ทางหลวงขานรับมติ ครม.เร่งสร้างมอเตอร์เวย์ “บางใหญ่-กาญจน์” ปรับแผนอัดงบฯเวนคืนเพิ่มเท่าตัว เป็น 1.2 หมื่นล้าน เผยเกณฑ์คำนวณค่าชดเชยแจกแหลกค่าที่ดิน-ค่าเสียโอกาสทางธุรกิจ ผ่าดงจัดสรร สวนกล้วยไม้ส่งออก ฟาร์มหมู-ไก่ โรงงานทอผ้า ตั้งเป้าจ่ายครบ มี.ค. 60 ส่วน “บางปะอิน-โคราช” ฉลุย

นายเสน่ห์ นิ่งใจเย็น ผู้อำนวยการสำนักจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน กรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กำลังเร่งเวนคืนที่ดินมอเตอร์เวย์ เส้นทางบางปะอิน-โคราช ระยะทาง 196 กม. กับบางใหญ่-กาญจนบุรี 96 กม. เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมาเริ่มงานก่อสร้างโครงการ โดยตั้งเป้าทั้ง 2 โครงการเวนคืนให้แล้วเสร็จในปี 2560

 

บางปะอิน-โคราชฉลุย

ปัจจุบันกรมได้จ่ายค่าชดเชยให้สายบางปะอิน-โคราชแล้ว 2,838 ราย วงเงิน 2,151 ล้านบาท หรือ 43% จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกรอบวงเงินให้ทั้งโครงการ 6,630 ล้านบาท มีผู้ถูกเวนคืน 6,601 ราย แยกเป็นพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา 1,099 ราย สระบุรี 3,012 ราย นครราชสีมา 2,490 ราย

“การเวนคืนที่ดินสายบางปะอิน-โคราชง่ายและเร็วกว่าสายบางใหญ่-กาญจน์ เพราะส่วนใหญ่เป็นพื้นที่โล่ง ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งกรมจ้างที่ปรึกษาสำรวจและประเมินราคาให้ จะทยอยเวนคืนส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค. 60”

 

บางใหญ่-กาญจน์งบฯบาน

นายเสน่ห์กล่าวอีกว่า ขณะที่มอเตอร์เวย์ บางใหญ่-กาญจนบุรี กรมสำรวจพื้นที่และทำการเวนคืนที่ดินเอง เบื้องต้นพบว่าตลอดเส้นทาง 96 กม. มีผู้ถูกเวนคืน 7,263 ราย แยกเป็นพื้นที่ จ.นนทบุรี 1,210 ราย วงเงินกว่า 3,817 ล้านบาท, นครปฐม 3,617 ราย วงเงินกว่า 7,562 ล้านบาท, ราชบุรี 502 ราย วงเงินกว่า 360 ล้านบาท และกาญจนบุรี 1,934 ราย วงเงินกว่า 1,200 ล้านบาท โดยค่าชดเชยเพิ่มขึ้น 7,520 ล้านบาท จาก 5,420 ล้านบาท เพิ่มเป็น 12,940 ล้านบาท เนื่องจากกรอบวงเงินเดิมบริษัทที่ปรึกษาประเมินไว้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว

“ค่าเวนคืนที่เพิ่มขึ้นจะของบฯจาก 3 ส่วน คืองบฯกลางปี′60 งบฯประจำปี และงบฯค่าก่อสร้างที่เหลือจากโครงการอื่น”

สาเหตุค่าเวนคืนเพิ่มเนื่องจากกรมธนารักษ์ปรับราคาประเมินที่ดินใหม่ประจำรอบปี2559-2562เฉลี่ยทั้งประเทศสูงขึ้น 27% ขณะที่ทำเลโครงการพาดผ่านมีราคาซื้อขายในตลาดสูงกว่าราคาประเมิน 2-3 เท่า โดยเฉพาะย่านบางใหญ่ที่มีรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน) มีหมู่บ้านจัดสรรเกิดขึ้นมาก ทำให้ราคาซื้อขายที่ดินสูงเป็นเงาตามตัว ราคาแพงที่สุดอยู่ที่ ถ.กาญจนาภิเษกกับ ถ.รัตนาธิเบศร์เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท/ตร.ว. หรือพื้นที่ จ.นครปฐม จาก ตร.ว.ละ 880 บาท ก็ปรับเพิ่มขึ้นเป็น ตร.ว.ละ 3,500 บาท

 

