เมื่อวันที่ 2 เมษายน นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีการค้นพบศิลาจารึกปราสาทเมืองเก่า เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน แต่ต่อมาไม่ปรากฏว่าถูกจัดแสดงหรือเก็บรักษาไว้ที่ใด กระทั่งผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง พบว่าเกิดความผิดพลาดจากการทำทะเบียนโบราณวัตถุเมื่อพ.ศ. 2550 ทำให้ไม่พบรายการของจารึกปราสาทเมืองเก่า เพราะถูกเขียนเป็นปราสาทเมืองแขก แต่อยู่ในอำเภอเดียวกันคือ อำเภอสูงเนิน จ.นครราชสีมานั้นว่า ตนได้รับรายงานการค้นพบศิลาจารึกปราสาทเมืองเก่า ซึ่งหายสาบสูญไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ว่าถูกเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ (พช.)มหาวีรวงศ์ จังหวัดนครราชสีมา แต่เกิดความผิดพลาดจากการทำทะเบียนโบราณวัตถุเมื่อ พ.ศ.2550 ทำให้ไม่พบรายการของจารึกปราสาทเมืองเก่า เนื่องจากถูกเขียนเป็นปราสาทเมืองแขก ซึ่งเป็นปราสาทคนละหลัง แต่อยู่ในอำเภอสูงเนินเช่นเดียวกันแล้ว โดยได้ขอให้ทางเจ้าหน้าที่ส่งรายละเอียดที่เกี่ยวข้องมาให้ตน เพื่อดูในรายละเอียด สำหรับความผิดพลาดจากการจัดทำทะเบียบโบราณวัตถุนั้น ยอมรับว่ามีอยู่บ้าง ในช่วงที่กรมศิลปากรมีนักวิชาการที่เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ค่อนข้างจำกัด แต่หากเทียบกับสัดส่วนการขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ซึ่งมีมากกว่า 100,000 ชิ้น ถือว่า เป็นสัดส่วนไม่มากนัก รวมถึงที่ผ่านมาทางกรมศิลปากร ได้ย้ำให้ผู้ที่ดำเนินงานในเรื่องนี้มีความละเอียดรอบคอบมากขึ้น

“ในส่วนของศิลาจารึกปราสาทเมืองเก่านั้น ผมยังไม่ทราบรายละเอียดมากนัก ทราบเบื้องต้นว่า ค้นพบที่ พช.มหาวีรวงศ์ จังหวัดนครราชสีมา โดยเจ้าหน้าที่ได้ส่งรูปมาให้ดู เท่าที่เห็นมีลักษณะหัวแหลม คล้ายศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหง และเท่าที่ดูน่าจะเป็นศิลาจารึก ที่เกี่ยวข้องกับอโรคยศาล หรือ สถานพยาบาลสมัย พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ ยังไม่มีความชัดเจน”นายอนันต์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามศิลาจารึกที่ค้นพบนี้ เบื้องต้นคิดว่าจะให้เก็บรักษาไว้ที่ พช.มหาวีรวงศ์ไปก่อน

 

 

แหล่งข้อมูล : มติชนออนไลน์


Comments are closed.

Check Also

รีวิว Be With You (2018) | ภาพยนตร์รีเมคจากประเทศญี่ปุ่นเอากลับมาทำใหม่ในสไตล์เกาหลี เรียกน้ำตาผู้ชมได้แทบทั้งโรง

Be With You : ปาฏิหาริย์ สัญญารัก ฤดูฝน   เหมือนกั … …