โคราชเร่งศึกษาแผนแม่บทจราจร ระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองรอบสุดท้าย คืบหน้าแล้ว 70% คาดภายใน 1 เดือนได้ข้อสรุป พร้อมเร่งหาเจ้าภาพนำเสนอรัฐบาลอนุมัติงบฯ ก่อสร้าง ด้าน ม.เทคโนโลยีสุรนารี ทีมที่ปรึกษาเผยประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับระบบรถไฟรางเบา เสนอให้ก่อสร้าง 3 เส้นทางหลัก ระบุเริ่มต้นทำวันนี้อีก 10 ปีได้ใช้ครบทั้งระบบ มั่นใจเกิดผลดีทั้งช่วยแก้ปัญหาจราจรและพัฒนาเมือง

ศาสตราจารย์ ดร.สุขสันต์ หอพิบูลสุข ผู้จัดการโครงการศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา สำนักงานวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา และโครงการนำร่อง 1 เส้นทาง ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 14 เดือน ( 4 ม.ค. 2559-3 มี.ค. 2560) วงเงินว่าจ้าง 43.7 ล้านบาท ขณะนี้การศึกษามีความคืบหน้าไปแล้ว 70% ซึ่งจะมีการสรุปผลการศึกษาอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2559 นี้

ปัจจุบันในเขตเมืองนครราชสีมา มีปัญหาการจราจรติดขัด วันนี้สิ่งที่สามารถทำได้คือกำหนดแผนจราจรให้บูรณาการ โดยแบ่งการแก้ไขปัญหาออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ การเร่งดำเนินการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบนอกให้เต็มวงโดยเร็วที่สุด เพื่อลดปริมาณรถยนต์ที่ผ่านเมืองโคราช ให้สามารถระบายรถที่มาจากต่างจังหวัดและต้องการวิ่งผ่านเมืองโคราชโดยที่ไม่ต้องเข้ามาใช้เส้นทางในเขตตัวเมือง

ส่วนที่ 2 คือการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตเมืองโดยได้ทำการศึกษาไว้แล้ว3 เส้นทางหลัก ซึ่งเป็นเส้นทางที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นไว้แล้วจากการประชุมตั้งแต่เริ่มการศึกษาโครงการจนถึงปัจจุบันว่าเส้นทางที่นำเสนอมีความเหมาะสมหรือไม่ซึ่งระบบขนส่งที่นำเสนอนั้นจะคำนึงถึง 2 เรื่องคือ 1.เมืองเก่าต้องไม่ตาย คนสามารถเดินเข้าสู่เมืองเก่าได้ 2.การจัดทำขนส่งสาธารณะ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ

 

สำรวจแนวก่อสร้าง 3 สายหลัก

สำหรับเส้นทางหลักที่วางไว้นั้นมีปริมาณการจราจรที่หนาแน่น 3 เส้นทาง คือ

  1. สายสีม่วง เริ่มต้นเส้นทางจากตลาดเซฟวัน-ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์-ห้างสรรพสินค้า Terminal 21-สี่แยกประโดก-ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลโคราช-สี่แยกจอหอ-ค่ายสุรนารายณ์ (ซอยไนท์บ้านเกาะ) และสิ้นสุดเส้นทางที่สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์
  1. สายสีเขียว เริ่มต้นเส้นทางจากสถานีการทดลองการใช้น้ำชลประทานที่ 3 (บ้านห้วยยาง)-ร้านของฝากเตียหงี่เฮียง (เจ้าสัว)-ตลาดเซฟวัน-วัดใหม่อัมพวัน-สวนสาธารณะภูมิรักษ์-ตลาดสวายเรียง-สถานีรถไฟนครราชสีมา-ห้าแยกหัวรถไฟ-เทศบาลนครนครราชสีมา-ตลาดแม่กิมเฮง-อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี-โรงเรียนสุรนารีวิทยา-มรภ.นครราชสีมา-หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา-สี่แยกจอหอสิ้นสุดเส้นทางที่สำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมาแห่งที่2(จอหอ)
  1. สายสีส้ม เริ่มต้นเส้นทางจากดูโฮม-สุสานเม้งยิ้น-แยกถนนสรรพสิทธิ์-ถนนพลล้าน-ถนนอัษฎางค์-ห้างสรรพสินค้าคลังพลาซ่า1-อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี-สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่1-ห้างสรรพสินค้าTerminal21-สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 2-สี่แยกประโดก-โรงแรมวีวัน-โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา-วิทยาลัยอาชีวศึกษา-ถนนชุมพล-ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมาสิ้นสุดเส้นทางที่ถนนมหาดไทย


ชี้ระบบรางเบาเหมาะสมสุด

ศาสตราจารย์ดร.สุขสันต์กล่าวอีกว่าจากการทำการศึกษาและรับฟังการมีส่วนร่วมของประชาชนมีแนวทาง 2 ระบบ คือ ระบบรถบัส และระบบรถไฟ ซึ่งทั้ง 2 ระบบจะนำมาพิจารณา 2 ส่วน คือ ค่าก่อสร้างและค่าบำรุงรักษา เมื่อนำมาวิเคราะห์แล้วพบว่าค่าก่อสร้างระบบรถบัสจะมีราคาถูกกว่า แต่ค่าบำรุงรักษาและค่าบริหารจัดการของระบบรถไฟจะมีต้นทุนต่ำกว่าและมีอายุการใช้งานที่นานกว่าระบบรถบัส สำหรับเรื่องสาธารณูปโภคการลงทุนการก่อสร้าง ภาครัฐจะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณและระบบ หลังจากนั้นท้องถิ่นจะเป็นผู้ดูแลรักษา

“วันนี้ทีมที่ปรึกษาโครงการได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลแล้วพบว่าควรจะเป็นระบบรางเบาและเป็นล้อเหล็กที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่าทั้งนี้ยังต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งที่ผ่านมาทั้ง4 ครั้งด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับระบบรางเบา แต่จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดและสรุปเป็นแผนผังความคิดเห็น คาดว่าภายใน 1 เดือนนี้จะทำการชี้แจงและเผยแพร่ร่างแผนแม่บทระบบขนส่งจราจรในเขตเมืองนครราชสีมาให้รับทราบโดยทั่วกัน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ชอบธรรมและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม”

 

เริ่มทำวันนี้อีก 10 ปีได้ใช้

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาจราจรแบบบูรณาการต้องทำ 2 แนวทาง คือ การก่อสร้างวงแหวนรอบนอกเพื่อให้รถที่ไม่เกี่ยวข้องวิ่งออกจากตัวเมือง ส่วนภายในเมืองจะบริหารจัดการโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นระบบรางเบา (Light Rail Transit : LRT) โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะต้องสรุปความเห็นของทุกฝ่ายออกมาให้ชัดเจน และต้องหาเจ้าภาพในการนำเสนอแผนแม่บทต่อรัฐบาล เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณการลงทุนก่อสร้างต่อไป คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีก 4-5 ปีจึงจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ และการลงทุนก่อสร้างจะแบ่งเป็นเฟส ซึ่งโครงการจะแล้วเสร็จครบทั้ง 3 เส้นทางประมาณ 10 ปี ส่วนงบประมาณการก่อสร้างจะต้องศึกษาอีกครั้ง และให้มีการเวนคืนน้อยที่สุด

“ทีมที่ปรึกษานำเสนอไว้ 3 ระบบ คือ ระบบบนพื้นดิน ใต้ดิน และลอยฟ้า แต่ระบบที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย และมีความเหมาะสมมากที่สุดในตอนนี้คือ ระบบบนพื้นดิน เพราะมีต้นทุนถูกกว่า และค่าเวนคืนที่น้อยกว่า อีกทั้งถ้าเป็นแบบอุโมงค์หรือใต้ดิน ต้นทุนก่อสร้างค่อนข้างสูงจะกระทบไปถึงเรื่องราคาค่าโดยสาร หรือถ้าเป็นระบบลอยฟ้าก็จะกระทบกับทัศนียภาพของเมือง ซึ่งโคราชเป็นเมืองเก่าจะถูกควบคุมด้วยระบบกฎหมายผังเมืองห้ามมีระบบลอยฟ้า”

 

ระบบขนส่งช่วยพัฒนาเมือง

ศาสตราจารย์ดร.สุขสันต์กล่าวด้วยว่าจังหวัดนครราชสีมาต้องเร่งทำระบบขนส่งสาธารณะโดยด่วนเพราะเส้นทางบางเส้นการจราจรติดขัดมากแต่บางเส้นยังพอวิ่งได้ดี นอกจากนี้ยังจะมีอาคารเกิดขึ้นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น Terminal 21 เซ็นทรัลพลาซาโคราช และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีที่กำลังจะมีการก่อสร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่วงเงิน 4,000 ล้านบาท ในอนาคตอันใกล้นี้จะทำให้การจราจรติดขัดไปทั้งเมือง จึงต้องวางระบบให้ดีเพื่อป้องกันปัญหารถติด

ทั้งนี้ ระบบขนส่งสาธารณะไม่เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาจราจรแต่เป็นการพัฒนาเมืองอีกทางหนึ่งด้วย ทำให้เศรษฐกิจด้านต่าง ๆ โตขึ้น เพราะทุกคนสามารถลงสถานีที่ตัวเองต้องการจะลงได้ ร้านค้าจะขายของได้ดีขึ้น และเมื่อมีระบบรถไฟก็จะเกิดศูนย์การค้าในสถานี ซึ่งจะเกิดเป็นย่านธุรกิจใหม่ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจภาพรวมดีขึ้นตามไปด้วย

 

 

prachachartlogo

แหล่งข้อมูล : ประชาชาติธุรกิจ


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …