ถ้าจะกล่าวว่าการมาถึงของ The Mall Korat เปลี่ยนชีวิตคนโคราชไปทั้งเมืองก็คงไม่ผิดนัก
ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น … หลายคนมีงานทำ มีแหล่งช้อปปิ้งใกล้บ้าน มีสนามเด็กเล่นติดแอร์ให้เด็กๆ มีที่พักผ่อนหย่อนใจคลายร้อน ฯลฯ หรือในทางที่แย่ลง … รถติด คนเยอะ ทำให้ร้านค้าท้องถิ่นเจ๊ง หรือทำให้คนเมืองย่าฟุ้งเฟ้อ ฯลฯ แต่ไม่ว่าอย่างไร การมาถึงของ The Mall Korat คือปรากฏการณ์เริ่มต้นที่เปลี่ยนชีวิตคนโคราชไปตลอดกาล หากเปรียบห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่แห่งนี้เป็นเมืองๆ หนึ่ง เรื่องราวที่ถัดจากหน้ากระดาษนี้คือเมืองที่สร้างมาจากความตั้งใจจริงและอุตสาหพยายามมาตลอด 16 ปีเต็ม ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ นานา ทั้งสุข เศร้า ดีใจ เสียใจ ที่ร้อยเรียงกันไปไม่รู้จบ … ขอให้สนุกเพลิดเพลินกับการตะลอนเมืองแห่งนี้ไปพร้อมๆ กับการย้อนทวนความจำ คุณจำเรื่องอะไรได้บ้างในมหานครแห่งการช็อปปิ้งแห่งนี้ แชร์กันครับ!

themall16year_k-preecha15087039_10153968299477050_51247625_n-20161117-150921ปีที่ 16 : ผมยังจำได้ดีเลยล่ะ

“ผมยังจำได้ดีเลยล่ะถึงที่มาที่ไปของเดอะมอลล์โคราช ห้างสรรพสินค้าที่ถึงวันนี้ก็เปิดมาได้ 16 ปีแล้ว ต้องบอกว่าโดยความสัมพันธ์ส่วนตัว คุณแอ้ว – ศุภลักษณ์ อัมพุช เป็นเพื่อนของ คุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ คุณสุวัจน์ได้เชิญให้คุณแอ้วมาลองสำรวจความเป็นไปได้ในการสร้างห้างสรรพสินค้าที่โคราชซึ่งจากการสำรวจก็สรุปว่าที่ตรงนี้มันมีศักยภาพ ทั้งศักยภาพของเมืองเองและด้วยจำนวนของประชากรที่มีมากมายเรื่องของการเป็นประตูสู่อีสาน โดยเลือกโลเกชั่นบนถนนมิตรภาพเพราะมีความน่าจะเป็นทำเลทอง”

“ในสมัยนั้นความรู้สึกของผู้คนที่อยู่ในเมืองมองว่าโลเกชั่นที่เราเลือกมันไกลมาก แถมรอบด้านยังเต็มไปด้วยสวนผัก ผมเองเคยลองมานั่งกินก๋วยเตี๋ยวเป็ดที่อยู่ฝั่งตรงข้ามชื่อก๋วยเตี๋ยวนายหมงแล้วนับรถเมล์ที่ผ่าน สองแถวที่ผ่าน รถเก๋งที่ผ่าน นับได้น้อยคันมากขนาดผมเองยังแอบคิดว่าจะไปรอดไหมเนี่ย แต่ก็สู้ ลองดูสักตั้ง จากวันนั้นจนถึงวันนี้ 16 ปี มันพิสูจน์อะไรได้หลายๆ อย่าง”

 

themall16year_k-preecha15133643_10153968300272050_919045697_o-20161117-150955
ปีที่ 0 : สถิติมีไว้ทำลาย

“ในช่วงแรกที่เปิดทำการมีปรากฏการณ์ที่ถือว่าเป็นสถิติใหม่ของเดอะมอลล์ทุกสาขาคือคนมาเยอะที่สุด มากันเป็นแสนๆ คน มากมายก่ายกอง จากที่เคยใจตุ้มๆ ต่อมๆ เพราะมันไกลจากตัวเมืองมากก็กลับมาใจชื้นขึ้น พื้นที่ในห้างฯที่ผมมองว่ากว้างมากดูแคบไปถนัดตา แต่ด้วยความที่ห้างฯเพิ่งเปิดทุกคนที่มาก็มักจะเกิดคำถามเสมอๆ ว่าหาแผนกไม่เจอไปไม่ถูก เข้าออกทางไหน เพื่อนฉันอยู่ตรงไหน ญาติฉันอยู่ตรงไหน เพราะด้วยพื้นที่มันกว้างมากโดยสวนน้ำถือเป็นดินแดนสวรรค์ของคนภาคอีสานเพราะเป็นสวนน้ำแห่งแรกที่มีความสมบูรณ์ที่สุด มีสระว่ายน้ำ มีสวนน้ำที่ใหญ่โตโอฬารมาก ทำให้ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนในเมือง คนอำเภอใกล้เคียงและคนที่อยู่ต่างจังหวัดแวะเวียนเข้ามาใช้บริการที่สวนน้ำกันอย่างสนุกสนาน กลายเป็นว่าสวนน้ำของที่นี่คือสถานที่รวมใจของทุกคนในครอบครัว”

