ชาวโคราชรวมพลังไม่เอาแนวคิด “การรถไฟ-ที่ปรึกษา” หวังเบรกไม่ทุบสะพานสีมาธานี อ้างรถจะติดมโหฬารนานถึง 30 เดือนคุยเซฟงบได้อีก 1,300 กว่าล้าน “สุรวุฒิ”ขอเห็นใจคนโคราชรู้ดีเมืองจะโตยังไงเสนอทุบ 2 สะพานทั้ง “สีมาธานี-หัวทะเล” เซฟงบเทียบไม่ได้กับเศรษฐกิจเมืองโคราช นักธุรกิจหอการค้าฯงงเหมือนรัฐบาล-การรถไฟไม่จริงใจ

เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2561 ณ หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลาง จ.นครราชสีมา ได้มีการประชุมใหญ่การมีส่วนร่วมของประชาชน(นำเสนอผลการศึกษาร่างรูปแบบโครงการ)โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ขุมทางจิระ งานปรับปรุงรูปแบบรายละเอียดก่อสร้างทางรถไฟอำเภอสีคิ้วและตัวเมืองนครราชสีมา โดยนายกฤษดา มัชฌิมาภิโร ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการบริหารโครงการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมี นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วย นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา และนักธุรกิจ ประชาชนจำนวนมากมาร่วมรับฟัง

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ในนามจังหวัดนครราชสีมา ขอขอบคุณพี่น้องชาว จ.นครราชสีมา ที่มาร่วมแสดงข้อคิดเห็น เนื่องจากทีมคอนเซาท์และทีมการรถไฟแห่งประเทศไทยได้มาพบกับทางจังหวัด พูดถึงการเปลี่ยนแปลงการยกระดับรถไฟรางคู่ที่เคยคุยกันไว้แต่เดิม บริเวณในเขตเทศบาลนครราชสีมา หลักใหญ่คือ จะมีการทุบสะพานสีมาธานี แต่เสนอว่า อาจจะมีปัญหาเรื่องการจราจร และสามารถขยับจุดจอดเดิมของการรถไฟ ห่างจากจุดจอดเดิมของทางรถไฟอีก 160 เมตร ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องทุบสะพานลอยสีมาธานีแล้ว ก็จะใช้วิธีมายกระดับเมื่อพ้นสะพานสีมาธานี”

“ตนได้รับทราบและเสนอกับทางผู้ศึกษา กับทางการรถไฟว่า เรื่องนี้จะกระทบกับพี่น้องประชาชน จึงอยากให้มีการเปิดรับฟังข้อคิดเห็นของพี่น้องประชาชนอีกครั้ง ทางคณะที่ปรึกษาก็บอกว่าจะมีการประชุมปลายเดือน ไฟนอลรีพอร์ตอยู่แล้ว ตนจึงได้ขอเพิ่มมาอีกครั้ง ก่อนที่จะไปถึงไฟนอล ขอให้พี่น้องประชาชนชาวโคราช ได้มาแสดงข้อคิดเห็น เพราะถ้าไปถึงไฟนอลแล้วจะแก้ไขไม่ได้ จึงได้เชิญมาวันนี้ แต่ไฟนอลก็ยังมีอยู่ วันนี้หวังว่าจะเกิดประโยชน์ในการพัฒนารถไฟรางคู่ของเรา ขอให้แสดงความคิดเห็นได้เต็มที่” ผู้ว่าฯวิเชียร กล่าว

นายสุรวุฒิ เชิดชัย กล่าวว่า “ตอนแรกที่มาวันนี้คิดว่าจะทุบสะพานสีมาธานีไม่พอต้องทุบสะพานหัวทะเลให้ด้วย เพราะโครงการรถไฟรางคู่น่าจะยกระดับยาวถึงหัวทะเลได้เลย จะสะดวกขึ้นกว่าเดิม ต้องขอให้ที่ปรึกษาถามพวกเราก่อนเรื่องการจราจรในตัวเมืองโคราช กรณีเรื่องการทุบสะพานสีมาธานี ที่ใช้เวลานาน ตนอายุ 50 กว่าปีแล้วก็รอทางยกระดับมา 50 ปีแล้วเช่นกัน อย่าง 5 แยกหัวรถไฟถ้าทางยกระดับ รถก็ไม่ต้องรอนิ๊งหน่องได้ข้ามทางรถไฟตลอดชีวิต”

