การพิจารณาเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ซึ่งใช้ระยะเวลาประชุมยาวนานกว่า 7 ชั่วโมง ได้ข้อสรุปว่า จากการประชุมร่วมกัน 3 ฝ่ายของรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง ในคณะกรรมการค่าจ้าง ได้ข้อสรุปร่วมกันในการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ทุกจังหวัดทั่วประเทศ

เวลา 16.16 น. วันที่ 17 มกราคม นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ครั้งที่ 2/2561 ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร กระทรวงแรงงาน โดยเป็นการประชุมเพื่อหารือประเด็น การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ทั้งนี้ หลังการประชุมนานกว่า 7 ชั่วโมง ข้อสรุปอัตรา ค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 มีทั้งหมด 7 อัตรา คือ ตั้งแต่ 8-22 บาท ก่อนนำเข้า ครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้า และมีผลบังคับใช้ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นไป โดยแบ่งได้ดังนี้

  1. อัตรา 308 บาท มี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา
  2. อัตรา 310 บาท มี 22 จังหวัด คือสิงห์บุรี ตรัง ลำปาง ลำพูน ตาก ราชบุรี ระนอง ชุมพร สตูล หนองบัวลำภู พิจิตร กำแพงเพชร สุโขทัย เชียงราย อุทัยธานี ศรีสะเกษ ชัยภูมิ อำนาจเจริญ แพร่ แม่ฮ่องสอน นครศรีธรรมราช มหาสารคาม
  3. อัตรา 315 บาท มี 21 จังหวัดคือ ร้อยเอ็ด ประจวบคีรีขันธ์ นครสวรรค์ สระแก้ว พัทลุง อุตรดิตถ์ อุดรธานี นครพนม บุรีรัมย์ สุรินทร์ เพชรบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณื ชัยนาท เลย ยะโสธร พะเยา บึงกาฬา น่าน กาญจนบุรี อ่างทอง
  4. อัตรา 318 บาท มี 7 จังหวัด คือ จันทบุรี สมุทรสงคราม สกลนคร มุกดาหาร นครนายก กาฬสินธุ์ ปราจีนบุรี
  5. อัตรา 320 บาท มี 14 จังหวัด คืออุบลราชธานี สุพรรณบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา หนองคาย ลพบุรี ตราด ขอนแก่น สงขลา สุราษฎร์ธานี กระบี่ เชียงใหม่ นครราชสีมา พังงา
  6. อัตรา 325 บาท มี 7 จังหวัด คือ กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา
  7. อัตรา 330 บาท มี 3 จังหวัด คือ ภูเก็ต ชลบุรี และระยอง

นอกจากนี้ นายจักรินทร์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุมครั้งนี้ได้มีการเสนอข้อเสนอเพิ่มเติม 3 เรื่อง ด้วยกัน คือ

1. กำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ต้องมีการกำหนดโครงสร้างเงินเดือน เพื่อให้ลูกจ้างเห็นอนาคต และเป็นหลักประกันในเรื่องอัตราค่าจ้างที่จะมีการขึ้นทุกปี

2. กำหนดอัตราค่าจ้างแบบลอยตัวให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยจะมีการนำร่องในจังหวัดเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งจะทำให้สถานประกอบการได้แรงงานฝีมือที่ต้องการ ในทางหนึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาฝีมือแรงงานเพิ่มขึ้นอีกด้วย เพราะจ้างในอัตราที่สูง

และ 3. การกำหนดมาตรการลดหย่อนภาษีของผู้ประกอบการที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น ให้สามารถนำเงินดังกล่าวมาลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า

โดยข้อเสนอดังกล่าว ยังต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการค่าจ้างอีกครั้ง ซึ่งจะต้องใช้คณะกรรมการฯ ชุดใหม่ เนื่องจากคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 หมดวาระแล้ว

อย่างไรกตาม ก่อนหน้านี้ พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเมื่อได้ข้อยุติ วันที่ 17 ม.ค. แล้ว จากนั้นจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์ถัดไปวันที่ 23 ม.ค. 2561 ก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ ในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวว่า ได้ให้นโยบายบอร์ดไตรภาคีว่า ให้พิจารณาโดยยึดหลักความเป็นธรรม ให้ลูกจ้างมีรายได้สำหรับการครองชีพเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างอยู่ได้ เกณฑ์การพิจารณาค่าแรง จะมาจากกรอบของแต่ละจังหวัด ที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอ โดยพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และอัตราการเติบโต ทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการหดตัวทางเศรษฐกิจด้วย รวมทั้งจะทำตามกรอบนโยบายของรัฐบาล คือลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และนายจ้างสามารถประกอบธุรกิจได้ ขยายกิจการได้ โดยจะเป็นการปรับขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์ที่เท่ากัน ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยยึดฐานอัตราค่าแรงเดิมของแต่ละพื้นที่ ไม่ใช่ปรับอัตราค่าจ้างเป็นอัตราเดียวเท่ากันทั้งประเทศ

 


แหล่งข้อมูล : ประชาชาติธุรกิจ


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …