รฟท.แจงรูปแบบรถไฟยกระดับผ่านเมืองโคราช ระยะ 4.3 กม. ใช้งบกว่า 2.1 พันล้าน โครงการช้า 17-18 เดือน บทสรุปถูกท้วงติงต้องนำไปปรับรูปแบบเล็กน้อย

ที่ห้องประชุมอาเซียน ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 16 สิงหาคม นายประเสริฐ อัตตะนันทน์ รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมคณะทำงานแก้ไขปัญหาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ได้มาชี้แจงความคืบหน้าการแก้ไขรูปแบบก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงผ่านเขตเมือง นครราชสีมา โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา นายสมบูรณ์ ชัยศิรินิรันดร์ ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 5 นครราชสีมา นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา นายศิระ บุญธรรมกุล ขนส่งจังหวัดนครราชสีมา นายพรชัย ศิลารมย์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมา ที่ 2 นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนคร (ทน.) นครราชสีมา นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟังบรรยายสรุปพร้อมเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นและซักถามข้อสงสัย

นายประเสริฐ ฯ รองผู้ว่า รฟท. ในฐานะรับผิดชอบโครงสร้างพื้นฐาน กล่าวว่า รถไฟทางคู่ สามารถตอบโจทย์การเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและโดยสารทางรางได้รวดเร็ว ปลอดภัยและลดการสิ้นเปลืองพลังงานได้ดีที่สุด แต่รูปแบบโครงการรถไฟทางคู่ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ซึ่งมีระยะทางทั้งสิ้น 132 กิโลเมตร มูลค่า 24,115 ล้านบาท โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ออกแบบเป็นทางรถไฟระดับพื้นดิน ซึ่งต้องปิดจุดตัดถนนข้ามทางรถไฟพร้อมสร้างรั้วกั้นสูง 2 เมตร และก่อสร้างทางข้ามรถไฟในบางจุด ทำให้มีปัญหาเรียกร้องจากชาวโคราชและชาวสีคิ้ว ขอให้ปรับรูปแบบเป็นทางรถไฟยกระดับช่วงผ่านเขตเมือง มิเช่นนั้นจะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รฟท. จึงได้ตั้งคณะทำงาน ฯ ซึ่งเป็นวิศวกรผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่หาข้อมูลวิศวกรรมโครงสร้างและข้อดีข้อเสีย รวมทั้งผลกระทบทุกๆด้าน อย่างไรก็ตามต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ทั้งงบประมาณ ระยะเวลาการดำเนินการและสัญญาจ้างงานของโครงการรถไฟทางคู่ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ กำหนดแล้วเสร็จประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 62 และ ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี อยู่ระหว่างนำเสนอ ครม.ให้อนุมัติ คาดไม่เกิน 2 ปี และจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ที่สำคัญหัวรถจักรค่อนข้างเก่าและใช้น้ำมันดีเซลเป็นพลังงาน การยกระดับอาจมีปัญหาในสภาพความเป็นจริง ขบวนรถไฟไม่สามารถไต่ระดับได้ตามที่ต้องการ

คณะทำงานได้นำเสนอทางเลือกที่ 2 ซึ่งเป็นทางรถไฟยกระดับความยาว 4.3 กิโลเมตร งบประมาณ 2,133 ล้านบาท และทำให้โครงการต้องล่าช้า 17-18 เดือน รูปแบบเริ่มตั้งแต่หลักเสาโทรเลขรถไฟที่ 261+637 ลอดใต้ทางต่างระดับนครราชสีมาหรือสะพานถนนเลี่ยงเมือง จากนั้นจึงยกระดับความสูง 5-6 เมตร ซึ่งต้องทุบสะพานข้ามทางรถไฟโรงแรมสีมาธานีและก่อสร้างตัวอาคารสถานีรถไฟนครราชสีมา ความสูงที่สามารถรองรับ ทางรถไฟยกระดับ

จากนั้นเริ่มกดต่ำหลังผ่านจุดตัดทางข้ามรถไฟถนนพิบูลละเอียด บริเวณห้าแยกการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา (กฟภ.) เพื่อมาลงระดับพื้นดินที่สถานีชุมทางถนนจิระ ซึ่งสร้างสูงจากเดิมประมาณ 1-2 เมตร สิ้นสุดที่หลักเสาโทรเลขรถไฟ 265/919 ทำให้ไม่ต้องทุบสะพานสูงหัวทะเล แต่จุดตัดทางข้ามรถไฟถนนไชยณรงค์ บริเวณด้านหลังโรงแรมปัญจดาราและถนนเบญจรงค์ จะไม่สามารถข้ามได้ต้องใช้ถนนเลียบทางรถไฟแทน ส่วนจุดตัดทางข้ามรถไฟถนนราชดำเนิน บริเวณหน้าทางเข้าค่ายสุรนารี สร้างเป็นบล็อคความสูงประมาณ 3 เมตร นายสุรวุฒิ ฯ นายก ทน. ฯ จึงขอให้เพิ่มงบ เพื่อสร้างทางยกระดับให้ข้ามถนนเบญจรงค์และถนนไชยณรงค์ รวมทั้งความสูงของทางรถไฟยกระดับหน้าทางเข้าค่ายสุรนารี อาจมีปัญหาทำให้รถยนต์ของทหารบกที่มีความสูงมากกว่า 3 เมตร เช่นการเคลื่อนย้ายอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ จะไม่สามารถแล่นข้ามได้ นอกจากนี้นายพรชัย ฯ ผอ.แขวงทางหลวงนครราชสีมา ที่ 2 กล่าวถึงการทุบสะพานข้ามโรงแรมสีมาธานี สามารถดำเนินการได้หาก รฟท.ต้องการ แต่ต้องเตรียมแก้ปัญหาการจราจร เนื่องจากในแต่ละวันมียานพาหนะแล่นผ่านไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นคัน และต้องจัดทำทางกลับรถให้ด้วย ที่สำคัญงบดำเนินการ รฟท.ต้องรับผิดชอบทั้งหมด นายประเสริฐ ฯ รอง ผู้ว่า รฟท. จึงแจ้งให้ที่ประชุมให้รับทราบ เบื้องต้นรูปแบบทางเลือกที่ 2 ภาพรวมค่อนข้างพอใจแต่มีบางจุดต้องปรับรูปแบบให้ตรงความต้องการและเหมาะสมที่สุด กำหนดให้เสร็จทันก่อนประชุม ครม.สัญจร ในวันที่ 21-22 สค.นี้

 


แหล่งข้อมูล : มติชนออนไลน์


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …