เมื่อวันที่ 7 พ.ค.61 กระทรวงวัฒนธรรมทุ่ม 341 ล้านพัฒนาแหล่งประวัติศาสตร์ “นครชัยบุรินทร์” เพิ่มศักยภาพท่องเที่ยวพิมาย-พนมรุ้ง สร้างพิพิธภัณฑ์บุรีรัมย์ใหม่

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์รมว.วัฒนธรรม กล่าวภายหลังลงพื้นที่ประชุมติดตามแผนการพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์เขาพนมรุ้งและแหล่งโบราณปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทหนองหงส์ และอุทยานเขากระโดงว่า ตนได้เร่งรัดให้กรมศิลปากรจัดทำแผนโครงการพัฒนาแหล่งศิลปวัฒนธรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ใน 4 จังหวัด หรือ นครชัยบุรินทร์ ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์และชัยภูมิ  ภายใต้งบประมาณกว่า 341 ล้านบาท เริ่มดำเนินการระหว่างปี ‭‪2561-2564 ‬‬ประกอบด้วยโครงการพัฒนาแหล่งศิลปวัฒนธรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ได้แก่ โครงการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย และเสริมความมั่นคงประตูชัย คูเมืองกำแพงเมือง สระน้ำโบราณ อ.พิมาย โครงการบูรณะอุโบสถวัดศรีสุภณ อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา โครงการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ปราสาทปลายบัด ศึกษาแหล่งเตาเผาบ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ โครงการปรับปรุงและพัฒนาปราสาททนง จ.สุรินทร์ โครงการบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์โบสถ์เก่าบ้านเดื่อ รวมถึงโครงการสำรวจศึกษาธาตุเจดีย์อิทธิพลศิลปะล้านช้างในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ และโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบุรีรัมย์แห่งใหม่ รวมทั้งให้จัดทำข้อมูลเพื่อประกอบการเสนอชื่ออุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งและปราสาทเมืองต่ำเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลกให้แล้วเสร็จ เพื่อเสนอต่อองค์การยูเนสโก และชี้แจงทำความเข้าใจประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทยทั้งทับหลังปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์และทับหลังปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่ Asian Art Museumเมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

นายวีระ กล่าวต่อว่า ตนยังได้เน้นให้มีการพัฒนาและเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกับเส้นทางอารยธรรมขอมกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างรายได้กับท้องถิ่น ขณะเดียวกันยังให้ประชาชนในท้องถิ่นร่วมเป็นเจ้าบ้านที่ดี และเป็นอาสาสมัครนำชมแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์ และมีความภาคภูมิใจในมรดกของชาติ ทั้งนี้ การพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์และโบราณสถานแต่ละแห่งจะเน้นการปรับปรุงระบบนำชมและการอำนวยความสะดวกในการเข้าชม โดยเฉพาะผู้พิการ เช่น ทำการทางลาดสำหรับรถเข็นและเจ้าหน้าที่ให้บริการนำชมด้วย  อย่างไรก็ตาม จากกระแสละครอิงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาส่งผลให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางมาเข้าชมโบราณสถานในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 มากขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะปราสาทพนมรุ้งและปราสาทเมืองต่ำในช่วงเดือนมกราคม -เมษายน มีผู้เข้าชมกว่า 1 ล้านคน โดย วธ. จะมีนโยบายให้ทุกจังหวัดสร้างแผนงานรณรงค์ พร้อมหามาตรการในการเชิญชวนประชาชนเข้ามาเที่ยวในแหล่งโบราณสถานให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง  และไม่ให้กระแสการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมหยุดชะงัก  ทั้งนี้ ตนจะนำเสนอผลการติดตามการดำเนินงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร จ.บุรีรัมย์ วันที่ 8 พ.ค. นี้

น.ส. พิมพ์นารา กิจโชติประเสริฐ หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการปรับปรุงการจัดแสดงภายในศูนย์ข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งและปราสาทเมืองต่ำให้มีความทันสมัยและน่าสนใจ  จัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ โดยที่ปราสาทเมืองต่ำจัดทำทางลาด ส่วนการดำเนินงานส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมมีการใช้พื้นที่อุทยานพนมรุ้งจัดกิจกรรมประเพณีท้องถิ่นเป็นประจำทุกปี อาทิ งานรับอรุณเบิกฟ้า งานขึ้นเขาพนมรุ้งและงานประเพณีท่องเที่ยวปราสาทเมืองต่ำ ซึ่งพบว่าเศรษฐกิจชุมชนกระเตื้องขึ้นชาวบ้านมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการมากขึ้น

 


แหล่งข้อมูล : ไทยโพสต์


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …