“ไทยสงวนบริการ” เตรียมทุบสถานีขนส่งผู้โดยสารนครราชสีมาทิ้ง หลังใช้งานนาน 30 ปี ทุ่มงบ 1,000 ล้านบาทสร้างใหม่อาคารหลังเดียวสูง 4 ชั้น ใช้คอนเซ็ปต์สนามบินสุวรรณภูมิ รองรับรถไฟทางคู่-ไฮสปีดเทรนด์

นายศรรบ หล่อธราประเสริฐ กรรมการผู้จัดการบริษัทไทยสงวนบริการ จำกัด ผู้บริหารสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดนครราชสีมา แห่งที่ 2 เปิดเผยว่า ขณะนี้มีแผนจะพัฒนาปรับปรุงสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดนครราชสีมา แห่งที่ 2 อย่างจริงจัง หลังจากใช้งานมานานกว่า 30 ปี โดยจะทำการรื้อสถานีเดิมทิ้งทั้งหมด แล้วสร้างใหม่ในวงเงิน 1,000 ล้านบาท บนพื้นที่ประมาณ 40,000 ตารางเมตร หรือประมาณ 10 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 30 ไร่  โดยสถานีขนส่งฯใหม่จะมีขนาดเล็กลง เพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการและปรับตัว รองรับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในอนาคต เนื่องจากในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีการเปิดให้บริการรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรนด์) ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารมีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น

นายศรรบ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานีขนส่งฯที่จะสร้างขึ้นใหม่ ใช้คอนเซ็ปต์เดียวกับสนามบินสุวรรณภูมิ คือ ออกแบบเป็นอาคารสูง 4 ชั้น ประกอบด้วย ชั้น 1 จะเป็นชานชาลาและร้านอาหารเชิงพาณิชย์ ชั้น 2 จะเป็นชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร และห้องรับรองผู้โดยสาร (เลาจน์) ของบริษัทเดินรถต่างๆ ที่จะมีบริการอาหารเครื่องดื่ม ซึ่งบริษัทฯ จัดเตรียมไว้คล้ายกับเลาจน์ของสายการบินในสนามบิน ชั้น 3 เป็นกล่องนอน (สลีพ บ็อกซ์) เหมือนกับที่สนามบินดอนเมือง และ ชั้น 4 เป็นออฟฟิศของบริษัท ส่วนบริเวณรอบๆ อาจเป็นใช้เป็นพื้นที่สำหรับจอดรถที่สะดวกและเข้าถึงง่ายขึ้น นอกจากนี้จะควบคุมทางเข้าออกเหมือนกับระบบสนามบิน โดยแยกผู้โดยสารและผู้ที่ไม่ใช่ผู้โดยสารออกจากกันอย่างชัดเจน ต่างจากปัจจุบันที่ทุกคนปะปนกัน และเข้าออกได้ทุกทิศทาง ซึ่งไม่ค่อยปลอดภัย รวมทั้งจะจัดระบบบริหารจัดการช่องจอดรถใหม่โดยนำเทคโนโลยีระบบซอฟท์แวร์มาบริหารจัดการช่องจอดรถ และลดจำนวนช่องจอดจากเดิม 110 ช่อง เหลือ 70 ช่อง ซึ่งจะใช้พื้นที่น้อยลง และจะใช้วิธีหมุนเวียนใช้ช่องจอดเหมือนระบบเครื่องบิน เช่น รถเส้นทางชัยภูมิมาจอดก่อน เที่ยวต่อไปจะเป็นรถเส้นทางบุรีรัมย์ เป็นต้น

นายศรรบ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบสถานี คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี แล้วเสร็จในช่วงปลายปี 62 หรือต้นปี 63 จากนั้นจะนำรูปแบบไปเสนอขออนุญาตจาก ขบ. เพื่อพิจารณา หากเห็นชอบ บริษัทฯจะหากู้เงินมาลงทุน คาดว่าจะเริ่มสร้างได้ในช่วงปี 63-64 และจะเปิดให้บริการได้ในปี 65-66 อย่างไรก็ตามปัจจุบันในปี 61 มีจำนวนผู้โดยสารมาใช้บริการสถานีขนส่งนครราชสีมาประมาณ 10 ล้านคน ส่วนปี 62 คาดว่าจะมีผู้โดยสารมากกว่า 10 ล้านคน ส่วนจำนวนเที่ยววิ่งปัจจุบันอยู่ที่ 1,300 เที่ยววิ่งต่อวัน ลดลง 700 เที่ยววิ่ง เมื่อเทียบกับปี 49 ซึ่งอยู่ที่ 2,000 เที่ยววิ่งต่อวัน โดยมีสาเหตุหลักมาจากผู้โดยสารหันไปใช้บริการสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) มากขึ้น โดยเฉพาะในเส้นทาง กรุงเทพฯ-อุดรธานี และกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี

 


แหล่งข้อมูล : เดลินิวส์


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …