หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า ขณะนี้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวหรือยัง! หลังจากที่เริ่มเห็นเครื่องยนต์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจบางตัวดีขึ้น เช่น ภาคส่งออกท่องเที่ยว

นมุมนักวิชาการ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ออกมาตอกย้ำว่าภาพรวมทางเศรษฐกิจปีนี้ดีกว่าปีที่ผ่านมา

ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ มองว่าเวลานี้เศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณบวก ที่มาจาก ภาคส่งออกจากที่ติดลบมาตลอด 5-6 ปี ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณบวกแล้ว ยอดส่งออกในช่วงไตรมาส 1/2560 มีมูลค่า 56,456.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 4.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือว่าขยายตัวสูงสุดในรอบ 4 ปี

“ถ้าเป็นแบบนี้คาดว่าทั้งปีการส่งออกจะขยายตัว 4-5% ราคาพืชผลทางการเกษตรที่สำคัญก็ดีขึ้น เช่น ยาง ราคาน้ำมันก็ดีขึ้น ถ้ามองในแง่ปริมาณส่งออกก็เป็นบวก เช่น การส่งออกคอมพิวเตอร์ไปจีน และอเมริกา”

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง (ภาพถ่ายโดย waymagzine.org)
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง (ภาพถ่ายโดย waymagzine.org)

นอกจากนี้ภาครัฐจะมีงบกลางปีที่จะลงคลัสเตอร์จังหวัดเข้ามา 8-9 หมื่นล้านบาท ก็จะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทาง อีกทั้งยังมองว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้โดยภาพรวมก็ฟื้นตัวเมื่อรากหญ้าเริ่มดีขึ้นกำลังซื้อก็จะตามมา โดยจะเห็นว่าราคาหุ้นอะไรก็ตามที่เกี่ยวโยงกับรากหญ้า เช่น ธุรกิจเช่าซื้อ หรือซื้อเงินผ่อน ธุรกิจเหล่านี้หุ้นจะดีหมด แม้ไม่ได้ดีแบบก้าวกระโดด แต่ก็ได้เห็นว่าเป็นสัญญาณบวก

สำหรับราคาน้ำมันก็ยังมองว่าไม่น่าจะผันผวนไปมากกว่านี้ (ถ้าไม่มีเหตุการณ์ไม่คาดคิด) ส่วนค่าเงิน เงินดอลลาร์ เงินเยน คงแข็งค่าขึ้นเพราะยังมีความวุ่นวาย ส่วนอียูก็น่าจะมีความเสี่ยงน้อยลง

อย่างไรก็ตามความผันผวนของค่าเงินไม่ได้มากกว่าปกติ แต่เงินบาทคงแข็งค่าขึ้นเพราะเราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาก ไม่มีเงินไหลเข้า และมองว่าน่าจะแข็งค่าที่สุดในภูมิภาคซึ่งผู้ส่งออกไม่ชอบ

เครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

สำหรับเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเวลานี้ ถ้าตอบในเชิงนักวิชาการ แบ่งเป็น 2 ระยะคือระยะสั้นและระยะยาว ถ้าระยะสั้น มีการอัดฉีดเงินเข้าไปก็จะช่วยได้ระดับหนึ่ง

ซึ่งในรัฐบาลนี้ก็มีการอัดฉีดเล็กๆ อยู่บ้าง เช่น กองทุนหมู่บ้านฯ ช่วยด้านปัญหาภัยแล้งที่มีงบช่วยเหลือเป็นครั้งคราว โครงการช็อปช่วยชาติเหล่านี้ก็ทำให้เศรษฐกิจหมุนได้สั้นๆ อย่างโครงการช็อปช่วยชาติก็มีหลายคนที่ไปซื้อของที่ไม่ได้ตั้งใจจะซื้อ เหล่านี้ได้สะท้อนผลบวกออกมาคือ ช่วยกระตุ้นจีดีพีได้ครึ่งเปอร์เซ็นต์เป็นอย่างมาก เป็นการรักษาความเชื่อมั่นด้วยว่าไม่ทำให้รัฐบาลนิ่งดูดาย

ส่วนระยะยาว ก็ต้องดูว่ารัฐจะทำอะไรที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวระยะยาว เพียงแต่ทำยาก และใช้เวลานาน และกว่าจะเกิดผล

ยกตัวอย่าง เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ที่ขณะนี้การลงทุนยังไม่เกิดขึ้นทันที ซึ่งเวลานี้ภาครัฐออกมาตรการ สิทธิประโยชน์มากมาย ตรงนี้หลายเรื่องที่ผมเห็นด้วย เช่น มีการกระตุ้นการใช้เทคโนโลยี และการสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนา เหมือนการสนับสนุนพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ดที่ทำให้ทุนสัญชาติญี่ปุ่นตบเท้าเข้ามาปักฐานจำนวนมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งเทียร์ 1 เทียร์ 2 เทียร์ 3 จนกลายเป็นเกิดอุตสาหกรรมครบวงจรขึ้น

ดร.สมชัย มองว่าในขณะเดียวกันปัญหาก็มีเกิดขึ้นได้ และรัฐบาลจะต้องเตรียมพร้อมรองรับด้วย เช่น ทุนไหลเข้ามาแล้วจะมีแรงงานฝีมือรองรับเพียงพอหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้องมีคนรองรับ เพราะถ้า ไม่มีความพร้อมส่วนนี้นักลงทุนก็ไม่เข้ามาลงทุน หรือต้องปลดล็อกโดยนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีการพูดในอีอีซีว่าควรจะปลดล็อกได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าทำได้ก็น่าจะเกิดประโยชน์ ซึ่งเบื้องต้นนโยบายรัฐ ก็เปิดช่องให้ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมาไทยได้มากขึ้น

นอกจากนี้สิ่งที่จะเป็นประโยชน์มากคือการวางระบบเทรนนิ่งคน หรือการฝึกอบรม โดยควรมีวิธีเทรนนิ่งแบบคิดนอกกรอบ ไม่ใช่แค่สอนทำดอกไม้ เพราะเป็นทักษะเก่า ควรจะเป็นในรูปแบบการใช้ดิจิตอล หรือซอฟต์แวร์ดีๆ

ระบบสวัสดิการทั่วหน้า

สำหรับเรื่องมาตรการกระจายรายได้ของไทยมองว่า ในปัจจุบันยังทำได้น้อยมาก และเรื่องที่ภาครัฐควรแตะให้มากกว่านี้ก็ไม่แตะ

เช่น ระบบการคลัง ที่ลดความเหลื่อมล้ำก็ทำน้อย จริงๆแล้วควรทำ 2 ด้านทั้งด้านภาษีและการใช้จ่ายของรัฐ ซึ่งในด้านการใช้จ่ายของรัฐนั้น ส่วนใหญ่ประโยชน์ไม่ได้เกิดกับคนจนแต่ไปเกิดกับคนรวย เช่น โครงการจำนำข้าว ที่ช่วยคนจนเพียง 15% ขณะที่ 85% ไปตกที่คนรวย

ดังนั้นผมอยากให้ภาครัฐทำระบบสวัสดิการทั่วหน้ามากกว่า เนื่องจากจะเป็นการดูแลรากหญ้าในช่วงประสบปัญหาภัยแล้ง ตกงาน เจ็บป่วย หรือตาย เหล่านี้จะต้องมีที่พึ่งได้ ไม่ใช่พึ่งพาครอบครัวเพราะเวลานี้ครอบครัวมีขนาดเล็กลง คนมีลูกน้อยลง มีคนสูงวัยมากขึ้น มีเครือญาติน้อยลง ต่อไปรุ่นลูกจะมีแต่เพื่อน ฉะนั้นภาครัฐจะต้องเข้ามาช่วย

“เวลานี้พอเป็นระบบประชานิยม กลายเป็นเรื่องที่ให้เฉพาะคนที่เป็นฐานเสียง ยกตัวอย่างเช่นจำนำข้าว ก็มองว่าชาวนาเป็นฐานเสียงให้”

ปัจจุบันระบบสวัสดิการทั่วหน้าในรัฐบาลก็มี เช่น มีเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดและยากจนอายุ 0-3 ขวบ ที่ให้ 600 บาทต่อเดือน ระยะ 3 ปี ซึ่งรัฐบาลยังให้น้อยไป ถ้าเป็นในต่างประเทศจะให้อย่างน้อย 6 ปีและให้แบบทั่วหน้า ของเราให้แต่เด็กยากจน

อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ผ่านมายังทำได้ไม่มาก เพราะโครงสร้างทางการเมืองที่มีความเหลื่อมล้ำ คืออำนาจกระจุกอยู่ในมือคนเพียงไม่กี่คน พอเป็นแบบนี้นโยบายที่จะให้กระจายรายได้ก็ออกมายาก เพราะคนมีอำนาจจะเสียประโยชน์

เช่น เรื่องกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะจะทำให้เงินออกจากกระเป๋าคนรวย ที่เวลานี้มองว่าจะมีความเป็นไปได้สูงที่กฎหมายนี้ออกมาไม่ทันในรัฐบาลนี้ซ้ำรอยเหมือนรัฐบาลก่อนๆ อีก

 

ฐานเศรษฐกิจ
แหล่งข้อมูล : ฐานเศรษฐกิจ


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …