พาดหัวแบบนี้เชื่อแน่ว่าหลายคนคงต้องห่อปากกู่ร้องส่งเสียง ไชโย! เป็นแน่แท้ เพราะเรื่องของการพัฒนาภูมิทัศน์เพิ่มความสง่างามให้เมืองโคราชด้วยการนำสายไฟ สายเคเบิ้ล และเสาไฟลงใต้ดินเป็นสิ่งที่หลายคนร้องขอต้องการ (ลองนึกดูว่าภูมิทัศน์บริเวณลานอนุสาวรีย์ท่านท้าวสุรนารีจะสง่างามเพียงใดหากปราศจากสายไฟและสายเคเบิ้ลให้รกรุงรังลูกตา) และบัดนี้ความปรารถนาเหล่านั้นกำลังจะเป็นจริงในเร็ววัน เมื่อ ครม.อนุมัติโครงการด้วยวงเงินลงทุนทั้งหมด 11,668.560 ล้านบาทใน 4 พื้นที่ คือเทศบาลนครเชียงใหม่ เมืองพัทยา เทศบาลนครหาดใหญ่ และเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งโคราชบ้านเราได้งบประมาณมากที่สุดเป็นลำดับที่ 3 (รองจากเชียงใหม่และพัทยาเท่านั้น) ด้วยงบประมาณจำนวนกว่า 2,400 ล้านบาท

หลังจากทราบข่าว ผมและทีมงาน Korat Startup ไม่รอช้า ระงับความตื่นเต้นแล้วติดต่อขอเข้าพบและสัมภาษณ์ คุณมงคล ตรีกิจจานนท์ ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมาทันทีซึ่งเราก็ได้รับเกียรติเป็นอย่างยิ่งแน่นอนว่าประเด็นฮอตคงหนีไม่พ้นเรื่องที่เกริ่นกล่าวไปแล้วเบื้องต้นรายละเอียดจะเป็นอย่างไรตามกันต่อยาวๆได้เลยครับ

pea_korat_ceoDSC_6404

ทราบมาว่าเร็วๆ นี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมากำลังจะมีการดำเนินงานในส่วนของโครงการใหญ่โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ซึ่งมีชาวโคราชจำนวนไม่น้อยกำลังจับตามอง ขอทราบรายละเอียดครับ |

ต้องเท้าความตั้งแต่แรกอย่างนี้ครับ โครงการนี้มีชื่อเต็มๆ คือ โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ (Major Cities Power System Development Project) ตอนนี้ยังอยู่ในแผนระยะที่ 1 ครับ โคราชก็เป็นหนึ่งใน 4 พื้นที่หลักซึ่ง ครม. อนุมัติให้ดำเนินการเป็นพื้นที่แรกๆ 4 พื้นที่ที่ว่าก็จะมีโคราช พัทยา เชียงใหม่ แล้วก็หาดใหญ่นะครับ งบประมาณลงทุนก็คือ 11,668.560 ล้านบาทครับ โดยในส่วนของโคราชได้งบประมาณถึง 2,434 ล้านบาท เฉพาะโคราชเมืองเดียว ซึ่งค่อนข้างจะเยอะ รองมาจากเชียงใหม่กับพัทยาเท่านั้นเอง

โดยงบประมาณส่วนนี้หลักๆ ก็คือการสร้างสถานีไฟฟ้า 1 แห่ง เพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น รองรับความมั่นคงในการจ่ายไฟให้เพียงพอต่อความต้องการของการขยายเมืองในอนาคต ซึ่งที่วางแผนเอาไว้ สถานีไฟฟ้าแห่งใหม่จะตั้งอยู่ในบริเวณสำนักงานการไฟฟ้าจังหวัดนครราชสีมาครับ นอกจากนี้ก็จะแบ่งออกไปดำเนินการในหลายๆ ส่วนซึ่งเกี่ยวเนื่องกัน ไม่ว่าจะเป็นสายส่งระบบ 115 KV ระบบจำหน่าย 22 KV แล้วก็ระบบสื่อสาร

เหตุผลที่โคราชต้องมีโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ |

เหตุผลสำคัญมีสามข้อครับ ข้อแรกคือเพิ่มความมั่นคงในการจ่ายไฟ ปัจจุบันเทศบาลนครนครราชสีมามีการขยายตัวมากขึ้น ทำให้มีอัตราความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น บางครั้งอาจเกิดปัญหาด้านสถานีไฟฟ้าไม่เพียงต่อความต้องการ ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาด้านความน่าเชื่อถือของระบบไฟฟ้า ปัญหาคุณภาพไฟฟ้า ปัญหาแรงดันตก เป็นต้น ข้อที่สองเกี่ยวเนื่องจากความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เนื่องจากเมืองเป็นชุมชนหนาแน่น มีปัญหาของพื้นที่จำกัดทำให้สายจำหน่ายและสายส่งมีระยะห่างจากอาคารน้อยมาก ถึงแม้ว่าจะถูกต้องตามมาตรฐาน แต่โอกาสผิดพลาดก็มีอยู่พอสมควร นอกจากนี้เนื่องด้วยการจ่ายไฟของเราเป็นแบบ Over Head เหนือพื้นดิน ก็ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุต่างๆ ได้ง่าย เช่นการที่ต้นไม้สูงเกี่ยวพันสายไฟ หรืออาจมีสัตว์ต่างๆ มากัด แทะ หรือพัวพันทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร นี่ยังไม่นับรวมอุบัติเหตุร้ายแรงอย่างอุบัติเหตุรถชนเสาไฟฟ้าหรือเหตุที่เกิดจากภัยธรรมชาติบ้าง เสาล้มบ้าง อะไรต่างๆ เหล่านี้ส่งผลต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ข้อสุดท้ายคือเรื่องของทัศนียภาพ โดยเฉพาะบริเวณสถานที่สำคัญๆ อย่างบริเวณรอบอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีและเขตคูเมืองเก่าซึ่งมีเสาไฟ สายไฟ สายสื่อสาร และสายเคเบิ้ลต่างๆ ที่แน่นและรกรุงรังไม่เหมาะสมและสวยงามสมกับเป็นเขตเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัด อันนี้ถ้าเอาลงดินก็จะทำให้ทัศนียภาพของเราสวยงาม โดยสรุปคือโคราชต้องการและต้องมีความมั่นคงด้านการจ่ายไฟ ต้องมีความปลอดภัย และต้องมีทัศนียภาพที่สวยงามครับ

ในส่วนของการนำสายไฟลงดิน อยากทราบว่าในทัศนะของคุณ โครงการนี้มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้างครับ |

ข้อดีก็อย่างที่บอกไปแล้ว เราจะมีความมั่นคงด้านพลังงานมากขึ้น มีความปลอดภัยมากขึ้น และมีภูมิทัศน์ที่สวยงามขึ้น สะอาดตามากขึ้น ในส่วนของข้อเสียจริงๆ มีน้อยมาก ยกตัวอย่างกรณีข้อเสียคือการที่เราฝังใต้ดินแล้ว สมมติถ้าเราทำสัญลักษณ์ไม่ชัดเจน เกิดมีหน่วยงานหรือประชาชนมาขุดเจาะบริเวณนั้นก็จะเป็นเหตุเสียหายทำให้ไฟฟ้าเกิดลัดวงจรได้เหมือนกัน ซึ่งตรงนี้ก็อาจจะต้องมีการทำสัญลักษณ์หรือทำลวดลายให้ชัดเจน นอกจากนี้ก็จะเป็นรายละเอียดในส่วนของการซ่อมแซม ซึ่งอาจจะทำได้ยากกว่าปกตินะครับ เพราะว่าเราจะต้องหาจุดเกิดเหตุให้เจอว่าเกิดลัดวงจรใต้ดินตรงไหน อย่างไรก็ตาม ข้อเสียต่างๆ เหล่านี้เราได้มีการประชุมทีมเพื่อป้องกันไว้ล่วงหน้าแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการทำสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ชัดเจนในบริเวณสายท่อเคเบิ้ลใต้ดิน หรือจัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการกับพนักงานให้มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานครับ

ขอทราบรายละเอียดการดำเนินการครับ |

หลักๆ ตามแผน โคราชบ้านเราจะแบ่งเป็น 3 โซน 3 ระยะการดำเนินการก่อสร้างเคเบิ้ลใต้ดินครับ ในโซนแรกก็จะมีบริเวณถนนบุรินทร์ ถนนโยธา ถนนบัวรอง ถนนจอมสุรางค์ยาตร์ ถนนสุรนารี ถนนพิบูลละเอียด ถนนโพธ์กลาง ในปี 61 เราจะต้องดำเนินการในส่วนนี้ให้แล้วเสร็จนะครับ ส่วนในโซนต่อไปก็จะเป็นถนนราชสีมาโชคชัย ถนนพลแสน ถนนไชยณรงค์ ถนนราชนิกูล ถนนชุมพล แล้วก็ถนนราชดำเนิน รอบๆ ลานย่าโม ส่วนเฟสที่ 3 ก็จะเป็นถนนจักรี ถนนมนัส ถนนยมราช ถนนอัษฎางค์ ถนนจอมพล ถนนมหาดไทย ถนนสรรพสิทธิ์ ถนนกำแหงสงคราม ก็จะครอบครองโซนในคูเมืองทั้งหมด

นอกจากโครงการนำสายไฟลงดินแล้ว ในปีนี้มีโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับการไฟฟ้าฯอีกไหมครับ อะไรบ้าง |

เรามีหลายโครงการครับที่จะช่วยทำประโยชน์ให้กับประชาชนชาวโคราช โครงการแรกที่ผมอยากพูดถึงคือโครงการเสาสะอาดที่การไฟฟ้าจับมือกับหลายๆ ภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อจัดระเบียบป้ายโฆษณาที่ติดตั้งบนเสาไฟฟ้าซึ่งเราก็อยากจะมีการพูดคุยกติกาให้ชัดเจนว่าจะทำอย่างไรขอความร่วมมืออย่างไรจะติดตั้งกันในจุดไหนบ้างที่เราอนุญาตเรื่องของป้ายโฆษณาต่างๆเป็นปัญหามากเหมือนกันครับไม่ใช่แค่ทำให้ดูรกสายตาผู้พบเห็นแต่ยังก่อให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งไม่ว่าจะเป็นผู้สัญจรใช้รถใช้ถนนหรือคนที่ใช้ทางเท้ารวมทั้งพนักงานของการไฟฟ้าเองเวลาจะซ่อมปรับปรุงระบบไฟฟ้าไม่มีรูเสียบเสาขึ้นไปนะครับไต่ขึ้นไปลำบากมากและอันตรายด้วย

อีกโครงการหนึ่งที่เราทำไปแล้วเมื่อวันที่ 20-28 .. ที่ผ่านมา ก็คือการจัดระเบียบเสาสื่อสาร เริ่มตั้งแต่บริเวณโรงแรมสีมาธานีไล่สายจนไปถึงหน้าเดอะมอลล์ อันนี้เป็นลักษณะจัดระเบียบก็คือเอาหน่วยงานสื่อสารทั้งหมด 21 บริษัทมาตกลงกันแล้วก็มาร่วมกันทำ เป็นลักษณะรวบสายเพื่อให้ดูสวยงาม ตรงนั้นเป็นเฟสแรกที่เราดำเนินการ ส่วนเฟสที่ 2 เราได้ kick-off แล้ววันนี้ (วันที่ 15 มีนาคม 2560) ไล่สายตั้งแต่หน้าห้างเดอะมอลล์จนถึง Terminal 21 นะครับ

นอกจากนี้ ทางการไฟฟ้าฯมีโครงการที่จะนำเอารถบัสแบบไร้มลพิษใช้ไฟฟ้าร้อยเปอร์เซ็นต์โดยฝีมือคนไทยมาทดลองใช้จริง อันนี้เป็นรถต้นแบบนะครับที่การไฟฟ้าฯลงทุนวิจัยโดยการจัดจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีพัฒนาขึ้น วิ่งได้ 200 กิโลเมตรในการชาร์จไฟหนึ่งครั้งเราตั้งใจจะใช้รถคันนี้ในการรับส่งเด็กนักเรียนโรงเรียนในเขตเทศบาลนครนครราชสีมาพนักงานของเรารวมถึงรับส่งเด็กนักเรียนที่มาดูศูนย์เรียนรู้ฯ

อีกโครงการที่ผมและการไฟฟ้าฯจังหวัดนครราชสีมาภาคภูมิใจเป็นพิเศษก็คือการได้รับรางวัลสำนักงานสีเขียว กรีนออฟฟิศ โดยได้รับรางวัลเมื่อปี 59 ที่ผ่านมา หมายความว่าทุกอย่างที่ใช้ในสำนักงานจะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้เป็นโทษน้อยที่สุด เรื่องของมลภาวะต่างๆ เรื่องงานเอกสารต่างๆ จะมีการควบคุมอย่างดี กระดาษต่างๆ ต้องรีไซเคิล ต้องประหยัดพลังงาน ภายในสำนักงานทุกจุดเราใช้หลอด LED หมด รวมทั้งมีการใช้โซล่าร์เซลล์ 15 กิโลวัตต์ ซึ่งจะทำให้ประหยัดไฟฟ้าได้เกือบร้อยหน่วยต่อวัน


TEXT : พลเชษฐ์ พันธ์พิทักษ์
PHOTO : NaBrucelee @ 9Thanwa Photography


Comments are closed.

Check Also

ด๊ะดาดราชสีมา (๑) | กาลเวลา – ภูมิปัญญา – จิตวิญญาณ – เรือนโคราช | รู้จักรากเหง้าก้าวสู่อนาคต ที่ ‘เรือนพ่อคง’ (ตอนแรก)

ก่อนเดินคุณต้องรู้จักเท้าฉันใด ก่อนก้าวคุณต้องเห็นจุดสต … …