ฮือฮาอีกแล้วมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.)” เปิดตัวสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมใหม่เรืออัตโนมัติกำจัดลูกน้ำยุงต้นทุนลำละ 100,000 บาท กำจัดลูกน้ำยุงในแหล่งน้ำขังขนาดใหญ่สำเร็จ บังคับทิศทางระบบ GPS และรีโมทคอลโทรล รัศมีการทำลายลูกน้ำยุง 3 เมตรตรงเป้ากำจัดลูกน้ำยุงในคูน้ำลำคลองท่อระบายน้ำช่วยลดปริมาณผู้ป่วยจากโรคที่มียุงเป็นพาหะ

เมื่อวันที่ 20 ..ที่ผ่านมา รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เป็นประธานในการแถลงข่าวผลงานวิจัยเรืออัตโนมัติกำจัดลูกน้ำยุงที่ห้องประชุมสารนิเทศ อาคารบริหาร มทส. พร้อมนักวิจัย ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ เรืออากาศเอก ดร.กนต์ธร ชำนิประศาสน์ คณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย ทองโสภา หัวหน้าสถานวิจัย สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ และ อาจารย์ ดร.ชโลธร ธรรมแท้ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ และคณะ

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. เปิดเผยว่างานวิจัยเรืออัตโนมัติกำจัดลูกน้ำยุงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการแก้ไขปัญหาให้กับสังคม ด้วยการวิจัยคลื่นอัลตราโซนิค ในย่านความถี่ที่เหมาะสมกับการกำจัดลูกน้ำยุงได้สำเร็จ โดยไม่ส่งผลกระทบกับสัตว์น้ำชนิดอื่น ไม่ทำลายหรือสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม

ซึ่งได้มีการพัฒนาเครื่องมืออุปกรณ์ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 กระทั่งประสบความสำเร็จดังกล่าว ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้น้อมเกล้าฯ  ถวายแด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา เพื่อทรงใช้ตามพระราชอัธยาศัยภายในวังสระปทุม ถือเป็นอีกผลงานวิจัยและนวัตกรรมหนึ่งที่นำความภาคภูมิใจมาสู่มหาวิทยาลัย

ด้าน รองศาสตราจารย์ เรืออากาศเอก ดร.กนต์ธร ชำนิประศาสน์ คณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่างานวิจัยดังกล่าว เป็นการพัฒนาต่อยอดขึ้นมาจากเครื่องกำจัดลูกน้ำยุงคลื่นอัลตราโซนิค ระบบ 1 หัวจ่าย ที่ประสบความสำเร็จจากงานวิจัยในปี 2553 ที่ทางมหาวิทยาลัยได้พัฒนาและนำไปมอบให้หน่วยงานต่างๆ ไปใช้งานกว่า 200 เครื่อง

ทั้งนี้ จากการนำไปใช้จริงพบว่า ยังมีพื้นที่ที่มีข้อจำกัดในการนำเครื่องมือแบบเดิมไปใช้งาน อาทิ แหล่งน้ำขังขนาดใหญ่และท่อระบายน้ำ จึงได้พัฒนางานวิจัยโดยสร้างเรืออัตโนมัติกำจัดลูกน้ำยุง โดยแยกการทำงานออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การออกแบบวงจรคลื่นอัลตราโซนิคระบบ 4 หัวจ่าย และการออกแบบเรือให้มีสมรรถนะครอบคลุมและเหมาะสมในการใช้งานโดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ใช้ระยะเวลาในการออกแบบและสร้างชิ้นงาน 6 เดือน

รองศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย ทองโสภา หัวหน้าสถานวิจัย สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่าสำหรับเครื่องกำจัดลูกน้ำยุงด้วยคลื่นอัลตราโซนิค (ULTRASONIC TRANSDUCER TO ELIMINATE MOSQUITO LARVAE)  ได้ถูกพัฒนามากจากอุปกรณ์ประเภททรานสดิวเซอร์ คือการสร้างคลื่นกลที่ความถี่ย่านอัลตราโซนิค ซึ่งได้จากการเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานกล โดยอาศัยหลักการของวงจรกำเนิดความถี่ (Oscillator) ที่ความถี่ย่านอุลตราโซนิคขนาด 20 กิโลเฮิร์ทซ ร่วมกับวงจรแปลงผันกำลังงานไฟฟ้ากระแสสลับ (DC to DC Converter) เพื่อให้มีขนาดพิกัดความแรงของสัญญาณสูงขึ้น

ซึ่งเมื่อส่งสัญญาณผ่านไปยังอุปกรณ์ทรานสดิวเซอร์ที่เชื่อมต่อกับแท่นโลหะจะถูกแปรสัญญาณให้อยู่ในรูปคลื่นกลที่มีความถี่เดียวกัน และจะนำคลื่นดังกล่าวแพร่กระจายลงสู่บริเวณที่มีน้ำเป็นตัวกลางเมื่อพลังงานแพร่กระจายลงสู่น้ำจะไปทำลายวัฏจักรการเจริญเติบโตลูกน้ำยุงไม่ให้สามารถเจริญเติบโตเป็นยุงตัวเต็มวัยได้ โดยในครั้งนี้ได้ถูกออกแบบให้อยู่ในรูปของเรืออัตโนมัติกำจัดลูกน้ำยุงเพื่อใช้กับแหล่งน้ำขังขนาดใหญ่ คูน้ำ ลำคลอง หรือ ท่อระบายน้ำ

รองศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย กล่าวต่อว่าโดยติดตั้งเครื่องกำจัดลูกน้ำยุงคลื่นอัลตราโซนิคจำนวน 4 ชุด เพื่อเพิ่มรัศมีการทำงานให้สามารถใช้งานได้กับแหล่งน้ำขังขนาดใหญ่โดยไม่ทำลายสิ่งมีชีวิตอื่น และระบบควบคุมเรือบริเวณกลางลำเรือ ใช้อุปกรณ์ในการควบคุมและแสดงผลชุด Flight Control โดยติดตั้งระบบ GPS เพื่อสามารถระบุตำแหน่งของอุปกรณ์ และใช้ในการเคลื่อนที่อัตโนมัติไปยังพิกัดที่ต้องการ สามารถบังคับและควบคุมได้ทั้งแบบบังคับเอง (manual) และระบบ data link ซึ่งเป็นชุดควบคุมแบบอัตโนมัติผ่านคอมพิวเตอร์

ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาสมรรถนะของการกำจัดลูกน้ำยุงได้อย่างคลอบคลุม ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าอุปกรณ์ดังกล่าวจะสามารถสกัดกั้นการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของโรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ต้นทุนในการผลิตต่อลำประมาณ 100,000 บาท


 


Comments are closed.

Check Also

รำบวงสรวงย่าโม วันมงคล 23 มีนาคม 2567

สปิริตแรงกล้ารำบวงสรวงย่าโมท่ามกลางสายฝน วันมงคล 23 มีน … …