ปีเก่ากำลังล่วงผ่านไป ส่วนปีใหม่ก็ขยับไล่เข้ามาใกล้เรื่อยๆ จนลมหายใจแทบจะราดรดต้นคอจนเปียกชุ่ม สำหรับหลายคน ‘คืนข้ามปี’ ก็คงเป็นเพียงวันๆ หนึ่งใน 365 วัน (โดยประมาณ) ไม่ได้พิเศษอะไร แต่สำหรับหลายๆ คน โดยเฉพาะเหล่า ‘ผู้นำ’ หนึ่งวันมีความหมายขยายไปได้ร้อยแปดทิศทางและเป้าหมาย

ช่วงปีใหม่ก็คือศักราชใหม่ นโยบายใหม่ รากฐานใหม่ ความหวังใหม่ … ที่เหล่าผู้นำทั้งหลายจะต้องเริ่มต้นร่างแผนสำหรับตลอดปีหน้าและเก็บรวบรวมความสำเร็จและจุดแก้ไขในปีก่อนๆ มาคิด ค้น ปรับ และสร้างแบบแผนวิสัยทัศน์ในครั้งต่อๆ ไป

tu2_7081-20161219-191256s
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา

ไม่เว้นแม้แต่ พ่อเมืองโคราช ที่หลายๆ เสียงยกให้เป็น ‘ผู้ว่าฯในดวงใจ’ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ที่ในวันนี้ได้ให้เกียรติกับผมและทีมงาน Korat Startup เพื่อพูดคุยและซักถามถึง 365 วันที่ผ่านมา และอีก 365 วันที่กำลังจะไล่เรียงต่อไป โคราชที่ผ่านมาเป็นอย่างไร โคราชในปีต่อไปจะก้าวไปในทิศทางไหน หาคำตอบพร้อมกันที่นี่ครับ

img_0033-20161219-191926s

KS | อยากให้ท่านผู้ว่าฯช่วยสรุปแผนงานและสถานการณ์โดยรวมในปีนี้ (พ.ศ.2559) ของจังหวัดนครราชสีมาครับ

ในช่วงปีที่ผ่านมา สิ่งที่ถือว่าเป็นโครงการเด่นที่สุดก็คือการแก้ปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการขาดแคลนน้ำ หลายท่านอาจไม่ทราบว่าในปี 2559 สถานการณ์น้ำและภัยแล้งของจังหวัดนครราชสีมานั้นวิกฤตมาก เพราะน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ถือว่าน้อยเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำลำเชียงไกรซึ่งเป็นเสมือนต้นธารหล่อเลี้ยงหลายชีวิตทั้งในอำเภอโนนไทย อำเภอพระทองคำ และอำเภอโนนสูง เมื่อสิ้นฤดูฝนในปี 2558 ผมไปดูในแหล่งน้ำพบว่าเหลือน้ำติดก้นอ่างประมาณ 1 ล้านลูกบาศก์เมตรแค่นั้นเอง จึงทำให้เป็นปัญหา ขณะเดียวกันที่ลำตะคองซึ่งเป็นสายน้ำหลักในการหล่อเลี้ยงพี่น้องประชาชนจากอำเภอสีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ อำเภอเมืองนครราชสีมา รวมไปถึงอำเภอเฉลิมพระเกียรติ และพี่น้องในเขตเทศบาลนครนครราชสีมาก็เหลืออยู่ประมาณ 30% ในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาเท่านั้น เพราะฉะนั้นในช่วงที่ผ่านมาเราจะทำอย่างไรที่จะแก้ปัญหาไม่ให้พี่น้องชาวโคราชขาดแคลนน้ำ นั่นเป็นภาระใหญ่ยิ่งและเร่งด่วน

img_1467-20161219-192044s

เราต้องเรียนว่าจากการที่ได้ช่วยเหลือกันคนละไม้คนละมือ ผมเองได้ลงพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำเกือบทุกจุด โดยใช้นโยบายว่าให้แต่ละอำเภอมีการสำรวจเป็นประจำทุกเดือนว่าในเดือนหน้านี้มีหมู่บ้านไหนที่จะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ การประปาผมก็ได้มีการประชุมทุกเดือนว่า การประปาภูมิภาคสาขาไหนจะขาดน้ำ เทศบาลนครฯตรงไหนจะขาดน้ำ เราประชุมกันทุกเดือนเพื่อให้ทราบปัญหา อย่างน้อยล่วงหน้าสักนิดเพื่อเตรียมการรับมือ เมื่อเราทราบ เราก็ลงไปแก้ไขปัญหา อย่างที่ผ่านมาเราทราบว่าเทศบาลนครนครราชสีมาน้ำไม่พอ เราก็พยายามไปไล่น้ำมาจากลำแชะ ลำมูลบน เราทราบว่าประปาจอหอและประปาของนครราชสีมาน้ำจะหมดอยู่แล้ว อีกประมาณ 10 วันจะไม่มีน้ำ เราก็เร่งไปหาแหล่งน้ำ ผมเองไปประสานงานกับทหาร ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อไปเปิดน้ำที่ท่าช้างให้น้ำไหลย้อนกลับมา เพื่อประปาจะได้สามารถที่จะสูบน้ำได้ แต่ปรากฏว่าเมื่อสูบได้แล้วก็ประทังได้เพียง 3-4 วัน น้ำไม่พออีก น้ำจะขาดในช่วงสงกรานต์อีกพอดี เราต้องระดมกำลังมาช่วยกันแก้ไข ท้ายที่สุดก็ได้ปล่อยน้ำจากลำแชะ ลำมูลบนลงมา ใช้เวลาเกือบ 20 วันกว่าจะมาถึงที่เมืองนครราชสีมา ในที่สุดก็ทำให้น้ำประปาของเขตบ้านเกาะ จอหอไม่ขาดแคลนน้ำ เพราะเราสามารถนำน้ำมาผันได้ทันเวลา

img_3733-20161219-191510s

… การทำเช่นนี้ได้จำเป็นต้องอาศัยหลายภาคส่วนมาช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็นทางสำนักชลประทาน ทางอำเภอต่างๆ ทางทหาร – ตำรวจต้องลงไปทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน ซึ่งถือเป็นช่วงยากลำบากของพวกเราในการที่จะหาน้ำมาให้พี่น้องประชาชนได้ใช้กัน ท้ายที่สุดแล้วเมื่อฝนตกเข้ามา เราก็ได้ผ่านช่วงภัยแล้งไปได้ โดยพี่น้องไม่ถึงกับต้องขาดแคลนน้ำหรือว่าน้ำไม่ไหล 2 วัน 3 วันนะครับ

สิ่งที่เราภูมิใจที่สุดในการแก้ปัญหาภัยแล้งก็คือการแก้ปัญหาเร่งด่วนที่โรงพยาบาลพระทองคำซึ่งขาดแคลนน้ำได้สำเร็จ ที่นี่ขาดแคลนน้ำมากเสียจนต้องขุดเจาะบ่อบาดาล แต่น้ำของที่นี่เป็นน้ำกร่อย น้ำเค็ม ไม่สามารถเอามาใช้กับเครื่องมือแพทย์ได้ ทางจังหวัดจึงได้พยายามจัดหางบประมาณเพื่อจะไปซื้อเครื่องกรองน้ำ ท้ายที่สุดเราก็สามารถเร่งรัดการติดตั้งการจัดซื้อให้เป็นไปตามระเบียบราชการและสามารถแก้ปัญหาน้ำมาใช้ได้ทันท่วงทีก่อนที่จะขาดแคลนน้ำไปบริการพี่น้องประชาชนได้

img_3919-20161219-191340s

KS | แสดงว่าปัญหาการขาดแคลนน้ำ เป็นปัญหาที่สำคัญและเร่งด่วนที่สุดของจังหวัดนครราชสีมาใช่ไหมครับ

ใช่ครับ และจากบทเรียนดังกล่าวเราก็นำมาเป็นบทเรียนในปี 2560 … ปีหน้านี้เราวางแผนและพยายามให้ทุกพื้นที่สูบกักเก็บน้ำไว้ก่อน ตอนนี้เราให้แต่ละอำเภอแต่ละตำบลที่ยังมีน้ำไหลอยู่ในพื้นที่ ให้สำรวจและสร้างฝายแบบ ‘ประชารัฐ’ คือไม่ต้องใช้งบประมาณจากทางราชการ แต่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำเรื่องงบฯออกให้เรื่องของวัสดุอุปกรณ์ ในเรื่องของอิฐหินปูนทราย และให้พี่น้องประชาชนออกแรง ทางราชการเป็นผู้ประสานงานร่วมด้วย ซึ่งตอนนี้ก็ทำทั้งจังหวัด อาจจะยังไม่แล้วเสร็จแต่ก็กำลังทำต่อไปเรื่อยๆ ทำฝายเสร็จแล้วขั้นตอนต่อไปเราก็จะให้พี่น้องประชาชนใช้น้ำที่อยู่ในฝายน้ำก่อน เมื่อน้ำที่เราใช้ตามกั้นฝายหมดถึงไปใช้น้ำตามบ่อที่เราเก็บไว้ เราคาดว่าปีนี้การแก้ไขปัญหาภัยแล้งจะดีกว่าในปีที่ผ่านมา แต่ก็มีบางพื้นที่ที่หมดฝนแล้วไม่มีน้ำเลย เช่น ตำบลหนองไทร อำเภอด่านขุนทด ซึ่งผมได้เข้าไปดูแล้ว และกำลังจะแก้ปัญหาด้วยการสูบน้ำระยะไกล และก็การเจาะบ่อบาดาล กำลังหาจุดที่จะเจาะบ่อน้ำได้ ตรงนี้นับว่าเป็นจุดที่วิกฤตที่สุดในอนาคตนะครับ การแก้ปัญหาเรื่องภัยแล้งผมว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ

img_7480-20161219-191724s

KS | อย่างที่ท่านผู้ว่าฯกล่าว ปัญหาภัยแล้งส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนในวงกว้าง ตรงนี้ทางจังหวัดได้ประสานขอความช่วยเหลือจากทางส่วนกลางบ้างไหมครับ

แน่นอนที่สุดครับ โดยในช่วงปีที่ผ่านมา ท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เดินทางมาเยี่ยมชมการปฏิบัติงาน ณ ลำพระเพลิง เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 เรานำปัญหาภัยแล้งไปนำเรียนท่านและขออนุมัติโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำเชียงไกร ซึ่งก็ต้องขอความกรุณาจากทุกภาคส่วนว่า นายกรัฐมนตรีท่านมาก็มีหลายส่วนอยากขอโครงการเยอะไปหมด ทีนี้ผมก็เรียนว่า ถ้าต่างคนต่างขอมันจะไม่สามารถควบคุมได้ และมันจะได้อย่างละนิดละหน่อย มันจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ผมก็เลยขอความกรุณาว่าให้นำเสนอโครงการเดียวคือ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำเชียงไกร ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีก็รับและอนุมัติเงินมา 1,500 ล้านบาทเพื่อจะพัฒนาลำเชียงไกรทั้งระบบ

ถามว่าทำไมถึงต้องเป็นลุ่มน้ำลำเชียงไกร ผมขอเรียนอย่างนี้ครับว่า ในช่วงที่ผ่านมาลำเชียงไกรไม่มีน้ำเลย เป็นพื้นที่ที่แก้ไขปัญหาได้ยากมาก เพราะใต้พื้นลำเชียงไกรเป็นเกลือ เป็นดินเค็ม มันจะแก้ไขปัญหาด้วยการขุดเจาะบ่อบาดาลหรือขุดบ่อนี่ไม่ได้เลย  เพราะน้ำข้างล่างมันจะเค็ม มันจำเป็นต้องมีการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำฝนให้ได้มากที่สุด ในขณะเดียวกันก็ต้องมีระบบปิดเปิดน้ำเพื่อที่จะส่งไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั้งระบบ ถ้าตรงนี้สามารถพัฒนาได้ พื้นที่ตรงนี้จะไม่มีปัญหาเรื่องภัยแล้งอีกต่อไป ก็จะสามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่อำเภอโนนไทย พระทองคำ โนนสูง รวมทั้งอำเภอเมืองฯบางจุดที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วมด้วย

img_7492-20161219-191728sKS | โครงการอื่นๆ ที่นอกเหนือจากปัญหาภัยแล้งล่ะครับ

โครงการอื่นๆ ก็เป็นไปตามยุทธศาสตร์จังหวัดนะครับ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การคมนาคมต่างๆ ต้องเรียนว่า จังหวัดนครราชสีมาในช่วงปีที่ผ่านมาการคมนาคมยังมีปัญหามาก ซึ่งทางจังหวัดก็ได้ใช้งบยุทธศาสตร์จังหวัดลงไปในการสร้าง ลำดับแรกคือเรื่องแหล่งน้ำมากที่สุด และลำดับที่สองก็เป็นเรื่องเส้นทางคมนาคม เรื่องที่สามจะเป็นเรื่องของปากท้อง การส่งเสริมอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการปลูกข้าว ข้าวหอมมะลิ ปลูกข้าวแบบปลอดสารพิษ พยายามให้มีการพัฒนาให้เป็นข้าวที่มีคุณภาพสูง แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังอยู่ในระดับที่ยังไม่น่าพึงพอใจ เนื่องจากปัญหาอุปสรรคหลายๆ ด้าน เช่น ความกว้างใหญ่ของพื้นที่ปลูกข้าวซึ่งอาจทำให้เราดูแลได้ไม่ทั่วถึง อีกส่วนคือเรื่องของงบประมาณที่มีจำกัด

อีกเรื่องที่เราพยายามผลักดัน แต่ในช่วงปีที่ผ่านมายังไม่บรรลุตามเป้า คือการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวปลูกพืชไร่มาเป็นการทำปศุสัตว์ เรื่องนี้ผมพยายามผลักดันมาก โดยเฉพาะในปีหน้าที่เราจะเน้นหนักมากขึ้น เอาให้เป็นรูปธรรมเลย

img_1863-20161219-192150s

KS | ทำไมท่านผู้ว่าฯถึงอยากให้มีการส่งเสริมการปศุสัตว์มากกว่าเกษตร

เนื่องจากเราดูสภาพพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นการเกษตรถึง 7 ล้านไร่ แต่เราไปผลิตพืชที่มีปัญหาทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง ซึ่งมากที่สุดในประเทศไทย แต่ก็มีราคาที่ตกต่ำขายแล้วขาดทุน เราผลิตข้าวโพดเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศไทย ก็ราคาตก เป็นปัญหาให้พี่น้องเกษตรกร ปัญหาพืชไร่ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นมานานแล้ว เป็นปัญหาของพี่น้องมาตลอด ผมได้คุยกับเกษตรกรก็บอกว่ามีการชุมนุมเรียกร้องกันทุกปี ก็มีความรู้สึกว่าพี่น้องเราเองไม่มีทางเลือกในการที่จะไปประกอบอาชีพอื่น เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องให้ความรู้และปรับอาชีพของพี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราจะปรับเปลี่ยนให้พี่น้องที่ปลูกพืชในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น ไม่มีน้ำ ดินไม่เหมาะแก่การทำเกษตร มาทำปศุสัตว์แทน

img_5992-20161219-191518s

นอกจากการส่งเสริมให้เลี้ยงสัตว์แล้ว เราก็ยังส่งเสริมให้ความรู้เรื่องของเทคโนโลยีในการเลี้ยงสัตว์ต่อเกษตรกรมากขึ้น ตอนนี้เทคโนโลยีการปศุสัตว์มันเปลี่ยนไปจากเดิมครับ แต่เดิมจำเป็นต้องใช้เนื้อที่จำนวนมาก ใช้น้ำมาก ใช้เวลามาก แต่ตอนนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นแล้ว แต่ก่อนเราต้องพาวัวควายไปหากินหญ้าตามพื้นที่ต่างๆ แต่ปัจจุบันเราปลูกหญ้าเนเปียซึ่งสามารถไปเกี่ยวมาให้วัวควายได้กินในคอก แต่เดิมเราต้องใช้น้ำมากเพราะเราต้องใช้น้ำมารดหญ้าทั้งแปลง แต่เดี๋ยวนี้เราใช้น้ำจำนวนไม่มากในการรดหญ้าเนเปีย ก็จะสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ซึ่งน้ำเราจะน้อยลงทุกวัน และที่สำคัญคือราคาปศุสัตว์ไม่ว่าจะเป็นโคกระบือ แพะ แกะตอนนี้สูงมาก เกิดใหม่เลี้ยงหนึ่งปีวัวควายขายได้ตัวละประมาณ 2-3 หมื่นบาทขึ้นไป ราคาดี ตลาดก็ดี ราคาตกยาก เพราะมันเป็นอาหารคนที่จำเป็นจะต้องกินอยู่ทุกวัน และผมเองก็ปรับการทำงานของสำนักงานปศุสัตว์ว่าให้เป็นเหมือนหมอเยี่ยมบ้าน เหมือนสาธารณสุขสมัยก่อนที่คอยไปเยี่ยมและไปตรวจงานตามบ้านต่างๆ ผมมอบนโยบายให้ทางสาธารณสุขว่าจะต้องมี Mapping ว่า ครัวเรือนที่ไหนมีการเลี้ยงโคกระบีอบ้าง ทางเจ้าหน้าที่จะต้องรู้ เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จะต้องไปเยี่ยมและเซ็นต์เยี่ยม ผมจะมอบหมายให้ทางนายอำเภอต้องไปคอยตรวจตราการทำงานของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ว่า ในรอบเดือนที่ผ่านมาได้มาเยี่ยม มาให้คำแนะนำในการเลี้ยงโคกระบือบ้างหรือไม่ ผมคิดว่าจะทำให้พี่น้องมีความมั่นใจในอาชีพมากขึ้น

img_0025-20161219-191920s

ที่สำคัญในปี 2560 เราจะจัดงานโคกระบือเพื่อให้พี่น้องเห็นว่า โคกระบือมีหลายสายพันธุ์ มีหลายขนาด และจะเอามาให้ดูว่าแต่ละขนาดมีราคาเท่าไร่ พี่น้องสามารถไปหาความรู้และในขณะเดียวกันถ้าพี่น้องมาดูมหกรรมโคกระบือบริเวณหน้าศาลากลางแล้วมีความสนใจอยากจะเลี้ยง ก็สามารถลงชื่อในงานได้เลย หลังจากเสร็จงานเราก็จะเชิญพี่น้องเหล่านี้มาอบรมให้ความรู้ เชิญสถาบันทางการเงินไม่ว่าจะเป็น ธกส. หรือออมสิน เข้าไปบริการเรื่องสินเชื่อ และเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จะเข้าไปให้คำแนะนำการเลี้ยงสัตว์ต่อไป ผมคาดว่าในปี 2560 การเลี้ยงโคกระบือจะต้องเพิ่มขึ้น แต่ตัวเลขนี่ผมกำลังตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นเท่าไหร่ แต่จะต้องมีตัววัดให้ได้ และผมคิดว่าอาชีพของพี่น้องเกษตรกรน่าจะดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

img_3593-20161219-191450s

KS | มาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า ท่านผู้ว่าฯและทีมงานของจังหวัดทำงานกันเยอะมาก จึงอยากจะถามความในใจของท่านว่า ทัศนคติพึงประสงค์หรือเรื่องที่ท่านผู้ว่าฯอยากให้เกิดมีขึ้นในชาวโคราชคืออะไรครับ

ผมคิดว่าเดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่ๆ นี่ใจร้อน อาจจะเป็นเพราะว่าสภาพแวดล้อมมันบีบรัดการทำมาหากินเกินไป ทำให้คนใจร้อนมาก ในจังหวัดนครราชสีมาถ้าดูสถิติคดีอาชญากรรมที่ผ่านมา สาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นการทะเลาะกันในครอบครัว นี่หมายความว่า ความเห็นอกเห็นใจ ความเอื้ออาทร ความรักใคร่กลมเกลียวกันนี่มันหายไปจากชาวโคราช ผมพยายามปลูกฝังเรื่องเหล่านี้ให้กลับคืนมา ไม่ว่าจะเป็นการใช้หลักธรรมของศาสนา หรือการเป็นแกนนำบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ร่วมกัน ตอนนี้กำลังให้แต่ละอำเภอจัดกิจกรรมร่วมกันในการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ร่วมกัน ให้คนเหล่านี้รักกันมากขึ้น

img_2402-20161219-192122s

แต่เดิมคนบ้านเดียวกันต่างคนต่างทำมาหากิน แต่ต่อไปนี้เมื่อพวกเรามาทำงานร่วมกันในโอกาสพิเศษๆ กวาดถนนด้วยกัน มาทาสีรั้ววัดด้วยกัน มาทำกิจกรรมร่วมกัน มันจะทำให้ความเอื้ออาทรและความเมตตาเห็นอกเห็นใจกลับคืนมา นี่เป็นประเด็นแรกที่อยากให้กลับคืนมา ประเด็นที่สองคืออยากให้นครราชสีมาเป็นเมืองสะอาดและเป็นเมืองน่าอยู่ เพราะฉะนั้นการเป็นเมืองสะอาด พี่น้องประชาชนจำเป็นจะต้องเข้ามาช่วยกันรักษาความสะอาด จะปลูกฝังความรู้สึกและจิตสำนึกตรงนี้ให้กับคนจังหวัดนครราชสีมา วันนี้ต้องถือได้ว่า นครราชสีมาสะอาดมากกว่าอีกหลายจังหวัดที่ผมเคยเห็นมา แต่ผมคิดว่ายังไม่พอ เพราะที่ผ่านมาเราสะอาดได้เนื่องจากการจัดเก็บ แต่ผมคิดว่าความสะอาดที่แท้จริงคือ การลดปริมาณขยะที่จะออกมาสู่นอกครัวเรือน เพราะฉะนั้นทำอย่างไรจึงจะมีการคัดแยกขยะ การลดการใช้ที่จะทำให้เป็นขยะ ลดการใช้สารพิษ ลดการใช้โฟม หรือว่าทำอย่างไรถึงจะเป็นการอนุรักษ์ป่าไม้ให้มากขึ้น ปีนี้นอกจากจะเน้นเรื่องของอาชีพแล้วยังจะเน้นเรื่องปลูกฝังให้เกิดความสะอาดในบ้านเมืองอีกด้วยครับ


สัมภาษณ์ : พลเชษฐ์ พันธ์พิทักษ์
ถ่ายภาพ : ภาพหลักโดย ธนนันต์ อัจฉริยวรกุล
ภาพประกอบโดยฝ่ายประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา


Comments are closed.

Check Also

THE GROWTH MUST GO ON | เจาะประเด็นพิเศษ เมกะโปรเจ็กต์ ‘โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ – สายไฟลงดิน’ กับ นายมงคล ตรีกิจจานนท์ ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา

พาดหัวแบบนี้เชื่อแน่ว่าหลายคนคงต้องห่อปากกู่ร้องส่งเสีย … …