“ผมมีความประทับใจและเป็นความทรงจำอยู่อย่างเกี่ยวกับสวนน้ำของที่นี่ สมัยเมื่อเปิดทำการเดือนแรกผู้คนที่มาจากต่างอำเภอต่างจังหวัดต่างมาใช้พื้นที่กันเยอะมาก หลายคนแทนที่จะนั่งบนเก้าอี้ซึ่งวางให้บริการอยู่รอบๆสวนน้ำกลับปูเสื่อ หิ้วกระติบข้าวเหนียวและหอบกระติกน้ำมานั่งรอบๆ แทน อารมณ์ว่ามาเพื่อปิกนิกซึ่งในครั้งนั้นทำให้พนักงานส่วนหนึ่งที่มาจากกรุงเทพฯตกใจ แล้วก็มาคุยกับผมว่าจะทำยังไง ผมก็บอกเขาไปว่าไม่เป็นไรอย่าไปห้ามเขาเลย เพราะเขาคงไม่รู้ว่ามาแล้วจะมีอะไรกินไหม สักพักเขาจะค่อยๆ ปรับตัวไปเอง เลยทำให้เราเห็นปาร์ตี้ปิกนิกอยู่รอบๆ สระน้ำเยอะแยะ เสียดายที่ในสมัยนั้นไม่มีกล้องถ่ายรูปที่เป็นมือถืออย่างสมัยนี้ เลยไม่ค่อยได้ถ่ายรูปไว้ผมอยากถ่ายเก็บไว้เพราะมันเป็นเหตุการณ์ที่น่าประทับใจ เห็นแล้วมันรู้สึกชื่นใจแบบแปลกๆ ชื่นใจเพราะเขามาเพื่อเล่นน้ำ ลูกๆ หลานๆ ว่ายน้ำไป ปู่ย่าตายายก็นั่งบ้างนอนบ้างบนเสื่อให้กำลังใจไป นี่คือความประทับใจที่ผมจะไม่มีวันลืม”

themall16year_k-preecha15152313_10153968300282050_1332135264_o-20161117-151002

ปีที่ 1 : เหตุเกิด ณ บันไดเลื่อน

“อีกเรื่องเป็นประสบการณ์ที่ผมเล่า 16 ปีไม่เคยลืม มีวันหนึ่ง ผมพบคุณยายคนหนึ่งตรงบันไดเลื่อนที่จะขึ้น เอ็มซีซี ฮอลล์ แกโยงโย้ไม่ยอมขึ้นเสียที แกคงจะไม่คุ้นกับบันไดเลื่อน และในขณะนั้นแกก็ถอดรองเท้าแตะแล้วก็ถือรองเท้าเอาไว้ ผมเห็นแบบนั้นก็เลยเดินเข้าไปหาเพื่อจะพาแกขึ้นบันไดเลื่อน ผมบอกคุณยายเตรียมตัวนะครับ เอามือขวาจับราวสีดำๆ นี้ไว้นะครับ’ ผมบอกให้คุณยายสวมรองเท้าไว้ดีกว่า แต่แกก็ไม่ยอม ชักชวนอยู่นานแกก็ยังไม่กล้าขึ้น ยักแย่ยักยันกันอยู่นาน ลูกค้าที่รอขึ้นบันไดเลื่อนก็เริ่มเยอะขึ้น ในที่สุดผมก็ใช้วิธีดันหลังจนแกขึ้นไปได้ ผมยืนมองอยู่ข้างล่างคุณยายถือรองเท้าแตะไว้ในมือข้างหนึ่ง อีกมือจับราวบันไดเอาไว้ แววตาของแกเหมือนได้ขึ้นสวรรค์เลย เมื่อส่งคุณยายสำเร็จ ผมไม่รู้ว่าแกจะไปไหนต่อ แต่ความรู้สึกในวันนั้นคือผมมีโอกาสได้พาคุณยายไปขึ้นสวรรค์ … ถึงแม้ว่าวันนั้นคุณยายอาจจะไม่ได้มาซื้อสินค้าสักบาทแค่มากับลูกหลาน แต่ผมก็รู้สึกมีความสุข สุขจากการได้เห็นคนที่มาที่ห้างฯแห่งนี้มีความสุข นั่นคือวัตถุประสงค์ของเดอะมอลล์ คนที่มาต้องมีความสุข สุขที่ได้อยู่ที่นี่ สุขเมื่อกลับบ้านไป และสุขที่ได้กลับมาอีกครั้ง

FEEDBACK … ?!?

“พอเปิดมาได้ประมาณ 6 เดือนมันเหมือนตกเขาเลยนะ จากคนเป็นแสนๆ เหลือไม่กี่หมื่น คนหายไปหมดเลยไม่รู้หายไปไหน คือหายไปในราว 50% คำถามที่คนพูดแล้วมาเข้าหูเราคือ ‘เดอะมอลล์จะรอดไหม’ คำถามนี้เป็นคำถามตัวตั้ง เหมือนทุกคนนับวันรอว่าเมื่อไรจะไป คนโคราชหลายคนบอกว่าเดอะมอลล์อยู่ไม่นานหรอก ปีสองปีก็ไปแล้ว”

“จากคำถามตรงนั้นมันทำให้ผมต้องเก็บไปคิดเป็นการบ้านว่า ‘เราจะบริหารกันยังไง’ แล้วตอนนั้นทุกอย่างมันก็ขึ้นอยู่กับทางเซ็นเตอร์ทั้งหมด ผมเรียกเดอะมอลล์โคราชว่าเป็นสาขาภูธรหัวเมือง ถ้าเปรียบทัพหลวงอยู่มหานคร ทัพหน้าอยู่ที่ชนบทการส่งเสบียงบำรุงก็ยากเย็นเหลือเกิน ก็เลยต้องช่วยตัวเอง ผมยึดแนวคิดว่า ‘น้ำจิ้มที่อร่อยที่สุดในโลก ไม่ใช่น้ำจิ้มที่ปรุงตามแบบสูตรสำเร็จ แต่เป็นน้ำจิ้มที่ปรุงและชิมจากคนที่กินจริงๆ’ น้ำจิ้มสเต๊กจะอร่อยสู้จิ้มแจ่วบ้านเราไม่ได้ เพราะฉะนั้นการปรุงรสให้ถูกปากต้องปรุงตามลักษณะของพื้นที่ว่าเขาอยากกินอะไร ก็เลยใช้แนวคิดตรงนี้มาพัฒนาแล้วก็ทำให้มีสิ่งที่เรียกว่า โลคอลมาเก็ตติ้ง”

themall16year_k-preecha15102169_10153968300177050_634448512_o-20161117-150941

ปีที่ 2 : ปัญหามีไว้แก้

“เมื่อผมตั้งสมมติฐานได้แล้ว ผมก็มาตั้งคำถามว่า‘สังคมโคราชยังขาดอะไร’ผมได้แนวคิดมาจากการที่ผมเดินเข้าไปพูดคุยกับพี่น้องชาวโคราชหลายๆ คน นักธุรกิจบ้าง หมอบ้าง พยาบาลบ้าง ซึ่งผมก็พบว่า ในสมัยนั้นคนอีสานของเราเดินทางกลับบ้านสู่ภูมิลำเนาในช่วงสงกรานต์หรือปีใหม่ซึ่งมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูงมากโรงพยาบาลมหาราชรับศึกหนักมากเรื่องเลือด เลือดไม่พอ ผมสนใจเรื่องนี้ก็เลยดำเนินการ ‘สร้างท่อสายเลือด’ เชื่อมต่อกับทางโรงพยาบาลมหาราช โดยการจัดกิจกรรมเรื่องการบริจาคโลหิต เราตั้งใจทำอย่างจริงจังกันมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2543 และนี่คือต้นกำเนิดศูนย์บริจาคโลหิตแห่งแรกในห้างสรรพสินค้าของเมืองไทยซึ่งเปิดแบบครบวงจรในปี พ.ศ. 2549 ที่นี่คือต้นแบบ”

themall16year_k-preecha15146912_10153968300212050_1272559857_o-20161117-150947

ปีที่ 3: เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส สานต่อความเข้าใจ

“จากตรงนั้นเราก็เริ่มตอบโจทย์ว่า ‘คนที่เคยมาแล้วไม่มาเพราะอะไร’ ผมคิดว่าผมพอจะรู้คำตอบนะว่าคนโคราชชอบอะไร คนโคราชชอบมิตรไมตรีคนโคราชชอบคุยกัน คนโคราชชอบมีปฏิสัมพันธ์ ซึ่งในขณะนั้นเขามองว่าเดอะมอลล์คือคนกรุงเทพฯที่มาทำธุรกิจต่างถิ่น และบางครั้งในมุมเล็กๆ เขาก็คงคิดว่าเรามารังแกธุรกิจในพื้นที่ ซึ่งตรงนี้ผมต้องหาคำตอบ ไม่ใช่การโต้แย้งนะ ต้องหาคำตอบว่าเรามาให้บริการ เป็นอีกทางเลือกที่มาสร้างความเจริญให้กับคนโคราช เพราะฉะนั้นเราต้องบอกว่าภาษีตั้งแต่บาทแรกที่เข้ามาทำธุรกิจที่นี่เราจ่ายที่เทศบาล ซึ่งนั่นน่าจะช่วยตอบคำถามสังคมว่า เราไม่ได้มาโกย ไม่ได้เอาขยะมาทิ้งไว้แล้วไป เราเป็นส่วนหนึ่งที่เอาความเจริญมาเสริมสร้างศักยภาพเมืองให้แข็งแรงมากขึ้น นี่คือสิ่งที่เราพยายามบอกสังคม ค่อยๆ บอกสังคมให้เข้าใจมากขึ้น”

ปีที่ 4 : สัญญาณชีพคนโคราช

“เมื่อผมบางอ้อว่าคนโคราชชอบอะไร ผมก็จัดการปัญหาเลย ในสังคมโคราชมันขาดสัญญาณชีพ ซึ่งนั่นก็คือ‘อีเว้นท์’ผมถือว่าอีเว้นท์เป็นสัญญาณชีพ เป็นชีพจรของการสร้างความเปลี่ยนแปลง ในแต่ละสัปดาห์ผมเลยได้จัดอีเว้นท์ขึ้นมา เป็นการกระตุ้นเสริมสร้างสัญญาณชีพ โดยเริ่มต้นจากงาน เดอะนอร์ธอีสต์มอเตอร์โชว์ เมื่อ 13 – 14 ปีที่แล้ว เหตุผลก็เพราะว่าถ้าเราจะดูถนนมิตรภาพสมัยก่อน ถนนเส้นเดียวห่างกันไม่ถึง 5 เมตรมีดีลเลอร์เยอะมาก เมื่อรถเป็นสิ่งสำคัญ ทุกคนชอบรถและอยากมีรถเป็นของตัวเอง ผมก็เลยอยากให้มีศูนย์รวม มาที่นี่ที่เดียวได้ดูรถทุกรุ่นทุกยี่ห้อ แถมโปรโมชั่นสุดพิเศษนี่ถือเป็นเอ็กซ์ฮิบิชันแรกๆ ในธุรกิจค้าปลีกซึ่งมันไม่เคยมีมาก่อน นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทุกคนได้กลับเข้ามาในห้างฯของเราอีกครั้ง เพื่อติดตามอีเว้นท์ต่างๆซึ่งเขาอาจไม่ได้มาซื้อสินค้าโดยตรงแต่เขามาดูกิจกรรมมาร่วมกิจกรรม”

themall16year_k-preecha15145207_10153968299997050_445965570_o-20161117-150944ปีที่ 5 : มิตรภาพบนถนนมิตรภาพ

“อีกอีเว้นท์ที่ผมประทับใจไม่รู้ลืมคือการจัดกิจกรรมวอลเลย์บอลที่ เอ็มซีซี ฮอลล์ … ครั้งแรกๆ ที่จัดคือต้องแจกตั๋วแล้วบังคับนักเรียนมาดู ทั้งแจกข้าวห่อข้าวกล่องถึงจะมีนักเรียนมาดู จนกระทั่งในปัจจุบันนี้เราขายตั๋วหมดเต็มทั้งสนามไม่มีที่ยืน”

“ยังมีอีกเหตุการณ์เกี่ยวกับกีฬาวอลเลย์บอลที่พิสูจน์ว่า ‘คนโคราชเป็นผู้ที่มากด้วยมิตรไมตรีและมีน้ำใจ’ มีครั้งหนึ่ง ผู้ว่าฯสุนทร ริ้วเหลือง โทรมาหาผมตอนประมาณทุ่มเศษ ตอนนั้นกำลังจัดเลี้ยงนักกีฬาวอลเลย์บอลที่โรงแรมราชพฤกษ์ท่านว่า ‘คุณปรีชา ผมกำลังอยู่ในงานเลี้ยงนักวอลเลย์บอลที่โรงแรมราชพฤกษ์ คุณปรีชาช่วยผมหน่อย ช่วยไปบอกร้านทองว่าขอยืมสร้อยทอง 2 สลึง 20 เส้นให้ผมด่วนเลย ผมจะเอามาแจกนักกีฬาวอลเลย์บอล’ แล้วแกก็วางสาย ผมจะทำยังไงล่ะ ผู้ว่าฯโทรมาเอง เวลานั้นร้านทองก็กำลังจะปิด แล้วก็ต้องไปให้ทันเวลางาน ผมเดินไปยังร้านทองข้างล่าง ร้านทองเพชรสุวรรณ ผมไม่รู้จักเถ้าแก่เป็นการส่วนตัว แต่ก็ตัดสินใจว่าจะลองดู ‘เถ้าแก่ครับ ผมชื่อปรีชาเป็นผู้จัดการเดอะมอลล์ครับ ท่านผู้ว่าฯสุนทรโทรมาหาผมบอกว่าอยากได้ทองไปกำนัลนักกีฬาวอลเลย์บอลสัก 20 เส้น’ เถ้าแก่เขาก็มองหน้าผมแล้วใช้เวลาคิดสัก 3-4 วินาที แกหันหลัง ตอนนั้นผมก็มองดูข้างหลังแก กะเอาไว้ว่าแกคงไม่ยอมเอออวยด้วยหรอกแต่ผมคิดผิด แกหันไปผลักกระจกแล้วยกถาดมา ถามผมว่า ‘คุณปรีชาเลือกแบบไหน’ ผมก็บอก ‘ไม่เลือกแล้วครับ เถ้าแก่ใส่ถุงเลยครับ’ แกก็ผงกหัวนิดๆ หยิบทองใส่ถุงแดงๆ  20 ชุด ผมบอกขอบคุณแล้วรีบเดินจากไป เถ้าแก่ไม่ถามผมสักคำว่าคุณปรีชาเซ็นรับหน่อยไหม คุณปรีชาจะมาจ่ายเงินเมื่อไร คุณปรีชาแน่ใจเหรอว่าท่านผู้ว่าฯโทรมา ขอสายหน่อยได้ไหม ไม่ถามเลย ผมก็รับทองไปด้วยความงงๆ รีบไปโรงแรมราชพฤกษ์ ไปหาท่านผู้ว่าฯมอบทองเหล่านั้นให้ แม่ทุม- ประทุม กุลกำจร ไปดำเนินการต่อ สำเร็จบรรลุผล สิ่งที่ผมอยากบอกก็คือ สิ่งเหล่านี้ในกรุงเทพฯทำไม่ได้หรอก ไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจ อันนี้คือสิ่งที่ผมบอกว่า ความไว้วางใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นเอกลักษณ์ของคนภูธรที่ยังคงอยู่อย่างมีมนต์ขลังมาก ผมเลยตั้งเข็มทิศว่า‘ต้องทำให้เดอะมอลล์เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของลูกค้า’ เป็นเรื่องของมิตรภาพบนถนนมิตรภาพแห่งนี้”

themall16year_k-preecha15139499_10153968299487050_1161959740_n-20161117-150924

ภูเขาไฟหน้าห้าง

“อ๋อ ผมลืมพูดถึงตรงนี้ไป อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของเดอะมอลล์โคราชคือ ภูเขาไฟหน้าห้างฯ ช่วง 2 ปีแรกที่เปิดเป็น Talk of the Town มากครับ ทำให้ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ รถบัส รถเก๋ง หรือผู้คนที่กำลังสัญจรผ่านหน้าห้างบนถนนมิตรภาพในเวลานั้นต้องชะลอจอดเพื่อที่จะดูเวลาทำการแสดงเปิดภูเขาไฟวันละครั้ง …นั่นก็เป็นความฮือฮาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสัก 2 ปีแรกแน่นอนว่ามันเป็นสัจธรรม มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป หลังๆ ก็เริ่มชินตา คนก็เฉยๆ หมดความสนใจกันไป”

ปีที่ 6 : มาสเตอร์พีช

“พูดถึงอีกหนึ่งอีเว้นท์ที่ผมได้ริเริ่มขึ้นมาในห้างฯของเรา การปฏิวัติวัฒนธรรมการเกณฑ์ทหาร โดยไอเดียนี้เริ่มต้นหลังจากที่ผมได้มีโอกาสไปดูการคัดเลือกทหารที่วัดสระแก้ว ผมเห็นสภาพแต่ละคนที่เหงื่อไหลไคลย้อย ห้องน้ำก็น้อยแถมยังเป็นที่นัดพบของสิงห์อมควัน ที่สำคัญคือมีการวิ่งตีกันสนุกสนาน เห็นแบบนั้นผมก็มานั่งคิดว่า อยากแบ่งเบาภาระทางการสักหน่อย ‘หรือเราจะเอาคนเหล่านี้ไปปรับทัศนคติดีไหม’ ผมเลยใจดีสู้เสือไปติดต่อสัสดีแจ้งความจำนงว่า ‘ไปเกณฑ์ทหารในห้างฯดีไหมครับ’ ท่านถามผมว่า ‘คุณปรีชาแน่ใจแล้วหรือที่คิดจะทำแบบนี้’ ผมก็ถามว่าแน่ใจเรื่องอะไรครับ ท่านก็บอกผมว่า ‘ห้างฯจะพังเอานะเพราะมันเป็นศึกวันทรงชัย’ นักเลงมาเจอกัน ก็ต้องตีกัน ผมได้ฟังก็บอกท่านไปว่าไม่เป็นไรลองมาช่วยกัน ตอบท่านไปแบบนั้น แต่ถามใจใช่ว่าไม่กลัวห้างฯพังก็กลับมาคิดว่าจะทำยังไงดี งานนี้มีแต่คนเมาญาติพี่น้องก็เมา คนเกณฑ์ก็เมา ขนาดลุกมาจับใบดำใบแดงยังเมา ผมก็เลยต้องสกัดแอลกอฮอล์โดยทำการตรวจวัดแอลกอฮอล์ก่อนเลยสั่งการห้ามซื้อห้ามขายห้ามเอาขึ้นมา ทางที่สองผมก็เอาสุนัขทหารมาสกัดอาวุธ เชื่อไหมว่านักเลงไม่กลัว สห. แต่กลัวหมาเพราะหมาไม่ใช่คู่กรณีของนักเลง นักเลงชก สห. มันคุยไปทั้งตำบล แต่เตะหมามันเสียฟอร์ม ผมก็เลยเอาจุดอ่อนตรงนี้มาใช้จัดการ ให้หมาเป็นคนเฝ้าระวังเรื่องนี้ สุดท้ายก็ไม่มีคนตีกัน ตรงนี้มันทำให้เราเกิดมิติใหม่ในการเข้าหาประชาชน เพราะคนที่มาเกณฑ์ทหารก็คือประชาชนทั่วๆ ไป เรารู้สึกว่าเราได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชน เพราะเราไม่มีการเก็บค่าเช่าและเราให้บริการทางสังคม นี่ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการเกณฑ์ทหารบนห้าง กลายเป็นซิกส์เนเจอร์”

themall16year_k-preecha15151207_10153968299472050_106447608_n-20161117-150916

ปีที่ 7 และหลังจากนั้น : ของหาย … ต้องได้คืน

“ความซื่อสัตย์สุจริตคือสิ่งที่ผมให้ความสำคัญมาก เพราะมันคือหัวใจของงานบริการ ซึ่งผมมาสร้างให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนในช่วงซีเกมส์ซึ่งสมัยหนึ่งจัดขึ้นที่โคราช สมัยนั้นเราได้ตั้งโจทย์ว่า การเป็นเจ้าภาพที่ดีควรเป็นอย่างไร สำคัญคือความซื่อสัตย์และความจริงใจ ผมเลยเอาประเด็นนี้มาปรึกษาหารือในทีม และได้ตั้งโจทย์มาว่าหากใครมาที่เดอะมอลล์โคราชแล้วลืมกล้อง ลืมมือถือ ลืมกระเป๋าเงิน ลืมของ หรือลืมอะไรสักอย่างต้องได้คืน เลยตั้งชื่อโครงการว่า ของหายต้องได้คืน น่าชื่นใจที่พนักงานทุกคนในห้างฯขานรับโครงการนี้เป็นอย่างดี เราได้บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ที่งดงามด้วยคามซื่อสัตย์ในใจของเขา เชื่อไหมว่าปีหนึ่งๆ เราเก็บเงินที่ทำหายได้เป็นล้านบาท โทรศัพท์เป็นพันเครื่อง แก้วแหวนเงินทองมากมาย มีบางคนทำเงินหายสี่แสนห้าแสนก็มี … นี่คือกำเนิดของโครงการของหายต้องได้คืน จนตอนนี้ขยายไปที่เดอะมอลล์ทุกสาขา”

themall16year_k-preecha15058658_10153968299482050_156549024_n-20161117-150932

ปีที่ 11 : น้ำ (ใจ) ท่วม

“เมื่อปี 2553 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่โคราชครั้งนั้นก็เป็นปรากฏการณ์ที่เห็นท้องทุ่งหลังเดอะมอลล์มีน้ำเต็มปริ่มขึ้นมาสูงถึงสะพานอยู่กันไม่ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิตรภาพซอย 4 ที่เป็นที่รับน้ำ เป็นแก้มชะนีแก้มลิง ลูกน้องผมหลายคนก็อยู่ในซอยนั้น เห็นแบบนั้นเราก็ไม่รอช้าขอเข้าไปเป็นหน่วยงานประชาชาติเสริม เข้าไปช่วยแจกเครื่องดื่มแจกน้ำ แจกอาหารอะไรต่างๆ ถุงยังชีพที่แจกเราก็รู้สึกว่ามันไม่มีมูลค่าอะไรเท่าไรเลยนะ ในถุงนั้นอาจจะมีน้ำดื่ม อาหารจำเป็น และปัจจัยสี่อื่นๆ อีกนิดหน่อย แต่มันมีคุณค่ามหาศาลสำหรับผู้ประสบภัยเท่าๆ กับที่มันมีคุณค่าทางจิตใจต่อเรา ผมบอกพนักงานทุกคนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมว่าให้มาอาบน้ำที่นี่ บอกเพื่อนบ้านที่ไม่มีที่อาบน้ำให้มาอาบที่นี่ได้ด้วย เลิกงานเสร็จสามารถมาอาบน้ำแล้วค่อยกลับบ้าน เลยทำให้เรารู้ว่าบ้านหลังนี้มีรัก บ้านหลังนี้มันอบอุ่น เมื่อบ้านหลังนี้มีความสุข พนักงานก็ส่งต่อความสุขไปหาลูกค้า

themall16year_k-preecha15033773_10153968299497050_540380748_n-20161117-150935

ปีที่ 12 และหลังจากนั้น : … ที่สุดในโลก

“ขอเพิ่มเติมตรงนี้คือเราได้มีคอนเนกชั่นเชื่อมโยงกันอย่างเหนียวแน่นกับตระกูลต่างๆ แซ่ต่างๆ ทั้ง 16-17 แซ่ของโคราช เราจะมีนัดกันปีละครั้งว่าเราจะมาทำบุญร่วมกัน แจกโรงทานด้วยกัน มีงานเจหน้าห้างฯทุกคนจะใส่เสื้อสีขาวมาทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งเราจะมีกิมมิกยักษ์ๆ เช่น ทำซาลาเปายักษ์ ข้าวผัดเจกระทะยักษ์ ทำก๋วยเตี๋ยวหลอดที่ยาวที่สุดในโลก 99 เมตร แม้ปัจจุบันงานเจยกเลิกไปแล้ว แต่ความประทับใจและสายสัมพันธ์ระหว่างกันก็ยังเหนียวแน่นเช่นเดิม”

“นอกจากงานเจ เรายังมีงานทำบุญตักบาตรอีกด้วย ซึ่งปีหนึ่งๆ เราทำกัน 7-8 ครั้ง มีชาวบ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียงมาทำบุญตักบาตรร่วมกันตลอด อย่างช่วงปีใหม่ สงกรานต์ วันเกิดห้างฯ วันแม่ วันพ่อ วันเข้าพรรษา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา นี่ก็เป็นอีกกิจกรรมที่ทำให้เราได้ทำความรู้จักกับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เขาเป็นสายบุญ อย่างงานวันวิสาขบูชาที่ทุกปีเราจัดขึ้นในเอ็มซีซี ฮอลล์ พวกเราได้มีโอกาสร่วมกันบริจาคเงินต่างๆ มากมาย รวมๆ 9 ปีทำไปแล้วกว่า 32 ล้านบาทให้กับองค์กรการกุศลมากมาย หรืออย่างในช่วงสามปีหลังที่เราได้จัดคอนเสิร์ตกิจกรรมการกุศล เราก็มอบทุกบาททุกสตางค์ให้แก่โรงพยาบาลมหาราช โดยปีนี้มอบให้กับมูลนิธิเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นมูลนิธิเพื่อการศึกษา นี่ก็คือความกลมกลืนที่เกิดขึ้นในมิติต่างๆ ทั้งธุรกิจ สายบุญ สายแห่งการเกื้อกูล ทั้งระบบราชการ แม้กระทั่งสถาบันการศึกษาที่ผมได้เปิดฟลอร์โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายให้กับทุกสถาบันการศึกษาสามารถมาเวิร์กช็อปที่นี่ได้ ใช้พื้นที่โชว์ผลงานของนักศึกษาหรือโชว์ผลงานครูบาอาจารย์ จากที่ผ่านมาดูกันเองแล้วก็เก็บ อันนี้ทำเองดูกันหลายคนทำให้สถาบันต่างๆ ได้ใกล้ชิดกับเรามากขึ้น นี่คือสิ่งที่มันกลมกลืนจนกระทั่ง มันไม่ใช่ห้างฯที่มาจากกรุงเทพฯ มันกลายเป็นห้างฯท้องถิ่นที่เกิดขึ้นจนสนิทใจ ไม่ต้องตั้งคำถาม ผมไม่ได้ตอบจากโจทย์ที่ตั้งไว้ ผมเอางานเอาผลลัพธ์ที่เขาเห็นที่เขามีส่วนร่วมตอบตัวมันเอง นี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าเราจะทำธุรกิจ แต่เราก็มีคอนเซ็ปต์ในใจของเราว่าสิ่งใดที่เราทดแทนพระคุณหรือใช้คำว่าแทนคุณแผ่นดินที่ ฯพณฯ พลเอกเปรม ได้พูดกับเราเสมอ เราต้องแทนคุณแผ่นดิน แทนคุณชาติ แทนคุณศาสนา นี่คือสิ่งที่มันอยู่ในโมเลกุลของชีวิตของพวกเราทุกคน นี่คือส่วนหนึ่งที่เราอยากให้มองเป็นรูปธรรม”

ปีที่ 16 : SPLASH POOL PARTY!

แต่มันคือเทศกาลสงกรานต์ เทศกาลแห่งค“ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 16 ปี จนเราเรียนรู้ว่าแม้กระทั่งวิกฤตก็ยังเป็นโอกาสสำหรับเรา ยกตัวอย่างในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา เราทราบว่าเทศบาลไม่ได้จัดอะไรในช่วงนั้นเพราะนโยบายประหยัดน้ำ วามสุข เราก็ไม่อยากให้คนโคราชหดหู่หรือเงียบเหงาอยู่แต่ที่บ้าน ก็เลยแก้วิกฤตเป็นโอกาส ผมใช้สวนน้ำให้เป็นประโยชน์ จัดงาน Splash Pool Party ที่ทุกคนแย่งกันเข้ามาจนกระทั่งไม่มีที่จะยืนในสวนน้ำก็เลยกลายเป็นปรากฏการณ์พิเศษขึ้นมาในช่วงนั้นคือเรารู้แล้วว่าวันที่ 13 เนี่ย คนจะไม่เยอะมากเพราะเป็นวันเริ่มต้น แต่จากกระแสบอกต่อ ทำให้อีกสองวันที่เหลือคนมากันเยอะมาก วันที่คนเยอะที่สุดน่าจะประมาณ 4,000 คน คือที่หน้าสวนน้ำจะมีคนมายืนรอซื้อบัตรตั้งแต่เที่ยง ยืนตั้งแต่ท้ายแถวไปถึงสรรพากรไปถึงบ่อปลานั่นคือท้ายแถวเพื่อที่จะเข้าสวนน้ำ จนกระทั่งกลางคืนเข้าไม่ได้ เต็มสุดๆ”

เราทำได้แล้ว

“งาน Buzz Lane เป็นเรื่องราวที่จะบอกว่าบังเอิญก็ได้ จะบอกว่าไม่ทิ้งโอกาสก็ได้ คือเรื่องราวมันเดินทางมาถึงตรงที่ว่าใกล้ช่วงปีใหม่ ซึ่งเทศบาลก็จะมีการจัดกิจกรรม อยู่ที่เทศบาลบ้าง อยู่ลานย่าโมบ้าง แต่เรามารู้ก่อนหน้าเพียงแค่ 2 สัปดาห์ว่าเทศบาลไม่จัด น่าเสียดายเทศกาลสำคัญๆ ที่ชาวโคราชจะไม่ได้ฉลองความสุข เราจึงมีงาน Buzz Lane ขึ้นมาแบบฉุกเฉิน แต่มันก็ต่อเติมความสุขให้คนจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว จนต้องไปยึดถนนมิตรภาพอีกสองเลน”

“นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวงจรของการทำงานด้วยกัน นี่คือสิ่งที่เราพยายามบอกสังคมว่าเราอยู่กับสังคม สังคมทุกข์เราก็ทุกข์ สังคมสุขเราก็สุข เราจึงเดินคู่ขนานไปกับสังคม”


Cr. Photo : ธนนันต์ อัจฉริยวรกุล


Comments are closed.

Check Also

THE GROWTH MUST GO ON | เจาะประเด็นพิเศษ เมกะโปรเจ็กต์ ‘โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ – สายไฟลงดิน’ กับ นายมงคล ตรีกิจจานนท์ ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา

พาดหัวแบบนี้เชื่อแน่ว่าหลายคนคงต้องห่อปากกู่ร้องส่งเสีย … …