“งบประมาณ 1,300 ล้านที่ประหยัดจากการไม่ทุบสะพานสีมาธานี เทียบไม่ได้กับขนาดเศรษฐกิจของโคราชน้อยมาก อย่างที่ปรึกษาบอกว่าโครงการรถไฟไทย-จีนจะเริ่มเมื่อไหร่อีก 5-6 ปี หากทุบสะพานสีมาฯก็จะมีปัญหา ตนก็ขอถามว่าแล้วทำไมไม่ทุบหลังจากรถไฟไทย-จีนสร้าง

นายสุรวุฒิ กล่าวต่อว่า “การที่เราทราบว่าจะมีรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูงมาโคราช ความหมายก็คือความเจริญที่จะตามมา และอะไรที่เข้ามาในเมืองแล้วไม่สร้างการเจริญเติบโต ก็ควรตัดออก หากมีทางรถไฟแล้วการปรับขยายหรือเพิ่มถนนเพื่อเชื่อมต่อสถานีรถไฟทางเทศบาลก็พร้อมจะทำควบคู่ ซึ่งเราอยากได้ข้อมูลที่เป็นจริงมากๆเพื่อสนับสนุนเรื่องนี้ เราอยากเห็นการสร้างแล้วไม่ทำให้เดือดร้อนคนในพื้นที่”

“พวกเราไม่มีเจตนาที่จะไม่อยากเห็นความเจริญ อยากให้เห็นใจพวกเราซึ่งมองแล้วอะไรที่ทำให้เรามีความสุขขึ้น ถ้าเป็นไปได้ก่อนที่จะสรุปโครงการ ตนอยากให้ทุบสะพานหัวทะเลอีกแห่งด้วย” นายสุรวุฒิ กล่าว

ด้านนายอรชัย ปุณณะนิธิ กรรมการหอการค้าโคราช กล่าวว่า “เท่าที่ตนมองเหมือนรัฐบาลขาดความจริงใจ เท่าที่ฟังดูจากการรถไฟฯเหมือนไว้ใจไม่ได้ อย่างรถไฟความเร็วสูงดูเหมือนว่าจะเกิดขึ้นยาก เท่าที่ติดตามข่าวมารัฐบาลไทย-จีนยังตกลงไม่ได้ อยากถามว่าในเมื่อจะยกระดับทางรถไฟ ทำไมไม่ยกยาวจากสีมาธานีไปถึงหัวทะเล ทำไมต้องมายกขึ้นยกลง จะยกยาวไปถึงสถานีบ้านเกาะเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงพอดี เสียเงินเท่ากันเสียทีเดียวเลย แล้วพื้นที่ระดับล่างก็ไม่ได้รับผลกระทบอีกด้วย”

ทางด้านทีมผู้จัดการโครงการและวิศวกรด้านจราจร นำโดยนายบุญพา สืบสินสัจจวงศ์ วิศวกรโครงการ บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด กล่าวว่า “ที่ปรึกษาเองก็ได้รับ และประสานกับกลุ่มรถไฟ ไทย-จีน ซึ่งรถไฟ ไทย-จีน ณ ปัจจุบันออกแบบตัวสถานีค่อนข้างจะนิ่งแล้ว ขยับตัวสถานีมาใกล้เคียงกับสถานีรถไฟทางคู่ปัจจุบัน เยื้องชิดเข้ามาทางชุมทางจิระมากขึ้น ประมาณ 160 เมตร จากตำแหน่งเดิมที่เคยออกแบบไว้ ซึ่งจากตำแหน่งตรงนี้ แต่เดิมรถไฟทางคู่ของเรานั้น สามารถจะลอดสะพานสาย 2 แล้วตัดระดับขึ้นไป การขยับสถานีนครราชสีมาของรถไฟ ไทย-จีน ทำให้เราสามารถที่จะลอดสะพานสีมาธานีแล้วตัดระดับเข้าหาสถานีชั้น 2 ของรถไฟ ไทย-จีนได้”

“การก่อสร้างรถไฟทางคู่ มาบกะเบา-จิระ บริเวณในเขตตัวเมืองนครราชสีมา คือสะพานสีมาธานี ส่วนแรก เราได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล เส้นทางที่เกี่ยวข้องกับโครงการของเราที่สำคัญมี 3 ทางหลวง และถนนในเขตเทศบาลที่เกี่ยวข้องมี 2 เส้นทาง คือ ถนนมุขมนตรี และถนนสืบศิริ ส่วนทางหลวงหมายเลข 2 คือ ถนนมิตรภาพ ทางหลวงหมายเลข 204 ซึ่งเป็นบายพาสทางเลี่ยงเมือง และทางหลวงหมายเลข 304 ซึ่งเชื่อมจากปักธงชัยเข้าสู่ตัวเมือง จะเห็นว่า ถนนมิตรภาพ เป็นถนนที่มีความสำคัญกับชาวโคราช และประชาชนที่ต้องการสัญจรไปจังหวัดอื่นๆของภาคอีสาน และเชื่อมโยงจากนอกเมืองเข้าสู่ตัวเมืองโคราช”

“ดังนั้นปริมาณจราจรที่รองรับในปัจจุบันของรถทุกประเภท อยู่ประมาณ 118,000 คัน/วัน เส้นทางที่ถนนมิตรภาพ พาดผ่านจะประกอบไปด้วย แหล่งธุรกิจการค้าที่มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้ง ห้างสรรพสินค้า สถานพยาบาล สถานศึกษา สถานีขนส่งผู้โดยสาร หรือ บขส.ใหม่ จากข้อมูลที่กล่าวมาจะเห็นว่า ถนนมิตรภาพมีความสำคัญกับชาวโคราชที่เดินทางในตัวเมือง และผู้ที่สัญจรผ่านไปจังหวัดอื่นๆในภาคอีสาน”

“การดำเนินการก่อสร้างในโครงการของเราจำเป็นจะต้องมีการรื้อถอนสะพานข้ามแยกบริเวณโรงแรมสีมาธานี วิเคราะห์การจราจรเล็งเห็นว่าน่าจะเกิดปัญหาและผลกระทบต่างๆมากมายให้กับชาวโคราช จะก่อให้เกิดปัญหารถติด ผลกระทบต่างๆจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของชาวโคราชประมาณ 30 เดือน”

“หากจะต้องเดินทางผ่านถนนช่วงที่มีการก่อสร้างการรื้อสะพานต้องเผื่อเวลาในการเดินทาง 30-50 นาที แต่ถ้าเป็นช่วงเทศกาล คิดว่าเพิ่มขึ้น 10% จากวันปกติ ความยาวแถวคอย การคอยสะสมเพิ่มมากขึ้น ประมาณ 1.8 กม.คือ 4 ชั่วโมง 20 นาที แต่ถ้าเป็นช่วงเทศกาลที่มีความสำคัญ ปีใหม่ สงกรานต์ ที่หยุดยาว ปริมาณจราจรเพิ่มขึ้นเป็น 30 % รถจะติดขนาดไหน รถจะเข้ามาในระบบ จะติดขัดถึง 16 ชั่วโมง”

“ดังนั้นที่ปรึกษาทางด้านจราจรจึงขอ สนับสนุนแนวทางที่จะไม่รื้อสะพานข้ามแยกสีมาธานีเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาและอุปสรรคด้านการจราจร ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เน้นย้ำว่าหากการออกแบบทางด้านวิศวกรรมสามารถดำเนินการได้ จากที่กล่าวมาว่า ที่บอกว่าการรื้อสะพานมี 3 ช่วง จะใช้เวลาทั้งหมด 30 เดือน แต่เราไม่สามารถที่จะก่อสร้างทางรถไฟยกระดับไปถึงสถานีชั้น2 โคราชได้ จนกว่า สถานีโคราชที่เป็นของไทย-จีนจะแล้วเสร็จ”

“ซึ่งตามแผนการก่อสร้างจะแล้วเสร็จปี2566 แต่เราก็ไม่แน่ใจว่า 2566 จะเสร็จแน่นอนหรือไม่ ในการที่จะจัดการจราจรระหว่างนั้นคือ เราจะต้องมีการติดสัญญาณไฟแดง ไฟเขียว คือเราจะมีการจราจรติดขัด จนกว่าจะมีการก่อสร้างสถานีโคราชเรียบร้อย ซึ่งไม่รู้ว่าจะนานแค่ไหน เราจึงอยากฟังความคิดเห็นของประชาชนชาวโคราช ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย กับการรื้อสะพาน หรือมีข้อคิดเห็นอย่างไร เพื่อที่จะได้รับไปพิจารณาต่อไป”


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …