ท้าวสุรนารี หรือ ย่าโม วีรสตรีที่ ชาวโคราช หรือ ชาวจังหวัดนครราชสีมา ให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวโคราช ถึงขนาดเคยมีนโยบายของรัฐบาลหลายสมัยต้องการที่จะแบ่งจังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดย่อยๆ แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะจิตใจของคนในจังหวัดส่วนใหญ่ไม่อยากแยกตัวออกไป เพราะทุกคนในจังหวัดนี้เป็น “หลานย่าโม” กันทุกคน จนไม่อาจแบ่งแยกได้

tumblr_njuxmfVdqc1u1xwo1o1_1280

ท้าวสุรนารี หรือ คุณหญิงโม เป็นชาวเมืองนครราชสีมาโดยกำเนิด เกิดเมื่อปีระกา พ.ศ. 2314 มีนิวาสถานอยู่ ณ บ้านตรงกันข้ามกับวัดพระนารายณ์มหาราช (วัดกลางนคร) ทางทิศใต้ของเมืองนครราชสีมา  เป็นธิดาของนายกิ่มและนางบุญมา มีพี่สาวหนึ่งคนชื่อ แป้นาผลไม่มีสามี จึงอยู่ด้วยกันจนวายชนม์ มีน้องชายหนึ่งคน ชื่อ จุก (ภายหลังได้เป็น เจ้าเมืองพนมซร๊อก ต่อมามีการอพยพชาวเมืองพนมซร๊อก มาอยู่ริมคูเมืองนครราชสีมาด้านใต้ จึงเอาชื่อเมือง พนมซร๊อก มาตั้งชื่อ บ้านพนมศรก ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น บ้านสก อยู่หลังสถานีรถไฟชุมทางถนนจิระ จนทุกวันนี้)

 

Screen Shot 2016-03-23 at 9.30.34 AM

บริเวณที่สันนิษฐานว่าเป็นบ้านของย่าโม

 

ปี พ.ศ. 2339  เมื่ออายุได้ 25 ปี ได้แต่งงานสมรสกับ นายทองคำขาว พนักงานกรมการเมืองนครราชสีมา ต่อมานายทองคำขาว ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระภักดีสุริยเดช” ตำแหน่งรองปลัดเมืองนครราชสีมา นางโม จึงได้เป็น คุณนายโม และต่อมา “พระภักดีสุริยเดช” ได้เลื่อนเป็น “พระยาสุริยเดช” ตำแหน่งปลัดเมืองนครราชสีมา คุณนายโม จึงได้เป็น คุณหญิงโม

 

ชาวเมืองนครราชสีมาเรียกท่านทั้งสองเป็นสามัญว่า “คุณหญิงโม” และ “พระยาปลัดทองคำ” ท่านเป็นหมันไม่มีทายาทสืบสายโลหิต ชาวเมืองนครราชสีมาทั้งหลายจึงพากันเรียกแทนตัวคุณหญิงโมว่า “แม่” คุณหญิงโม เป็น คนใจดี จึงมีผู้มาฝากตัวเป็นลูกเป็นหลานกับคุณหญิงโมอยู่มาก ซึ่งเหล่านี้คอยเป็นกำลัง ข้ารับใช้และอำนาจส่งเสริมคุณหญิงโมให้ทำการใดๆ ได้สำเร็จเสมอ หนึ่งในลูกหลานคนสำคัญของคุณหญิงโม ได้แก่ นางสาวบุญเหลือ บุตรีหลวงเจริญกรมการเมืองนครราชสีมาเป็นผู้รับใช้ที่ใกล้ชิด  คุณหญิงโมเป็นคนมีสติปัญญาหลักแหลม เล่นหมากรุกเก่ง มีความชำนาญในการขี่ช้าง ขี่ม้า มีม้าตัวโปรดสีดำ และมักจะพาลูกหลาน ไปทำบุญที่วัดสระแก้วเป็นประจำเสมอ

 

ปี พ.ศ. 2369 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นรัชสมัยของ เจ้าอนุรุทธราช (เจ้าอนุวงศ์) ผู้ครองนครเวียงจันทร์ ได้ขอเกณฑ์ครอบครัวคนลาวที่เมืองสระบุรี ซึ่งถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทน์ ในคราวสงครามครั้งที่ได้พระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ ณ กรุงธนบุรีนั้น กลับนครเวียงจันทร์ แต่ได้รับการปฎิเสธ เมื่อไม่ได้ดังประสงค์ก็ก่อการกบฏโดยยกกองทัพจะลงมาตีกรุงเทพมหานคร โดยเดินทัพมาอย่างเงียบๆ ให้กรุงรัตนโกสินทร์ไม่ทราบความเคลื่อนไหวของทัพเจ้าอนุวงศ์เลย โดยมีกองทัพหน้าเดินทางไปทางทิศตะวันตกตรงไปยังเมืองสระบุรี (ปากเพรียว)

 

วันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2369 เมื่อเจ้าอนุวงศ์ยกกองทัพมาถึงเมืองนครราชสีมา ได้ตั้งมั่นฐานทัพ เนื่องจากเมืองนครราชสีมาเป็นเมืองหน้าด่าน ก่อนจะเข้าโจมตีเมืองนครราชสีมาในวันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2369 นั้น พระยาปลัดทองคำ (พระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ์ทศทิศวิชัย) ผู้รักษาเมืองไม่อยู่ เพราะไปปราบการจลาจลที่เมืองขุขันธ์ กองทหารของเจ้าอนุวงศ์ จึงตีเมืองนครราชสีมาได้โดยง่าย หลังจากนั้นได้กวาดต้อนกรมการเมือง ตลอดจนพลเมืองทั้งชายหญิงไปเป็นเชลย รวมถึง คุณหญิงโม และราชบริพารไปด้วย โดยมี เพี้ยรามพิชัย เป็นหัวหน้าควบคุม เหล่าเชลยออกเดินทางสู่เมืองเวียงจันทน์โดยผ่านเมืองพิมาย ส่วนเจ้าอนุวงศ์นั้น ยังตั้งฐานทัพอยู่ที่เมืองนครราชสีมา

 

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2369 ในระหว่างการเดินทางเป็นเชลยศึกนั้น คุณหญิงโม ได้คิดแผนการกอบกู้อิสรภาพกับกรมการเมือง ซึ่งมีนางสาวบุญเหลือบุตรีหลวงเจริญกรมการเมืองนครราชสีมา  ได้มีส่วนร่วมให้ข้อปรึกษาอย่างใกล้ชิด  คุณหญิงโมได้มอบหมายให้นางสาวบุญเหลือซึ่งเสมือนเป็นหลานของท่านเป็นผู้รับแผนการไปปฏิบัติ โดยใช้อุบายให้ชาวบ้านเชื่อฟังทหารผู้ควบคุม แกล้งทำกลัวเกรงและประจบเอาใจจนทหารของเจ้าอนุวงศ์ ตลอดจนเพี้ยรามพิชัย ซึ่งเป็นผู้ควบ คุมให้ความไว้วางใจและพยายามถ่วงเวลาในการเดินทาง แล้วลอบส่งข่าวถึงเจ้าเมืองนครราชสีมา เจ้าพระยากำแหงสงครามรามภักดี (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา) และพระยาปลัดทองคำ

 

0194670001363653513

ภาพจำลองเหตุการณ์ทุ่งสัมฤทธิ์

 

จนกระทั่งเดินทางมาถึง ทุ่งสัมฤทธิ์แขวงเมืองพิมาย ได้พักตั้งค่ายค้างคืนอยู่ ณ ที่นั้น คุณหญิงโมได้ออกอุบายให้ชาวเมืองนำอาหารและสุรา ไปเลี้ยงดูผู้ควบคุมอย่างเต็มที่ จนทหารต่างก็เมามายไม่ได้สติ หมดความระมัดระวัง ครั้นถึงเวลาสองยามไปแล้วของวันที่  4  มีนาคม  พ.ศ.  2369  ตามแผนการที่กำหนดไว้ชาวนครราชสีมาก็แยกย้ายระดมยื้อแย่งอาวุธจากเหล่าทหารลาว และได้โห่ร้องขึ้นทำให้กองทัพเวียงจันทน์เกิดโกลาหล  ส่วนนางสาวบุญเหลือขณะนั้นอยู่ใกล้ที่พักของเพี้ยรามพิชัย  เมื่อได้ยินเสียงโห่ร้องก็ทราบทันทีว่าแผนการดังกล่าวได้เริ่มขึ้นแล้ว  นางสาวบุญเหลือจึงได้โผตัวเข้าขว้าดาบของเพี้ยรามพิชัย  โดยหมายล้างชีวิตให้ได้แต่ไม่สำเร็จ  เพี้ยรามพิชัยว่องไวกว่าจึงฉวยดาบคืนได้ไปเสียก่อน   นางสาวบุญเหลือก็ผละตัวถอยห่างออกมาทันที และวิ่งออกไปอย่างรวดเร็ว  เพี้ยรามพิชัยวิ่งตามไป  นางสาวบุญเหลือคิดขึ้นได้ว่ามีเกวียนบรรทุกดินดำจอดพัก  และอยู่ไม่ไกลถ้าทำลายได้ก็จะได้ผลตามคำสั่งคุณหญิงโม  จึงวิ่งตรงไปยังกองไฟคว้าได้ฟืนจากกองไฟที่มีไฟติดอยู่วิ่งตรงเข้าหากองเกวียนบรรทุกกระสุนดินดำ  เพี้ยรามพิชัยซึ่งในมือถือดาบจวนเจียนจะถึงนางสาวบุญเหลือ  นางจึงตัดสินใจเอาดุ้นฟืนจุดเข้าที่ถุงดินปืนทำให้เกิดระเบิดขึ้นพร้อมกันในระยะเวลาอันสั้น ทำให้นางสาวบุญเหลือ  เพี้ยรามพิชัย และผู้อื่นๆตลอดทั้งพาหนะที่อยู่บริเวณนั้นแหลกสลายกันหมดสิ้น  บรรดาทหารลาวเวียงจันทน์ที่ถูกฆ่าตาย  ชาวเมืองต่างช่วยกันลากลงไปทิ้งหนองน้ำ  บริเวณหนองน้ำแห่งนี้  จึงเรียกว่า “หนองหัวลาว” แต่ยังมีทหารลาวบางส่วนที่หนีไปได้ เมื่อกองทัพลาวแตกสลายไปแล้ว คุณหญิงโมได้รวบรวมชาวเมืองที่เหลืออยู่ช่วยกันใช้ทุ่งสัมฤทธิ์นี้ตั้งมั่นเป็นฐานทัพชั่วคราวอยู่ ณ ที่นั้น

 

ส่วนทหารลาวที่หนีตายได้รีบนำความไปแจ้งให้เจ้าอนุวงศ์ทราบ  เจ้าอนุวงศ์ ทราบข่าวก็ให้ เจ้าสุทธิสาร (โป้) บุตรคนใหญ่คุมกำลังทหารเดินเท้าประมาณ 3,200 คน และทหารม้าประมาณ 4,000 คน รีบรุดมาทำการปราบปรามทำการต่อสู้รบกันถึงตลุมบอน แต่คุณหญิงโมก็จัดขบวนทัพ กรมการผู้ใหญ่คุมพลผู้ชาย ตัวคุณหญิงโมคุมพลผู้หญิงออกตี กองทัพพวก เวียงจันทน์แตกยับเยิน พอดีเจ้าอนุวงศ์ ได้ข่าวว่ากองทัพจากกรุงเทพฯ ยกขึ้นมาสนับสนุนช่วยชาวเมืองนครราชสีมา จึงต้องรีบถอนกำลังออกจากเมืองนครราชสีมา เมื่อ วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2369

.
0379744001363653817

 

วีรกรรมอันห้าวหาญเด็ดเดี่ยวของคุณหญิงโม  ทราบไปถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  สถาปนาคุณหญิงโมเป็น  “ท้าวสุรนารี”  เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2370 ขณะนั้นคุณหญิงโมมีอายุได้ 57 ปี และพระราชทานเครื่องยศทองคำประดับเกียรติดังนี้

  • ถาดทองคำใส่เครื่องเชี่ยนหมาก 1 ใบ
  • จอกหมากทองคำ 1 คู่
  • ตลับทองคำ 3 ใบเถา
  • เต้าปูนทองคำ 1 ใบ
  • คนโท และขันน้ำทองคำอย่างละ 1 ใบ

 

ส่วนนางสาวบุญเหลือได้ประกอบวีรกรรมอย่างกล้าหาญที่สุดได้สละชีพเพื่อชาติอย่างเกียรติยิ่งที่ทุ่งสัมฤทธิ์  จึงเป็นบุคคลที่ควรค่าแก่การได้รับการยกย่องสรรเสริญให้เป็นวีรสตรีไทยอีกท่านหนึ่งได้ประกอบวีรกรรมอย่างกล้าหาญที่สุดได้สละชีพเพื่อชาติอย่างเกียรติยิ่งที่ทุ่งสัมฤทธิ์ จึงเป็นบุคคลที่ควรค่าแก่การได้รับการยกย่องสรรเสริญให้เป็นวีรสตรีไทยอีกท่านหนึ่งเช่นกัน

 

ท้าวสุรนารี ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อเดือน เมษายน พ.ศ. 2395 (เดือน 5 ปีชวด จัตวาศก จศ. 1214) สิริรวมอายุได้ 81 ปี เจ้าพระยามหิศราธิบดีผู้เป็นสวามี ได้ฌาปนกิจศพ และสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ ณ วัดศาลาลอยซึ่งเป็นวัดที่ท้าวสุรนารีได้สร้างไว้ เมื่อเวลาผ่านไปเจดีย์ชำรุดลง พลตรีเจ้าพระยาสิงหเสนี (สอาด สิงหเสนี) ครั้นเมื่อยังเป็น พระยาประสิทธิศัลการ ข้าหลวงเทศาภิบาล ผู้สำเร็จราชการเมืองนครราชสีมา องคมนตรี และรัฐมนตรี ได้บริจาคทรัพย์สร้างกู่ขนาดเล็ก บรรจุพระอัฐิท้าวสุรนารีขี้นใหม่ที่วัดกลาง (วัดพระนารายณ์มหาราช) สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ร.ศ.118 (พ.ศ. 2442)

 

ต่อมากู่นั้นได้ทรุดโทรมลงมาอีก อีกทั้งยังอยู่ในที่แคบ ไม่สมเกียรติ พระยากำธรพายัพทิศ (ดิส อินทรโสฬส) ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายพันเอกพระเริงรุกปัจจามิตร (ทอง รักสงบ) ผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ 5 พร้อมด้วยข้าราชการ และประชาชนชาวนครราชสีมา ได้พร้อมใจกันสร้าง อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ด้วยสัมฤทธิ์ ซึ่งทางกรมศิลปากรได้มอบให้ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบ ร่วมกับ พระเทวาภินิมมิตร (ฉาย เทียมศิลปไชย) ประติมากรเลื่องชื่อในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม

 

0682863001363647339

ภาพพิธีเปิดอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี พ.ศ. 2477

 

ทั้งนี้ได้อัญเชิญอัฐิของท่านนำมาบรรจุไว้ที่ฐานรองรับ และประดิษฐานไว้ ณ ที่หน้าประตูชุมพล อนุสาวรีย์หล่อด้วยทองแดงรมดำ สูง 1.85 เมตร หนัก 325 กิโลกรัม ตั้งอยู่บนฐานไพที สี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองซึ่งบรรจุอัฐิของท่าน แต่งกายด้วยเครื่องยศพระราชทาน แบบโบราณ คือนุ่งผ้ายกทอง ห่มด้วยสไบกรองทองมีตะกรุดพิสมรมงคลสามสายทับสไบ สวมตุ้มหู อยู่ในลักษณะมือขวากุมดาบปลายชี้ลงพื้นมือซ้ายท้าวสะเอว หันหน้าไปทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นที่ตั้งกรุงเทพฯ  นับเป็นอนุสาวรีย์ของสามัญชนสตรี คนแรกของประเทศ เริ่มก่อสร้างในปี 2476 แล้วเสร็จ และ มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2477

 

ในงานพิธีเปิดนี้ จึงได้มีการสร้างเหรียญไว้เป็นที่ระลึก โดยมี สมเด็จมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และพระคณาจารย์สายพระอาจารย์มั่น – พระอาจารย์เสาร์ ร่วมพิธีปลุกเสกที่ วัดสุทธจินดา ชาวเมืองนครราชสีมารัก และหวงแหนเหรียญรุ่นนี้กันมาก เพราะถือกันว่านี่คือ เหรียญแห่งชัยชนะ เพื่อศรีสง่าแห่งบ้านเมือง และเชิดชูเกียรติ ท้าวสุรนารี วีรสตรีไทยตลอดกาลและทางกรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เป็นโบราณสถานวัตถุแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2480

.
Screen Shot 2016-03-23 at 9.31.06 AM

 

ครั้นเมื่อปี พ.ศ. 2510 ฐานอนุสาวรีย์ชำรุด ข้าราชการ และประชาชนชาวนครราชสีมา โดยนายสวัสดิวงศ์ ปฏิทัศน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น เป็นประธาน ได้ร่วมใจกันสร้าง ฐานอนุสาวรีย์บรรจุอัฐิท้าวสุรนารี ขึ้นใหม่ ณ ที่เดิม เพื่อให้เป็นศรีสง่าแก่บ้านเมือง และเชิดชูเกียรติท้าวสุรนารี วีรสตรีไทยตลอดกาลนาน แล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510

 

Screen Shot 2016-03-23 at 9.31.17 AM

 

เมื่อ วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2524 เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานบรมราโชวาทมีความตอนหนึ่งว่า

 

“….ท้าวสุรนารี เป็นผู้ที่เสียสละเพื่อให้ประเทศชาติได้อยู่รอดปลอดภัย
ควรที่อนุชนรุ่นหลัง จะได้ระลึกถึงคุณงามความดีของท่าน
บ้านเมืองทุกวันนี้เป็นสิ่งที่ต้องหวงแหน การหวงแหน คือ ต้องสามัคคี
รู้จักหน้าที่ ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ชาวนครราชสีมาได้แสดงพลังต้องการ
ความเรียบร้อย ความสงบ เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ชาติกลับปลอดภัยอีกครั้งหนึ่ง
แม้ว่าสถานการณ์รอบตัวเราและรอบโลก จะผันผวนและ ล่อแหลมมาก
แต่ถ้าทุกคนเข้มแข็ง สามัคคี กล้าหาญ และเอื้อเฟื้อต่อกันชาติก็จะมั่นคง…”

 

ย่าโม กลายเป็นสัญลักษณ์ของชาวโคราชกระทั่งเรียกชื่อจังหวัดนี้ว่า “เมืองย่าโม” แม้โคราชจะเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดในประเทศ สามารถแยกการปกครองได้เป็นอีกจังหวัดหนึ่ง แต่ชาวโคราชส่วนมากไม่ยินยอมเพราะนั่นหมายถึงการออกจากความเป็นลูกหลานย่าโม

 

09943490013636474430013939001363647608

 

อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี แม้ว่าจะผ่านมากี่ยุค กี่สมัย ก็ไม่เคยขาดพวงมาลัยที่ผู้คนนำมาบูชา คนต่างถิ่นที่ผ่านมาทางโคราชก็แวะมาสักการะย่าโมเพื่อเป็นสิริมงคล ชาวโคราชมักจะมาบนบานศาลกล่าวขอสิ่งต่างๆ จากย่าโม เช่นขอให้มีงานทำ ขอให้มีลูก เมื่อสมประสงค์แล้วก็จะแก้บนด้วยสิ่งของที่กล่าวไว้ โดยเฉพาะการบนด้วยสิ่งที่ย่าโมโปรดปรานคือ เพลงโคราช ซึ่งเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ ย่าโมโปรดปรานเพลงโคราช มากที่สุด

 

Screen Shot 2016-03-23 at 9.31.58 AM

 

เพลงโคราช ถือเป็นเพลงพื้นเมืองที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่ต้องอาศัยไหวพริบ ปฏิภาณของผู้เล่น เพลงโคราช มีท่วงทำนองการขับร้อง สัมผัสเป็นภาษาพื้นบ้าน (ไทยโคราช) และลีลาท่ารำประกอบทั้งรำช้าและรำเร็ว ที่สำคัญคือ เพลงโคราช ไม่มีเครื่องดนตรีประกอบในการเล่น เนื้อหาของเพลงโคราชขึ้นอยู่กับโอกาสที่จะเล่น และบางครั้งก็แล้วแต่เจ้าภาพที่หาเพลงโคราชไปเล่นเป็นผู้กำหนดว่าจะให้เล่นเรื่องอะไร ถือว่าเพลงโคราชเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ที่สะท้อนให้เห็นถึงขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมของผู้คนให้อนุชนรุ่นหลังได้อนุรักษ์และสืบสานกันต่อไป เวลาประชาชนมาบนบานศาลกล่าวจึงมักบนด้วยเพลงโคราช จากฝีปากพ่อเพลงแม่เพลงโคราช บริเวณศาลาไม้หลังย่อมใกล้ๆ อนุสาวรีย์ ด้วยเหตุนี้บริเวณอนุสาวรีย์ย่าโมจึงเป็นแหล่งเพลงโคราชของพ่อเพลงแม่เพลงหลายคณะ

 

0096969001363647096

Screen Shot 2016-03-23 at 9.32.14 AM

 

เนื่องจากอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ตั้งอยู่ในทำเลกลางเมืองเป็นจุดท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของโคราช ย่านนี้จึงกลายเป็นย่านธุรกิจที่คึกคัก บริเวณรอบลานอนุสาวรีย์จะมีกิจกรรมต่างๆมากมาย ทั้งหมอดูสำหรับผู้ที่เชื่อเรื่องโหราศาสตร์ มีจุดให้อาหารปลา ปล่อยนกปล่อยปลา มีร้านค้าขายพวงมาลัยสำหรับไหว้ย่าโม  นอกจากนี้บริเวณโดยรอบจะมีทั้งโรงแรมที่พัก รัานอาหาร ตลาดขายของที่ระลึกไม่ว่าจะเป็นผ้าไหม หรือของกินยี่ห้อดังที่ติดป้ายชวนชิมของนักชิมมืออาชีพ

 

ประตูชุมพล1

Credit : Yakuzakorat

 

นอกจากนี้สิ่งที่ขาดไม่ได้เมื่อมาโคราช คือ ต้องลอดซุ้มประตูชุมพล ที่อยู่หลังอนุสาวรีย์ เชื่อกันว่าหากลอดประตูนี้ 1 ครั้ง จะได้กลับ มาโคราชอีกในไม่ช้า ถ้าลอด 2 ครั้งจะได้ทำงานหรือมาอยู่ที่โคราช แต่ถ้าลอดถึง 3 ครั้งก็จะได้คู่ครองเป็นคนโคราช ประตูชุมพล ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมืองนครราชสีมามีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบด้วยคูน้ำและกำแพง มีการสร้าง ประตูเมือง 4 ประตู โดยปัจจุบันคงเหลือแต่ประตูชุมพลทางทิศตะวันตกของเมืองเท่านั้นที่เป็นประตูเดิม ส่วนอีกสามประตูคือ ประตูพลล้านด้านทิศตะวันออก ประตูพลแสนหรือประตูน้ำด้านทิศเหนือ และประตูชัยณรงค์หรือประตูผีด้านทิศใต้ ได้มีการสร้างขึ้น ใหม่แทนประตูเดิมความพิเศษของประตูชุมพล คือ ตรงเหนือช่องประตูจะมีเรือนไม้หลังเล็ก ๆ เป็นเรือนแบบไทยมีหลังคามุง กระเบื้อง ประดับด้วยช่อฟ้าใบระกา เรียกว่า “หอรบ” เอาไว้สำหรับบัญชาการรบ ส่วนของกำแพงที่ต่อไปทั้งสองข้างส่วนบน ทำเป็น รูปใบเสมา ใต้ใบเสมาเจาะช่องเป็นรูปกากบาท เพื่อใช้ลอบดูข้าศึกด้านนอก และมีบันไดขึ้นหอรบ กำแพงเมืองนี้แต่เดิมได้สร้าง ล้อมรอบเมืองโคราชโดย มีคูน้ำคู่ขนานกันไปเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นปราการอันแข็งแกร่ง เพื่อปกป้องเมืองโคราชจากข้าศึก ศัตรูมาหลายยุคหลายสมัย

 

9167262_orig

Credit : Pailoolom by Chanyut Sribua-rawd

 

ในทุกปี จะมีการจัดงานเฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารีขึ้นเพื่อรำลึกถึง ความกล้าหาญในวีรกรรมของย่าโมในครั้งนั้น ทางจังหวัดนครราชสีมา หน่วยงานราชการต่างๆ รวมทั้งประชาชนชาวนครราชสีมา ได้การจัด งานฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี (คุณหญิงโม) เป็นงานประจำปีของจังหวัด โดย เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2477 จนถึงปัจจุบัน ในช่วงระหว่างวันที่ 23 มีนาคม – 3 เมษายน เพื่อเป็นการเคารพสักการะ เชิดชูเกียรติ ในวีรกรรมของท้าวสุรนารี และเหล่าบรรพบุรุษของชาวนครราชสีมา ซึ่งจะจัดขึ้นบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด

 

0img_0069

Credit : nasongfoto, KORATNANA.com

 

โดยในปีนี้ไฮไลท์ของงานอยู่ที่การการรำบวงสรวงจากสตรีโคราช กว่า 3,000 คน ซึ่งมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา พร้อมการจุดพลุ 4 มุมเมือง นอกจากนี้ในงานยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรม ของดีเมืองโคราชย้อนยุค การจัดนิทรรศการ การออกร้านของส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สถานศึกษา และองค์กรเอกชนการแสดงและจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน อาหารพื้นเมือง การแสดงดนตรี การประกวดนางสาวนครราชสีมา ประกวดร้องเพลง ประกวดสุขภาพเด็ก ประกวดวาดภาพโดยเด็กและเยาวชน ประกวดผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปตลอดทั้ง 12 วัน 12 คืน

 

แหล่งข้อมูล : wikipedia,sanook.com,kapook.com
เรียบเรียงโดย : khaoyaizone.com
ภาพประกอบ :  PARICMAN (ภาพปก), khaoyaizone.com (ภาพประกอบ)


Comments are closed.

Check Also

Muuji Festival 2024 เทศกาลดนตรีแบบฉบับญี่ปุ่น ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ฉีกไอเดีย Festival แนวใหม่ Vibes ญี่ปุ่นจัดเต็ม ท่ามกลางเขาใหญ่

พร้อมเข้าสู่ปีที่ 2 อย่างยิ่งใหญ่! Muuji Festival 2024 … …