ประธาน SME Development Bank ลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา ร่วมงาน “INDUSTRY 4.0 @KORAT” เร่งขับเคลื่อนมาตรการผลักดันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคอีสานเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ เผยอนุมัติสินเชื่อในงาน จำนวน 34 ราย วงเงิน 105.45 ล้านบาท 

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ และประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank หรือ ธพว.) เปิดเผยว่า ธนาคารในฐานะหน่วยงานร่วมในการบริหารงาน “โครงการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ” ได้ลงพื้นที่ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อเร่งดำเนินการช่วยเหลือและผลักดันผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงมาตรการสนับสนุนต่างๆ ของรัฐบาล

ทั้งนี้ จากการจัดงาน  “INDUSTRY 4.0 @KORAT” ณ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาคที่ 6 อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่ภาคอีสาน ประกอบด้วย จ.อุบลราชธานี-เดชอุดม จ.ศรีสะเกษ จ.สุรินทร์ จ.ร้อยเอ็ด จ.ชัยภูมิ จ.บุรีรัมย์ จ.นครพนม  จ.สกลนคร และ จ.นครราชสีมา ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในโครงการดังกล่าว  ธนาคารมอบสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ ในงาน จำนวน 34 ราย วงเงินรวม 105.45 ล้านบาท  แบ่งเป็นโครงการสินเชื่อฟื้นฟู SMEsจากอุทกภัยและภัยพิบัติ ปี2560 จำนวน 10 ราย วงเงินรวม 24 ล้านบาท  อาทิ  ธุรกิจผลิตและจำหน่ายพริกบ่น จ.ศรีสะเกษ วงเงิน 2 ล้านบาท  ธุรกิจค้าส่งพืชผลทางการเกษตร จ.ศรีสะเกษ วงเงิน 1 ล้านบาท  และธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง จ.ศรีสะเกษ วงเงิน 1 ล้านบาท  เป็นต้น  โครงการสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จำนวน 12 ราย วงเงิน 34.05  ล้านบาท  และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของ ธพว. (SMEs Transformation Loan) จำนวน 12 ราย  วงเงิน  47.40  ล้านบาท  อาทิ บจก.ไทยวากิว จำหน่ายเนื้อโคขุน จ.สุรินทร์ วงเงิน 3.4 ล้านบาท หจก.สุรินทร์เอราวัณเทรคเตอร์ จำหน่ายอะไหล่เครื่องจักรกล จ.สุรินทร์ วงเงิน 5 ล้านบาท บจก.หมอยาไทย101 ผลิตและจำหน่ายสมุนไพรแปรรูป จ.ร้อยเอ็ด วงเงิน 2 ล้านบาท บจก.อู่ทรัพย์ การช่าง ธุรกิจอู่ต่อตัวถังรถบรรทุก/ถังน้ำมัน รถบรรทุกทั่วไป จ.นครราชสีมา วงเงิน 5 ล้านบาท เป็นต้น

ประธาน ธพว. เผยด้วยว่า สำหรับโครงการสินเชื่อฟื้นฟู SMEs จากอุทกภัยและภัยพิบัติ ปี 2560 วงเงินโครงการ 5,000 ล้านบาท เพื่อเยียวยาผู้ประกอบการประสบอุทกภัยทั่วประเทศ วงเงินกู้สูงสุดต่อราย 15 ล้านบาท ระยะเวลากู้ยืมตลอดโครงการไม่เกิน 7 ปี โดยปีที่ 1-3 คิดอัตราดอกเบี้ยที่ 3% และปีที่ 4-7 เป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด โดย 3 ปีแรกรัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้กับธนาคารในอัตรา 3% ในช่วง 3 ปีแรก โดยวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย สามารถใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันได้

กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี ระยะเวลาชำระคืน 7 ปี  ชำระเฉพาะดอกเบี้ย 3 ปีแรก  เพื่อสนับสนุนเงินทุนให้แก่เอสเอ็มอีในภูมิภาค เพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น มุ่งเน้นกลุ่มธุรกิจเป้าหมายที่เป็น 10 S-Curve และกลุ่มที่จะยกระดับและพัฒนาไปสู่ 10 S-Curve

และสินเชื่อ SMEs Transformation Loan  วงเงิน 15,000 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้ SMEs เป้าหมาย ได้แก่ ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจต้องการเงินทุนหมุนเวียนเสริมสภาพคล่อง   ผู้ประกอบการใหม่ หรือที่มีนวัตกรรม และผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพหรือมีแนวโน้มเติบโตเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0  เงื่อนไขวงเงินขอสินเชื่อได้รายละไม่เกิน 15 ล้านบาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 7 ปี อัตราดอกเบี้ยต่ำ 3% คงที่ 3 ปีแรก ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี นอกจากนี้ กรณีกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท สามารถใช้ บสย.ค้ำประกันได้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์

ทั้งนี้  ผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจเข้ารับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ   ยื่นคำขอได้ที่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือ SME กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ธพว.ทุกสาขาทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจใช้บริการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan และสินเชื่อฟื้นฟู SMEs จากอุทกภัยและภัยพิบัติ ปี 2560  หรือสินเชื่ออื่นๆ ของ ธพว. สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1357 หรือติดตามกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ facebook.com/SMEDevelopmentBank

 


แหล่งข้อมูล : มติชนออนไลน์


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …