาก 2.5% เหลือ 2.0% โดยให้เหตุผลว่าเป็นการสะท้อนความกังวลที่มากขึ้นและมองว่าการลงทุนของเอกชนมาช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

“การลงทุนของเอกชนมีความสัมพันธ์กับการส่งออกค่อนข้างมาก ถ้าการส่งออกฟื้นตัวจะสามารถดึงการลงทุนของเอกชนเพิ่มขึ้นด้วย แต่ที่ยังหดตัวและล่าช้าไปอยู่บ้าง ส่วนหนึ่งเพราะกำลังการผลิตที่เหลือ คิดว่าถ้าเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 70% การลงทุนน่าจะเพิ่มขึ้นได้ช่วงครึ่งปีหลัง นอกจากนี้ ยังมีประเด็นทางเทคนิคในทางการจัดทำบัญชีประชาชาติ ที่ไตรมาสแรกของปี 2559 มีมาตรการตำบลละ 5 ล้านบาท ส่วนหนึ่งจะถูกดึงออกมาลงไว้ในการลงทุนของเอกชน ทำให้ปีที่ผ่านมาการลงทุนเติบโตไปถึง 2.4% มีฐานที่สูงกว่าปกติ หากหักตัวนั้นออกไปการลงทุนของไตรมาสแรกจะหดตัวเพียง 0.1% เท่านั้น หรือจะเป็นเรื่องการออกไปลงทุนนอกประเทศของเอกชนไทย ซึ่งไม่ถูกรวมอยู่ในจีดีพี แต่อยู่ในจีเอ็นพี ซึ่งจะออกช่วงสิ้นปี หรือการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่เป็นเอกชน ประเด็นเหล่านี้อาจจะต้องไปดูในรายละเอียดอีกที” ดร.ปรเมธีกล่าว

ทั้งนี้ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าการออกไปลงทุนของเอกชนไทยได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2548 มีการลงทุน 23,325 ล้านบาท ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 503,417 ล้านบาทในปี 2559 โดยเฉลี่ย 12 ปีมีการออกไปลงทุนปีละ 213,421 ล้านบาท

ขณะที่การบริโภคของเอกชน ปรับตัวดีขึ้นที่ 3.2% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 2.5% และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ 2.8% สอดคล้องไปกับรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้น 20% ซึ่งเพิ่มขึ้น 3 ไตรมาสติดต่อกัน อันเป็นผลจากภาวะภัยแล้งที่หมดไป ทำให้ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น 7.1% รวมไปถึงดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.1%

“ที่ถามว่าการฟื้นตัวของภาคเกษตรครั้งนี้เป็นผลจากมาตรการรัฐที่ช่วยเหลือและอาจจะชั่วคราวหรือไม่ คิดว่ามีส่วน แต่โดยพื้นฐานคิดเป็นผลที่ค่อนข้างถาวรมากขึ้น สะท้อนมาจากเรื่องภัยแล้งที่หมดไป เรื่องราคาสินค้าที่ดีขึ้น และคิดว่าจะช่วยให้เห็นภาพแบบนี้ได้ตลอดทั้งปี” ดร.ปรเมธีกล่าว

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทย ปี 2560 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.3-3.8 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากการขยายตัว 3.2% ในปี 2559 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1) การฟื้นตัวของการส่งออกตามการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและราคาสินค้าในตลาดโลก 2) การขยายตัวของการลงทุนภาครัฐที่อยู่ในเกณฑ์สูงและเร่งขึ้น 3) การปรับตัวดีขึ้นของการผลิตสินค้าเกษตรและราคาสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี 4) การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ยังสนับสนุนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และ 5) การปรับตัวดีขึ้นของตลาดรถยนต์ในประเทศ

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัดจากอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำและมีปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยน การดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของราคาน้ำมันและราคาสินค้าขั้นปฐมในตลาดโลก ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 3.6% การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวมขยายตัว 3.0% และ 4.4% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วง 0.8-1.3% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 8.9 ของ GDP

gdp_q1_2017

ด้าน ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ขยายตัว 3.3% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน สูงกว่าที่ ธปท. ประเมินไว้ โดยแรงขับเคลื่อนมาจากการใช้จ่ายในประเทศและการส่งออกสินค้าและบริการที่ขยายตัวดี แม้การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ

ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด ได้แก่ นโยบายการค้าของสหรัฐฯ แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก และความต่อเนื่องของการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ

 

thaipublica
แหล่งข้อมูล : Thaipublica


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …