เขื่อนอุบลรัตน์น้ำเกินความจุ เร่งระบายลงท้ายเขื่อนกระทบอีสานตอนกลาง ส่วนน้ำเหนือไหลทะลักเมืองสี่แควเข้าท่วมบ้านเรือน กรมชลฯเตรียมระบายน้ำเพิ่ม ส่งผลให้ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี และอยุธยา เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ส่วน ปภ.แจ้งเตือน 53 จังหวัดเป็นพื้นที่เสี่ยงเตรียมรับมือ

ฝนถล่มในหลายพื้นที่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังบ้านเรือนเสียหาย เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ จ.ขอนแก่น นายปรีชา จานทอง ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์อยู่ที่ 2,487.56 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 102.31 ของความจุ ขณะนี้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจังหวัดขอนแก่นมีมติร่วมกันเพิ่มการระบายน้ำเป็นวันละ 34 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้พื้นที่ อ.เมืองขอนแก่น อ.น้ำพอง และพื้นที่จังหวัดทางตอนกลางภาคอีสานจะประสบปัญหาน้ำท่วม ชาวบ้านที่อยู่ทางตอนล่างของเขื่อนอุบลรัตน์ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ทางการเกษตร

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมใน อ.กมลาไสย อ.ร่องคำ และ อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำและอยู่ติดกับแม่น้ำชี ต้องเสี่ยงกับสถานการณ์น้ำท่วมซ้ำรอบสอง เพราะปริมาณน้ำในแม่น้ำชีหนุนสูง เนื่องจากมวลน้ำไหลมาจาก จ.ชัยภูมิ และเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ไหลเข้ามาสมทบ ทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณเขื่อนระบายน้ำวังยาง อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจนเข้าสู่ระดับวิกฤติอีกครั้ง ทางจังหวัดต้องประกาศเตือนพื้นที่เสี่ยงภัย และเจ้าหน้าที่ต้องปักธงสีแดงเป็นสัญลักษณ์เตือนและเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง

จ.เลย เจ้าหน้าที่กู้ภัยร่วมใจเมืองเลย และกู้ภัยสว่างคีรีธรรม จ.เลย รับแจ้งเหตุพบชายเสียชีวิตอยู่ในซอกหินที่หมู่ 5 ต.ปลาบ่า อ.ภูเรือ จ.เลย ไปตรวจสอบพบศพนายสมพร ขานดา อายุ 48 ปี สอบสวนญาติทราบว่า เมื่อวันที่ 7 ต.ค. เกิดน้ำป่าไหลเชี่ยว ขณะนั้นผู้ตายนั่งอยู่ในเรือแล้วเกิดพลิกคว่ำจมน้ำหายไป กระทั่งชาวบ้านมาพบศพอยู่ในซอกหิน ด้าน ปภ.จังหวัดเลย สรุปผลกระทบจากเหตุน้ำท่วม 6 อำเภอ ประกอบด้วย อ.วังสะพุง อ.ภูกระดึง อ.ภูหลวง อ.ด่านซ้าย อ.ผาขาว และ อ.เมืองเลย มีผู้เสียชีวิตรวม 2 ราย และบาดเจ็บ 1 คน

นายสุเทพ รื่นถวิล หัวหน้าสำนักงาน ปภ.จังหวัด นครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ว่า มีน้ำท่วมขัง 5 อำเภอ 9 ตำบล 21 หมู่บ้าน ประกอบด้วย อ.เมือง 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 40 ครัวเรือน สาเหตุเนื่องจากลำห้วยลำเชียงไกรเอ่อล้นตลิ่ง อ.ด่านขุนทด 2 ตำบล 5 หมู่บ้าน ต.พันชนะ หมู่ 1, 2, 4 และ 5 น้ำท่วมขัง บ้านเรือนราษฎร 70 หลัง บ่อปลา 7 บ่อ น้ำท่วมถนนท้ายหมู่บ้าน หมู่ 4 ระดับน้ำสูงประมาณ 40 ซม. สถานการณ์ปัจจุบันน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง และ ต.บ้านเก่า หมู่ 7 บ้านน้อย-บ้านจงกอ น้ำท่วมขังบ้านเรือน 20 หลัง ระดับน้ำสูงประมาณ 20 ซม. ถนนหน้าวัดบ้านจงกอ น้ำท่วมสูง 10 ซม. เจ้าหน้าที่ระดมกำลังเข้าช่วยเหลือแล้ว

จ.เพชรบูรณ์ มวลน้ำป่าสักจากตอนบนไหลหลากลงมาสบทบกับมวลน้ำเดิมในตอนล่าง ส่งผลให้พื้นที่ใน ต.กองทูล อ.หนองไผ่ อยู่ติดกับลำน้ำสาขาแม่น้ำป่าสักตลอดแนวลำคลองท่วมบ้านเรือน 6 หลัง ระดับน้ำสูง 1 เมตร ชาวบ้านต้องใช้เรือท้องแบนสัญจรเข้า-ออกบ้านเป็นการชั่วคราว พื้นที่ทางการเกษตรเสียหายกว่า 3,000-4,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นนาข้าวที่ปลูกรอบ 2 ถั่วเขียว และข้าวโพดเป็นบางส่วน

จ.นครสวรรค์ ฝนตกลงมาอย่างหนัก และน้ำไหลสมทบมาจากทางภาคเหนือ ส่งผลให้แม่น้ำน่านที่ไหลผ่านล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนในพื้นที่ ต.เกรียงไกร และ ต.แควใหญ่ อ.เมืองนครสวรรค์ ประชาชนได้รับผลกระทบรวมมากกว่า 50 หลังคาเรือน บางจุดระดับน้ำลึกมากกว่า 1 เมตร ขณะที่ชาวบ้านช่วยกันสร้างสะพานไม้เป็นเดินทางเข้า-ออก อย่างไร ก็ตาม ระดับน้ำที่ท่วมยังคงมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณน้ำเหนือยังคงมีมาก มวลน้ำก้อนนี้จะไหลลงสู่ต้นแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป ส่วนสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครสวรรค์ สรุป สถานการณ์อุทกภัยใน จ.นครสวรรค์ มีพื้นที่ถูกน้ำท่วม 8 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ชุมแสง อ.เมือง อ.โกรกพระ อ.ท่าตะโก อ.พยุหะคีรี อ.ไพศาลี อ.แม่วงก์ และอ.ลาดยาว ขณะที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยนครสวรรค์ช่วยกันลำเลียงนายบัญชา ขวัญแก้ว อายุ 48 ปี ผู้ป่วยติดเตียง อยู่ในชุมชนบางปรอง เขตเทศบาลนครนครสวรรค์ ลุยน้ำออกจากพื้นที่ไปรักษาตัวที่ รพ.ร่มฉัตร กันอย่างทุลักทุเล

ส่วนชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 4 และ หมู่ 5 ต.โพนางดำออก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ต้องรีบขนย้ายสิ่งของอย่างกะทันหัน ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มวลน้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนทั้งชุมชนกว่า 70 หลังคาเรือน ระดับน้ำสูงประมาณ 60 ซม. ชาวบ้านต้องรีบขนของกันอย่างอลหม่าน และชาวบ้านบางส่วนอพยพย้ายไปอยู่บ้านญาติชั่วคราว ที่ จ.อ่างทอง สถานการณ์น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งขยายวงกว้างส่งผลกระทบชาวบ้านท่วมเดือดร้อน 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมือง อ.วิเศษชัยชาญ อ.ป่าโมก อ.ไชโย และ อ.โพธิ์ทอง 25 ตำบล 71 หมู่บ้าน บ้านเรือนเสียหาย 1,567 หลังคาเรือน ที่สถานีวัดระดับน้ำ C7A หน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง อยู่ที่ 8.46 เมตร จากระดับตลิ่ง 9.32 เมตร มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,159 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ด้านนายสุชาติ เหมดี อายุ 44 ปี ชาวบ้าน ต.ตลาดกรวด อ.เมืองอ่างทอง เปิดเผยว่า หลังน้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้าน ต้องเร่งอพยพนำสัตว์เลี้ยงทั้งสุนัขและไก่ชนไว้ริมถนนหน้าบ้าน ช่วงนี้ลำบากมากขาดน้ำกินน้ำใช้

นายศิริชัย ศรีเหนี่ยง รอง ผวจ.สิงห์บุรี ออกหนังสือด่วนที่สุดแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงให้ขนย้ายทรัพย์สิน สัตว์เลี้ยงและยานพาหนะ ไปไว้ในที่ปลอดภัยโดยด่วน เนื่องจากได้รับการประสานจากกรมชลประทาน คาดว่าจะปรับการระบายน้ำจากปัจจุบัน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 2,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะส่งผล กระทบกับประชาชนที่อยู่ริมน้ำเจ้าพระยาและกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เข้าช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนชาวบ้าน ต.บางกระบือ อ.เมืองสิงห์บุรี น้ำท่วมบ้านกว่า 100 หลัง ชาวบ้านช่วยกันนำกระสอบทรายวางแนวบนถนน ป้องกันไม่ให้เข้าท่วมเส้นทางสาธารณะที่ใช้ร่วมกัน

นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผวจ.พระนครศรีอยุธยา นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมคณะสำรวจระดับน้ำที่ไหลมาจากภาคเหนือ เพื่อป้องกันน้ำทะลักเข้าสู่โบราณสถานใน จ.พระนครศรีอยุธยา ขณะนี้น้ำเข้าท่วมวัดกษัตราธิราชวรวิหาร และวัดธรรมาราม ส่วนที่วัดไชยวัฒนาราม เจ้าหน้าที่นำบังเกอร์มากั้นสูงประมาณ 1.6 เมตร แต่ระดับน้ำไหลเชี่ยวสูงเหลือเพียง 20 ซม. จะล้นบังเกอร์ นายสุจินต์สั่งการให้เจ้าหน้าที่เพิ่มบังเกอร์ให้สูงอีก 2 เมตร เพื่อป้องกันน้ำท่วมวัดไชยวัฒนาราม พร้อมจัดกำลังเวรเฝ้าสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชม.

นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำของเขื่อน กฟผ. ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุม ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 2,488 ล้าน ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 102% สูงเกินเกณฑ์ควบคุมอุทกภัย ส่งผลให้ต้องเพิ่มการระบายน้ำ จากเดิมวันละ 25 ล้าน ลบ.ม. เป็นวันละ 28 ล้าน ลบ.ม. แต่ไม่เกินวันละ 34 ล้าน ลบ.ม. ตามมติคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำให้ระบาย จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ท้ายน้ำ ทั้งลำน้ำพองและลำพะเนียง เขื่อนจุฬาภรณ์ มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 164 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 100% เขื่อนสิรินธร มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 1,616 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 82% และเขื่อนน้ำพุง มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 166 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 100%

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า กรมชลประทานจะทยอยเพิ่มการระบายน้ำลงสู่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ตามปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นบริเวณเหนือเขื่อนจนถึงอัตรา 2,600 ลูกบาศ์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ในวันที่ 12 ต.ค.จะคงการระบายน้ำในอัตรา 2,600 ลบ.ม.ต่อวินาที ต่อเนื่องไปประมาณ 1 สัปดาห์ จะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาตั้งแต่ จ.ชัยนาท ไปจนถึง จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ 0.80-1.20 เมตร

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ปภ.ประสาน 53 จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขังในพื้นที่ราบลุ่ม และดินถล่ม แยกเป็น ภาคเหนือ 15 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่นนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี เลย อุดรธานี นครพนม และสกลนคร

ภาคกลาง 9 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม และราชบุรี ภาคตะวันออก 8 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ 7 จังหวัดได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา และภูเก็ต รวมถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล เตรียมพร้อมรับมือฝนตกชุกหนาแน่น และฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ช่วงวันที่ 11 ต.ค.นี้ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศ และจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็วเครื่องมืออุปกรณ์พร้อมปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวภายหลังการประชุม ครม.ว่า เป็นกังวลและห่วงเรื่องน้ำ เพราะประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงจากปริมาณน้ำฝนและพายุที่เข้ามาเพราะเป็นประเทศลุ่มต่ำ ต้องแยกจากกันระหว่างการแก้ไขปัญหาน้ำของรัฐบาล กับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ส่วนปัญหาพื้นที่นอกคันกั้นน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่อื่น เป็นการระบายน้ำออกด้านข้าง ถ้าน้ำฝนและพายุมาเพิ่มต้องระมัดระวัง ขอเตือนประชาชนว่า ต้องเป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน ตนเป็นห่วง ภาระรัฐบาลเวลานี้เราพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ไม่ได้มุ่งหวังให้เกิดความเสียหาย เพราะเป็นเรื่องธรรมชาติ

ด้าน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ แถลงว่า สถานการณ์น้ำขณะนี้ เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำสะสมร้อยละ 79 ยังสามารถรับน้ำได้อีกร้อยละ 20 เนื่องจากขณะนี้มีความเสี่ยงที่ต้องประสบกับสถานการณ์พายุฝน สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำในจุดที่สำคัญแล้ว จากการสำรวจพบว่าในพื้นที่ภาคอีสาน และลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ จ.เชียงราย ลงมา มีปริมาณน้ำสะสมในเขื่อนค่อนข้างมาก และใกล้เต็มความจุของเขื่อน มีแผนจะปัดน้ำผ่านทางระบายน้ำหลัก เพื่อให้น้ำไหลลงสู่แม่น้ำโขง ผ่านลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล ขณะนี้เจ้าหน้าที่ใช้เครื่องสูบน้ำทำงานอย่างเต็มที่ในการผลักดันน้ำให้ได้ตามเป้า

สำหรับพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพฯ ยังคงมีจุดเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ 3 จังหวัด ประกอบด้วย จ.นครสวรรค์ จ.ชัยนาท และ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ถือเป็นจุดสุดท้ายที่จะสังเกตว่าจะส่งผลกระทบถึงพื้นที่กรุงเทพฯหรือไม่ สามารถระบายน้ำได้เวลานี้ 2,260 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ถือว่าต่ำกว่าจุดวิกฤติที่ 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ดังนั้นจะเห็นว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝนที่เกิดขึ้น

กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ในช่วงวันที่ 12-15 ต.ค. ขอให้ประชาชนบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระวังน้ำท่วมขังและลมกระโชกแรง

วันเดียวกัน พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. เดินทางตรวจการป้องกันน้ำท่วมในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ที่วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมสั่งการให้ศูนย์การทหารม้า พล.ม.2 รอ. กรมสรรพาวุธทหารบก และ มทบ.18 ระดมกำลังทหาร ช่วยเหลือเต็มที่ ทั้งนี้ มอบให้กองกำลังรักษาความสงบ เรียบร้อยและหน่วยทหารในพื้นที่ภาคกลาง ร่วมกับป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยช่วยคลี่คลายสถานการณ์ และดูแลประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดโดยเฉพาะ จ.ลพบุรี อ่างทอง ชัยนาท และพระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำล้นตลิ่งในขณะนี้


แหล่งข้อมูล : ไทยรัฐออนไลน์


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …