หลัง พ.ศ. 2456 ชาวโคราชมีนามสกุล ตามประกาศพระราชบัญญัติขนานนามสกุล สมัย ร.6 นามสกุลของชาวโคราช สมัยแรกๆ มีลักษณะพิเศษบ่งชี้ภูมิประเทศของถิ่นกำเนิดเป็นสำคัญ ดูได้จากส่วนท้ายของนามสกุล เช่น เป็นชื่ออำเภอของผู้เป็นต้นสกุล ดังต่อไปนี้

 

untitled-2-01
1. “กลาง” เดิมชื่อ มณฑลลาวกลาง เช่น นามสกุลขอใยกลาง, จงจุลกลาง

ในปีพ.ศ. 2459 พระยากำธรพายัพทิศ ได้พิจารณาว่าสถานที่ตั้งที่ว่าการอำเภอทับที่วัดร้างอยู่ เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อสถานที่จึงได้เสนอขอเปลี่ยนจาก อำเภอกลาง เป็นอำเภอโนนวัด

ต่อมาในปี พ.ศ. 2487 นายชม วัลลิภากร นายอำเภอโนนวัด ได้เปลี่ยนชื่อ อำเภอโนนวัด เป็นอำเภอโนนสูง สืบถึงปัจจุบัน

 

untitled-3-01

2. “กระโทก” ในอดีตมีฐานะเป็นด่าน คือ ด่านกระโทก เช่น นามสกุล ข้องกระโทก, โฮกกระโทก

ต่อมาทางราชการพิจารณาเห็นว่า คำว่า “กระโทก” มีสำเนียงและความหมายไม่เหมาะสม และเพื่อให้เป็นไปตามความหมายเชิงประวัติศาสตร์ในอันที่จะให้อนุชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงความเป็นมาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีผู้ประกอบคุณงามความดีให้กับประเทศชาติและทำการรบได้ชัยชนะณ ที่แห่งนี้จึงได้เปลี่ยนนามอำเภอใหม่ว่า “อำเภอโชคชัย”

 

untitled-4-013. “ขุนทด” หมายถึง “ด่าน” มีขุนทดเป็นผู้ปกครองดูแล เช่น นามสกุล พาทขุนทด, ผูกขุนทด

สันนิษฐานว่าเป็นช่วงของแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากพระยายมราชให้เป็นผู้ปกครองดูแล “ด่าน” นี้เป็นด่านแรก นอกจากทำหน้าที่ปกครองดูแลรักษาด่านแล้ว “ขุนทด” ยังมีหน้าที่เก็บภาษีอากรส่งให้เมืองนครราชสีมา

 

untitled-5-014. “จันทึก” เดิมเป็นเมืองหน้าด่านในดินแดนแถบภาคอีสาน ชื่อว่า “เมืองนครจันทึก” เช่น นามสกุล เผือกจันทึก, ฝาดจันทึก

ต่อมาเมื่อได้ตั้งเมืองนครราชสีมาขึ้นดูแลหัวเมืองต่างๆ ทางที่ราบสูง จึงเปลี่ยนเป็นเมืองหน้าด่าน เรียกว่า “ด่านจันทึก” เมื่อยกเลิกด่านแล้ว ได้เปลี่ยนเป็นอำเภอ เรียกว่า “อำเภอจันทึก” เนื่องจากบ้านจันทึกและบ้านหนองบัวตั้งอยู่ในเขตดงพญาเย็น (พญาไฟ) มีไข้ป่า (มาลาเรีย) ชุกชุมเป็นที่เกรงกลัวของข้าราชการยิ่งนัก จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งที่บ้านสีคิ้ว แล้วเปลี่ยนชื่ออำเภอจันทึก เป็น อำเภอสีคิ้ว จนถึงปัจจุบันนี้

 

untitled-6-015. “ไธสง” มาจากคำว่า “พุทไธสง” เช่น นามสกุล น้อยไธสง, ตลุกไธสง

เมืองพุทไธสง เป็นเมืองเก่า ต่อมาได้ร้างไป ในสมัยการปกครองแบบมณฑลขึ้นต่อเทศาภิบาลเมืองแปะ

ต่อมา พ.ศ. 2342 รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้เพี้ย ศรีปาก เป็นพระยาเสนาสงคราม เจ้าเมืองคนแรกของพุทไธสง และได้ยกฐานะเป็นอำเภอพุทไธสง ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในเขตการปกครอง จ.บุรีรัมย์

 

untitled-7-016. “นอก” ในอดีตมีฐานะเป็นด่าน ชื่อว่า “ด่านนอก” เช่น นามสกุล จันทร์นอก, กลนอก

ต่อมาปี พ.ศ. 2499 ได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอ ชื่อว่า อำเภอด่านนอก พ.ศ. 2455 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอด่านนอก มาตั้งอยู่ที่บ้านบัวใหญ่ และได้เปลี่ยนชื่อจากอำเภอด่านนอก มาเป็นอำเภอบัวใหญ่

 

untitled-8-017. “สันเทียะ” เดิมเรียกว่า “แขวงสันเทียะ” เช่น นามสกุลถนอมสันเทียะ, ขอสันเทียะ

เล่ากันว่าเดิมเป็นที่อยู่ของชาวกัมพูชา ที่มาอาศัยต้มเกลือสินเธาว์เพื่อนำไปขาย และอาศัยน้ำจากลำห้วยทางเหนือของหมู่บ้านในการหุงต้มเกลือและอุปโภคบริโภค คำว่า “ทันเทียะ” จึงเป็นภาษาเขมร แปลว่า ที่ต้มเกลือสินเธาว์ และยังมีผู้เพิ่มเติมว่า “สันเทียะ” อาจเอามาจากสภาพพื้นดินของอำเภอเนื่องจากโดยทั่วไปพื้นดีเป็นดินเค็ม

นอกจากนี้คำว่า “สันเทียะ” ยังมาจากสภาพภูมิอากาศในภาษาลาว แปลว่า บ้านที่ตั้งอยู่บนสันโนนที่ดิน และเนื่องจากพื้นดินเป็นดินปนทราย เมื่อถึงฤดูฝนจะชื้นแฉะไปทั่วทั้งหมู่บ้าน

 

untitled-9-018. “สูงเนิน” เดิมเรียกว่า เมืองเสมา

เมืองเดิมตั้งอยู่ที่ตำบลสูงเนิน ครั้นสร้างเมืองนครราชสีมาจึงย้ายมาอยู่เมืองใหม่ เมืองเสมา จึงเป็นกลายเป็นเมืองเก่า

ต่อมาเปลี่ยนฐานะเป็นอำเภอและไดัตั้งชื่อตามชื่อที่ตั้งที่ว่าการอำเภอว่าอำเภอสูงเนินเช่นนามสกุล ดีสูงเนิน, ฝากสูงเนิน

จากส่วนท้ายนามสกุลมีความหมายถึงสภาพทางภูมิศาสตร์ สภาพวัฒนธรรม ซึ่งเป็นชื่อเมือง แขวง และด่านในสมัยที่ปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล แขวง และด่าน ในสมัยที่ปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล เมื่อเปลี่ยนการปกครองแบ่งเป็นอำเภอ แต่ยังใช้ชื่อท้องถิ่นเดิมนั้น ๆ เมื่อตั้งนามสกุลประชาชนจังหวัดนครราชสีมา เสนาบดีเจ้าเมืองใช้เกณฑ์ภูมิลำเนาให้ประชาชนแต่ละตำบลในเวลานั้นมีส่วนท้ายของนามสกุลตั้งตามถิ่นที่อยู่อาศัยถึงแม้จะมีการเปลี่ยนชื่ออำเภอหรือมีการแบ่งเขตอำเภอขึ้นใหม่ตามจำนวนประชากรต่อพื้นที่นั้น ๆ แต่นามสกุลประชาชนจังหวัดนครราชสีมาก็ยังสามารถบอกถิ่นที่อยู่ได้

นอกจากส่วนท้ายแล้ว จะเห็นว่าส่วนแรกและส่วนกลางของนามสกุลชาวโคราช ยังบ่งชี้วัฒนธรรมด้านอื่นๆ ด้วย

(สรุปจากนามสกุลประชาชนจังหวัดนครราชสีมา : การวิเคราะห์ทางอรรถศาสตร์ชาติพันธุ์ โดย พรทิพย์ ครามจันทึก วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย ภาควิชาภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2548 หน้า 87-89)

ขอบคุณที่มาจากหนังสือ “โคราชของเรา” โดยขรรค์ชัย บุนปาน บรรณาธิการอำนวยการ, สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ  สำนักพิมพ์มติชน สั่งชื้อหนังสือส่งตรงถึงบ้านได้ที่ www.matichonbook.com


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …