อีไอเอไฮสปีดเทรนไทย-จีนผ่านฉลุย หลังคมนาคมเข็น 3 ปี ดีเดย์ 21 ธ.ค.นี้ ตอกเข็มเฟสแรก 3.5 กม.จากสถานีกลางดง-ปางอโศก ลุ้นรถไฟเคลียร์ปมเวนคืน 1.3 หมื่นล้าน รื้อใหญ่ท่อก๊าซ ปตท. 40 กม. ปีหน้าประมูลอีบิดดิ้ง ที่เหลือ 249 กม.ค่าก่อสร้าง 1.2 แสนล้าน 

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา หรือรถไฟไทย-จีน ระยะทาง 253 กม. เงินลงทุน 179,412.21 ล้านบาท ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแล้วเมื่อ 30 พ.ย. 2560 ต่อจากนี้ จะนำเรื่องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาเดินหน้าโครงการ

“ในการประชุมคณะกรรมการร่วมครั้งที่ 22 เมื่อ 24 พ.ย. ทั้งไทยและจีนเห็นร่วมกันว่าจะเริ่มงานก่อสร้างช่วงแรก จากสถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม.ภายใน 21 ธ.ค.นี้ ซึ่งจะครบ 3 ปีพอดีที่ 2 รัฐบาลผลักดันโครงการ นับจากมีการเซ็น MOC ตั้งแต่ 19 ธ.ค. 2557”

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวเพิ่มเติมว่า อีไอเอรถไฟไทย-จีน ผ่านการอนุมัติโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมมีความเห็นเพิ่มเติม ให้คมนาคมกำชับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทำตามมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ช่วงเทปูนต้องมีแผ่นกั้นป้องกันฝุ่นกระจาย ระหว่างออกแบบก่อสร้างให้ระมัดระวังสัตว์ตามแนวเส้นทาง เป็นต้น

“หลังอีไอเอผ่านแล้ว จะลงมือก่อสร้างช่วงแรก 3.5 กม. เป็นงานถมคันดิน วงเงิน 425 ล้านบาท โดยการรถไฟฯจะกู้เงินในประเทศ จ้างกรมทางหลวงดำเนินการ จะใช้เวลา 6 เดือน แล้วเสร็จกลางปี 2561”

ที่เหลืออีก 249 กม. ได้แก่ ช่วงที่ 2 ปากช่อง-คลองขนานจิตร 11 กม. ช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา 119.5 กม. และช่วงที่ 4 กรุงเทพฯ-แก่งคอย 119.5 กม. จีนจะทยอยส่งแบบรายละเอียดภายใน ธ.ค.นี้เป็นต้นไป เพื่อให้ ร.ฟ.ท.ทยอยเปิดประมูลแบบอีบิดดิ้ง วงเงินรวม 122,593.92 ล้านบาท แบ่ง 14 สัญญา ๆ

ละ 8,000-10,000 ล้านบาท เปิดให้ผู้รับเหมาไทยทั้งงานถนน อุโมงค์และรถไฟฟ้า เข้าร่วมประมูลได้ทุกสัญญา คาดว่าจะได้ผู้รับเหมาครบปลายปี 2561 ใช้เวลาสร้าง 4 ปี เปิดบริการปี 2564

สำหรับการเวนคืนที่ดินและรื้อย้ายตลอดแนวเส้นทาง ใช้งบฯ 13,069 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืน 212 ล้านบาท เนื่องจากก่อสร้างบนแนวเส้นทางรถไฟเดิม ส่วนใหญ่เวนคืนในจุดที่เป็นจุดเลี้ยวโค้ง และที่ตั้งสถานี 10-15% หรือ 2,815 ไร่ จากการสำรวจต้องรื้อท่อก๊าซของ ปตท. จากช่วงรังสิต-ภาชี ระยะทาง 40 กม. และช่วงคลอง 1-คลองพุทรา ใกล้แนวเส้นทางโครงการ อาจไม่ปลอดภัย ต้องปรับแบบสร้างห่างจากแนวเดิม 13 เมตร ซึ่ง ปตท.จะออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวว่า การรื้อท่อก๊าซ ปตท.แนวรถไฟไทย-จีน ไม่เป็นปัญหา สามารถดำเนินการได้ แต่ทางเทคนิคและการออกแบบระบบท่อก๊าซสามารถวางไว้ด้านข้างระบบรางหรือถนนได้ เพราะการวางระบบท่อก๊าซไปยังภูมิภาคต่าง ๆ เท่ากับนำความเจริญไปสู่ประชาชนในพื้นที่ ปัจจุบัน ปตท.มีในภาคกลาง ตะวันตกและตะวันออก ยังขาดภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ


อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ – ประชาชาติธุรกิจออนไลน์


Comments are closed.

Check Also

Muuji Festival 2024 เทศกาลดนตรีแบบฉบับญี่ปุ่น ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ฉีกไอเดีย Festival แนวใหม่ Vibes ญี่ปุ่นจัดเต็ม ท่ามกลางเขาใหญ่

พร้อมเข้าสู่ปีที่ 2 อย่างยิ่งใหญ่! Muuji Festival 2024 … …