ค่าเวนคืนพุ่ง 50%

และมีการปรับเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยใหม่ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงคมนาคมออกมาเมื่อปี 2556 โดยจ่ายทั้งตามเกณฑ์ราคาประเมินที่ดิน ราคาซื้อขายตลาด และมูลค่าการเงินและเศรษฐกิจ รวมถึงค่าเสียหายของทรัพย์สินหรือค่าเสียโอกาสจากการเวนคืนไม่เต็มแปลง ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เหลือของผู้ถูกเวนคืนลดลง ในส่วนนี้กรมจ่ายเพิ่มให้ได้ไม่เกิน 50% เช่น มีที่ดิน 10 ไร่ ถูกเวนคืน 4 ไร่ เหลือ 6 ไร่อาจมีผลทำให้เป็นที่ตาบอดเพราะสร้างมอเตอร์เวย์ปิดทางเข้า-ออก ก็จะได้รับเงินชดเชยเพิ่ม

“นอกจากค่าเสียโอกาสแล้ว ยังมีเกณฑ์ชดเชยค่าเสียหายทางธุรกิจด้วย กรณีสายบางใหญ่-กาญจนบุรี คำนวณค่าชดเชยเพิ่มให้เนื่องจากแนวเส้นทางตัดผ่านพื้นที่สวนกล้วยไม้ส่งออก 10 สวน ฟาร์มไก่ ฟาร์มเลี้ยงหมู โรงงานย้อมผ้า โรงงานปุ๋ย โรงงานผสมน้ำมันเชื้อเพลิง”

นายเสน่ห์กล่าวว่า ผู้ที่ได้รับค่าชดเชยเป็นผู้ถูกเวนคืนก่อน พ.ร.ฎ.เวนคืนประกาศใช้ในปี 2556 ได้จ่ายแล้ว 623 ราย วงเงินกว่า 1,670 ล้านบาท ที่เหลือจะทยอยให้เสร็จก่อน พ.ร.ฎ.เวนคืนจะหมดอายุใน ก.ย. 2560 โดยเสนอขอขยายอายุ พ.ร.ฎ.เวนคืนออกไปถึงเดือน ก.ย. 2561

 

ทยอยก่อสร้าง 2 เฟส

ส่วนการก่อสร้างมีการปรับตามความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่ แบ่งเป็น 2 เฟส เริ่มสร้างช่วงพื้นที่ที่มีทางคู่ขนานและมีทางเข้า-ออกเพื่อให้ประชาชนเข้ามาใช้ได้หลังสร้างเสร็จ เฟสแรกเริ่มช่วง อ.ท่าม่วงถึง อ.เมือง กาญจนบุรี ตั้งแต่ กม.ที่ 77-96 สร้างเป็นทางแยกต่างระดับ จากนั้นกระจายก่อสร้างในพื้นที่ อ.นครชัยศรี ไล่ระยะทางมาชนกับ ถ.เพชรเกษมและ จ.นครปฐม ส่วนเฟส 2 ก่อสร้างส่วนที่เหลือจาก อ.ท่ามะกา มายัง อ.บางใหญ่ เป็นทางต่างระดับเชื่อมกับ ถ.รัตนาธิเบศร์กับ ถ.วงแหวนรอบนอกตะวันตก คาดว่าเริ่มสร้างปี 2560 ตามแผนทั้งโครงการแล้วเสร็จปี 2562

“บางใหญ่เป็นจุดสุดท้ายที่ก่อสร้างเพราะค่าเวนคืนสูง ขณะที่กรมมีงบประมาณปี′59 จำกัด ต้องรองบปี′60 มาจ่ายค่าเวนคืน”

 

กำหนดเปิดบริการปี′63

นายกมล หมั่นทำ รองอธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ภายในเดือน ธ.ค.นี้เตรียมเซ็นสัญญาก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช กับบางใหญ่-กาญจนบุรี ครบทั้ง 65 สัญญา ขณะนี้เริ่มทยอยให้ผู้รับเหมาที่เซ็นสัญญาไปแล้วเข้าพื้นที่ก่อสร้าง ใช้เวลาก่อสร้างเฉลี่ย 30 เดือน หรือ 2 ปีครึ่ง ยกเว้นงานสะพานใช้เวลา 36 เดือน หรือ 3 ปี มีกำหนดสร้างเสร็จเดือน ต.ค. 2562 แนวทางดำเนินการควบคู่กับการหาเอกชนบริหารจัดการและบำรุงรักษาโครงการ กำหนดเปิดบริการเต็มรูปแบบในปี 2563

อย่างไรก็ดี กรมทางหลวงได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ผลพวงจากค่าเวนคืนที่ดินเพิ่มสูงขึ้นของสายบางใหญ่-กาญจนบุรี อาจกระทบต่อแผนก่อสร้างโครงการทำให้ต้องล่าช้าออกไปจากแผนเดิม 1 ปี เนื่องจากยังไม่รู้ว่ารัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ได้มากน้อยแค่ไหน

 

แหล่งข้อมูลและภาพประกอบ : ประชาชาติธุรกิจ 


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …