หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ทำข้อตกลงร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในการขอใช้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างหอดูดาวในส่วนภูมิภาคสำหรับประชาชนขึ้น โดยวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการกระจายศูนย์การเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ไปยังส่วนต่างๆ ตามภูมิภาค มีรูปแบบการให้บริการทางดาราศาสตร์ที่ครบวงจร ตั้งแต่การจัดกิจกรรมดูดาวสำหรับประชาชนทั่วไป การจัด  ค่ายวิชาการทางดาราศาสตร์แก่นักเรียนในระดับต่างๆ รวมไปถึงการจัดกิจกรรมสัมมนาทางวิชาการและการสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยทางด้านดาราศาสตร์

โดยเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2557 หอดูดาวได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการให้บริการกิจกรรมทางดาราศาสตร์ และการเผยแพร่ความรู้ทางดาราศาสตร์แก่ประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษา และหน่วยงานในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียง โดยภายในหอดูดาวมีส่วนจัดแสดง และจัดกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้

Z_IPI1650

ส่วนแสดงนิทรรศการทางดาราศาสตร์

ภายในอาคารนิทรรศการนี้มีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับอุกกาบาตแคมโปเดลเซียโล่ จากประเทศอาร์เจนติน่า ซึ่งตกลงมายังโลกเมื่อ 4,000 – 5,000 ล้านปีมาแล้ว เป็นอุกกาบาตลูกใหญ่สุดที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) นำเข้ามายังประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีเทคไทต์ (Tektite) หรืออุลกมณี ซึ่งเป็นวัตถุที่เกิดจากการพุ่งชนของอุกกาบาตเมื่อหลายล้านปีที่แล้ว เมื่ออุกกาบาตที่ร้อนจัดชนกับดินและทรายบนพื้นโลกจะเกิดการหลอมละลายและกระเด็นขึ้นไปบนท้องฟ้าแล้วตกลงมาเป็นก้อนเล็กๆ และพบเห็นได้ทั่วไปโดยเฉพาะในเขตภาคอีสานของไทย

Z_IPI1680

ท้องฟ้าจำลองระบบดิจิตอลความละเอียด 25 ล้านพิกเซล

ภายใต้หลังคาโค้งรูปโดม เป็นห้องท้องฟ้าจำลองระบบดิจิตอลความละเอียดสูงแห่งแรกของไทย ซึ่งสามารถฉายภาพกลุ่มดาวในระบบดิจิตอลด้วยความละเอียด 25 ล้านพิกเซล พร้อมกับฉายภาพยนตร์สารคดีแบบเต็มโดมรอบตัวผู้เข้าชม (Full Dome) 360 องศา ถึงแม้ในปัจจุบันจะยังคงมีเพียงภาพยนตร์สารคดีสั้นภาคภาษาอังกฤษ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสำรวจดวงจันทร์จากยานอวกาศถ่ายภาพระยะใกล้ (Lunar Reconnaissance Orbiter : LRO) เท่านั้น แต่ในอนาคตอันใกล้จะเริ่มมีการนำภาพยนตร์สารคดีเรื่องอื่นๆ มาฉายเพิ่มเติม ส่วนบริเวณทางเดินรอบๆ ห้องท้องฟ้าจำลองนั้นมีการจัดแสดงภาพถ่ายทางดาราศาสตร์จากฝีมือนักถ่ายภาพดาราศาสตร์ในเมืองไทย และภาพปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ 12 ปรากฎการณ์

ZIMG_9298 (1)

ดูดาวจริงผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่

อาคารที่ถือเป็นไฮไลท์สำคัญของที่นี่นั่นก็คือ อาคารหอดูดาว ลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น เมื่อเดินขึ้นบันไดไปยังชั้นที่ 2 ทางด้านขวามือเป็นลานจัดกิจกรรมดูดาวพร้อมกล้องโทรทรรศน์จำนวน 5 ตัว มีขนาดแตกต่างกันตามแต่ละประเภทของวัตถุท้องฟ้าเพื่อความเหมาะสมในการศึกษาและเฝ้าสังเกตวัตถุ อีกฝั่งของอาคารหอดูดาว ทางด้านซ้ายมือจะเป็นทางเข้าหอดูดาว ที่ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของกระจกรับภาพ 0.5 เมตร เป็นกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุดอีกหนึ่งแห่งในประเทศไทย ควบคุมการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ เปิดให้ผู้สนใจได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่จากการส่องดูวัตถุท้องฟ้าในห้วงอวกาศลึก (Deep Sky Object) ผ่านกล้องโทรทรรศน์โดยตรง ตลอดจนการเก็บข้อมูลทางดาราศาสตร์เพื่อใช้ทำโครงงานวิจัยของนักเรียน นักศึกษา

Z_MG_6535 Z_MG_3318

สำหรับผู้ที่สนใจควรสอบถามตารางกิจกรรมจากเจ้าหน้าที่ก่อนล่วงหน้า หรือดูตารางกิจกรรมจากหน้าเว็บไซต์ www.narit.or.th/korat โดยเฉพาะกิจกรรมการดูดาวในภาคกลางคืน และการเข้าชมท้องฟ้าจำลอง โดยสามารถติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 044-216-254 ในวันและเวลาราชการ และทาง email : smanchan@narit.or.th

 ที่มา : www.moremove.com


Comments are closed.

Check Also

มอเตอร์โชว์โคราช จัดยิ่งใหญ่ที่สุดในอีสาน 29 มี.ค. – 6 เม.ย. 67 ที่เดอะมอลล์โคราช

ปีนี้ต้องออกรถใหม่ป้ายแดง รถเยอะสุดตั้งแต่จัดมา มอเตอร์ … …