Nishikawa Yasuyuki เข้าทำงานที่ธนาคาร 5 ปี ก่อนจะแต่งงานและลาออกไปช่วยธุรกิจเครื่องนอนของครอบครัวภรรยา ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1556 เป็นธุรกิจเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 450 ปี …ตอนที่ Nishikawa เข้ามาช่วยธุรกิจนั้น เขาพบว่า ยอดขายเครื่องนอนตกลงเรื่อยๆ ลูกค้าที่มาซื้อ ก็มีแต่ผู้สูงอายุ

Nishikawa จึงคิดที่จะทำสินค้าเพื่อคนหนุ่มสาวบ้างวันหนึ่ง ขณะออกไปวิ่งจ๊อกกิ้ง เขาสังเกตว่า รองเท้ากีฬามีสีสันสดใส และมี Bubble อากาศกันการกระแทก เขาจึงกลับมานำเสนอพนักงานที่บริษัท ทว่า ทุกคนต่างปฏิเสธเสียงแข็ง…

“ใครจะซื้อฟูกสีสดใสแบบนั้นกัน”
“ที่ผ่านมา ลูกค้าเราก็มีแต่ผู้สูงอายุ”
“เราจำเป็นต้องทำอะไรใหม่ๆ ด้วยเหรอ” 

Nishikawa ไม่ยอมแพ้ เขาใช้เวลา 1 ปีในการโน้มน้าวพนักงาน จนทุกคนยอม และลองค้นคว้า ผลิตฟูกสีสันสดใส พวกเขาตั้งชื่อว่า “Air” มาจากคอนเซปท์ที่ว่า หลับนุ่มสบายเหมือนนอนบนก้อนเมฆ สินค้าตัวนี้กลายเป็นสินค้าที่สร้างยอดขายหลายพันล้านเยนให้กับบริษัท จนวันหนึ่ง ท่านประธานบริษัทเรียก Nishikawa เข้าไป และถามเขาว่า “ไตรมาสหน้า พร้อมจะเป็นประธานหรือยัง” เมื่อเห็นเขาลังเล อดีตประธานฯ จึงกล่าวว่า….

“อย่าห่วงเรื่องการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีเดิม การปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่างหาก ที่จะสร้างขนบธรรมเนียมขึ้นมา อย่ามุ่งแต่จะอนุรักษ์ของเดิม แต่ต้องพัฒนาเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ พอรู้สึกตัว หันหลังกลับไปมองอีกที สิ่งที่เราปรับปรุงมาตลอดนั่นแหละ จะเป็นของเก่า จะเป็นขนบธรรมเนียม เป็นที่มาขององค์กรเรา

สิ่งสำคัญ คือ “จะเลือกรักษาอะไร และจะเลือกเปลี่ยนอะไร” คำพูดอดีตประธานฯ ทำให้ Nishikawa รู้สึกมั่นใจ และขึ้นเป็นประธานบริษัทตอนอายุ 38 ปี หลังจากนั้น เขาพยายามเลือกที่จะรักษา “ของเก่า” ของบริษัท กล่าวคือ การเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องนอน และค่อยๆ ปรับเพิ่ม “ของใหม่” เข้าไป ซึ่งของใหม่ก็มีตั้งแต่การจัดตั้ง “ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านการนอน” ซึ่งเดิมคือร้านขายเครื่องนอนกว่า 350 สาขาลูกค้าสามารถมาขอคำปรึกษาเรื่องการเลือกฟูก หมอน และเครื่องนอนอื่นๆ ได้

Nishikawa สร้างหลักสูตรเสริมสร้างความรู้เรื่องเครื่องนอนมากขึ้น มีตั้งแต่ระดับเริ่มต้น (Pillow Adviser) ระดับกลาง (Sleep Adviser) จนระดับผู้เชี่ยวชาญ (Sleep Master) ทำให้บริษัทสามารถอบรมพนักงานไปประจำศูนย์ฯ และสร้างรายได้จากการอบรมบุคคลภายนอกได้

Nishikawa พยายามรักษาธุรกิจที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ด้วยการรักษา “ของเก่า” กล่าวคือ ภูมิปัญญาและเทคโนโลยีที่มีพร้อมๆ ไปกับการเพิ่ม “ของใหม่” ตั้งแต่สินค้าและบริการใหม่ ตลอดจนหลักสูตรอบรม ซึ่งสร้างรายได้ใหม่

การรักษาสิ่งที่มีแต่โบราณให้ยั่งยืนนั้นไม่ใช่การมุ่งอนุรักษ์ระเบียบแบบแผนเดิม แต่คือการรู้จักเลือกคงของเก่า และพัฒนาของใหม่ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมในแต่ละยุคนั่นเอง เมื่อเวลาผ่านไป ของใหม่ จะกลายเป็นของเก่าคงไว้เพียง “ตำนาน” ของนักสู้ผู้ไม่หยุดยั้ง

ภาพประกอบ : www.projectdesign.jp
แหล่งข้อมูล : japan gossip

 


Comments are closed.

Check Also

Muuji Festival 2024 เทศกาลดนตรีแบบฉบับญี่ปุ่น ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ฉีกไอเดีย Festival แนวใหม่ Vibes ญี่ปุ่นจัดเต็ม ท่ามกลางเขาใหญ่

พร้อมเข้าสู่ปีที่ 2 อย่างยิ่งใหญ่! Muuji Festival 2024 … …