ผลจากการที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้ทำโครงการนำร่องส่งเสริมพัฒนาโรงคัดบรรจุผักมาตรฐาน GMP ในพื้นที่ จ.พิษณุโลก และราชบุรี เพื่อต้องการให้เกษตรกรเลิกพฤติกรรมการขายผลผลิตยกเข่ง แล้วหันมาตัดแต่งพืชผักในโรงคัดบรรจุที่ได้มาตรฐาน ปรากฏผล เกษตรกรสามารถขายพืชผักได้ราคาดีกว่าผ่านพ่อค้าคนกลางแบบเหมาสวน

นายพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการ มกอช. เผยว่า ในปี 2560/2561 ได้ขยายโครงการสร้างมาตรฐานโรงคัดบรรจุให้เป็นไปตามมาตรฐาน GMP ไปยังพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ ควบคู่การพัฒนาปรับระบบการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือจีเอพี (GAP)

“ทุกๆ 1-3 เดือน มกอช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงเกษตรฯ จะจัดเวทีกลางให้กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ผู้ผลิตหรือผู้รวบรวมผักและผลไม้ ในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร ตาก เพชรบูรณ์ พิจิตร ขอนแก่น นครราชสีมา ศรีสะเกษ นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ชลบุรี สุราษฎร์ธานี และนราธิวาส นำมาตรฐานดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง เกษตรกรผู้ปลูกควบคุมดูแลการผลิตพืชผัก ผลไม้ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐานอย่างถูกวิธี และให้มีโอกาสแลกเปลี่ยน วางแผนการตลาดนำการผลิต ทำให้มีแหล่งรองรับผลผลิตที่แน่นอน ลดความเสี่ยงไม่ทำให้เกิดปัญหาสินค้าล้นตลาด”

นายพิศาล กล่าวต่ออีกว่า สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกที่พัฒนากระบวนการเพาะปลูกพืชผักได้ตามมาตรฐาน GAP และส่งผลผลิตทั้งหมดสู่โรงคัดบรรจุที่ผ่านการยอมรับ นอกจากทำให้เกิดความเข้มแข็งมีอำนาจต่อรอง ยังทำให้ตลาดและผู้บริโภคในประเทศมั่นใจคุณภาพและความปลอดภัย สินค้าเกษตรไทยยังเป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีโรงคัดบรรจุ รวบรวมพืชผักและผลไม้สดทั่วประเทศ ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP จากกรมวิชาการเกษตรไปแล้ว 481 แห่ง.

 


แหล่งข้อมูล : ไทยรัฐออนไลน์

 

 


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …