ตอนที่ 2 : “หลงตนเอง” ต้นเหตุความพ่ายแพ้ของจูล่ง

 

จูล่ง คือยอดนักรบในอุดมคติของหลายๆ คน โดยเฉพาะวีรกรรมฝ่าทัพรับอาเต๊า (เล่าเสี้ยน) จนเป็นที่เลืองลือสะเทือนแผ่นดิน ผสานกับการเป็นขุนพลไร้พ่าย ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของจูล่งทั้งยิ่งใหญ่และงดงาม แต่ใครเลยจะรู้ว่า จูล่ง วีรบุรุษแห่งเสียงสาน จะเคยปราชัยให้กับ แฮหัวหลิม แม่ทัพใหญ่ผู้ด้อยประสบการณ์ของวุยก๊ก เพียงเพราะจูล่ง ดูแคลนแฮหัวหลิม ทำให้เขาประมาทจนเกือบเสียชีวิตในสมรภูมิ

 

เรื่องราวนี้เกิดขึ้นเมื่อขงเบ้งยกทัพบุกวุยก๊ก โดยมีจูล่ง แม่ทัพเฒ่าวัย 70 เป็นแม่ทัพหน้า ฝ่ายวุยก๊กแต่งตั้งแฮหัวหลิม ผู้เป็นเขยขวัญของโจโฉเป็นแม่ทัพใหญ่รับศึก แฮหัวหลิมอ่อนหัดและด้อยฝีมือ จึงเสียท่าให้พยัคฆ์เฒ่าอย่างจูล่ง ชนิดแพ้แล้วแพ้อีกเสียขุนพลไปหลายคน

 

กระทั่งแฮหัวหลิมใช้อุบายซุ่มทหาร โดยใช้แผนยั่วขุนพล หลอกล่อให้จูล่งออกศึก แม้ที่ปรึกษาจูล่งจะห้ามไม่ให้เสือเฒ่าออกรบ แต่จูล่งผู้ชนะตลอดกาลกลับไม่สนใจ เพราะดูแคลนศัตรูว่าอ่อนหัด ประกอบกับต้องการสร้างผลงาน จึงยกทัพออกบุกตะลุย

 

แฮหัวหลิมซุ่มทัพไว้ตลอดทางรบไปถอยไปเพื่อล่อจูล่งเข้าสู่กับดักสังหาร เมื่อจูล่งติดกับดัก ทหารวุยก๊กที่ซุ่มอยู่ทั้งสี่ทิศก็บุกเข้าตีกระหนาบทหารที่ติดตามจูล่งล้มตายเกือบหมด จูล่งทำศึกตั้งแต่เช้ายันค่ำโดยมิได้พัก

ก็เริ่มเข้าตาจน หมดหวังที่จะรอด

 

ในวรรณกรมกล่าวว่า “จูล่งแหงนหน้าขึ้นมองฟ้าแล้วว่า เราทำศึกมาแต่หนุ่มจนแก่ ไม่เคยเสียทีแก่ผู้ใด ครั้งนี้คงจะเป็นวาระสุดท้ายของเราแล้ว” ศึกนี้จบลงตรงที่กวนหินและเตียวเปา 2 ขุนพลหนุ่ม ยกทัพมาช่วยจูล่งเอาไว้ ทำให้จูล่งรอดชีวิตได้อย่างหวุดหวิด

 

คุณผู้อ่านครับ “เมื่อใดที่คุณหลงตนเอง หายนะจะมาเยือน” ใครจะรู้ว่าจูล่งผู้เก่งกาจจะหลงกล เสียท่า แฮหัวหลิม แม่ทัพใหญ่ผู้ด้อยประสบการณ์อย่างง่ายดาย เหตุที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากการ “ดูแคลน” ศัตรู จนเกิดเป็นความประมาทและความประมาทคือหนทางหายนะที่คุณคาดไม่ถึง

 

ผู้บริหารหลายคนมีความสามารถ ทว่ากลับตัดสินใจผิดพลาดเพราะชอบ “ดูแคลน” คนอื่น บางคนอาการหนัก “ดูแคลน” ไม่พอยัง “ดูถูก” อีกต่างหาก อาศัยอารมณ์และความรู้สึกตนเอง ตัดสินสถานการณ์โดยปราศจากข้อมูล บ้างก็อาศัยข้อมูลเก่า ประสบการณ์เดิมมาเป็นเครื่องมือตัดสิน เพราะเชื่อว่าความสำเร็จในอดีตที่ผ่านไปแล้ว จะสามารถนำมาใช้กับปัญหาปัจจุบันได้ทุกเรื่อง (หากเหมือนใครบางคนก็ขออภัยด้วยนะครับ)

 

ความคิดแบบนี้คือ “จุดตาย” นักบริหาร โดยเฉพาะนักบริหารที่ชอบใช้ตนเองเป็นศูนย์กลาง พอมีคนเห็นแย้งหรือเห็นต่าง ก็มักจะพูดว่าผมอาบน้ำร้อนมาก่อนคุณ สร้างความเอือมระอาให้กับคนอื่น คราวนี้องค์กรก็จะเต็มไปด้วยพลพรรคใช่ครับพี่ ดีครับท่าน ถูกต้องครับนาย กลายเป็นพวกมากลากลงเหว ฉะนั้นหากต้องการให้องค์กรเจริญรุ่งเรือง นักบริหารต้องทำใจ ยอมฟังความเห็นต่าง ยกเลิกระบบ “ตัวกูคือศูนย์กลาง” เพราะคุณอาจจะไม่โชคดีเหมือนจูล่งนะครับ

 

เครดิต: เปี่ยมศักดิ์ คุณากรประทีป

ภาพประกอบ : nycreligion.info


Comments are closed.

Check Also

Muuji Festival 2024 เทศกาลดนตรีแบบฉบับญี่ปุ่น ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ฉีกไอเดีย Festival แนวใหม่ Vibes ญี่ปุ่นจัดเต็ม ท่ามกลางเขาใหญ่

พร้อมเข้าสู่ปีที่ 2 อย่างยิ่งใหญ่! Muuji Festival 2024 … …