ผลสำรวจ “มทร.อีสาน” ชี้คนโคราชส่วนใหญ่ต้องการรถขนส่งระบบราง เร่งปั้นบุคลากรรองรับการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมระบบรางอาเซียน ตอบโจทย์เส้นทางรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูง เชื่อมทางสายไหมของจีน ที่จะไปท่าเรือแหลมฉบัง เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ EEC

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน อ.เมือง จ.นครราชีมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เปิดเผยว่า “ภารกิจหนึ่งของ มทร.อีสาน คือการทำงานที่ตอบสนองความต้องการของชุมชน ของคนโคราช เช่น การเปิดหลักสูตรระบบราง เพื่อตอบรับเส้นทางเดินรถระบบความเร็วไปยังจังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีด้านการคมนาคมที่จะเป็นประโยชน์และเป็นการอำนวยความสะดวกของคนภาคอีสาน และเมื่อเกิดเส้นทางขนส่งทางรางและรถไฟความเร็วสูงที่ตัดผ่านจังหวัดนครราชสีมา”

“มทร.อีสาน โดยศูนย์บริการวิชาการด้านบริหารธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ จึงได้จัดทำผลสำรวจเกี่ยวกับความคิดของคนโคราชต่อระบบการขนส่งทางรางของประเทศไทย ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 23 มีความต้องการใช้เส้นทางรถไฟรางคู่ จากชุมทางถนนจิระ-ไปขอนแก่น ในขณะที่ถ้าเป็นรถไฟความเร็วสูงต้องการใช้เส้นทาง กรุงเทพ-โคราช กว่าร้อยละ 36.4”

“นอกจากนี้ยังอยากให้มีการสร้างเส้นทางรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูงให้คลอบคลุมทั้งประเทศ มากกว่าร้อยละ 70 และคิดว่าหากก่อสร้างเสร็จจะทำให้การเดินทางสะดวกรวดเร็วมากขึ้น สำหรับปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นคิดว่าอาจเกิดปัญหาระหว่างการก่อสร้างและจุดคุ้มทุนจากการดำเนินโครงการ”

ผศ.ดร.วิโรจน์ กล่าวอีกว่า “และสุดท้ายในภาพรวมความคิดเห็นคนโคราชส่วนใหญ่เห็นด้วยต่อการพัฒนาระบบขนส่งทางรางกว่าร้อยละ 67.6 และอยากให้มีการศึกษาถึงความคุ้มค่าและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากโครงการ โดยตนอยากให้ทุกภาคส่วนเข้ามีส่วนร่วมกับเทคโนโลยีการคมนาคมมากขึ้น เพราะโครงการเหล่านี้เป็นโครงการที่ดี เป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นศักยภาพของจังหวัดนครราชสีมา รวมถึงภาพจากสายตาชาวต่างชาติด้วย”

“ตนเชื่อว่า จังหวัดนครราชสีมานั้น มีศักยภาพสูงมาก ที่จะเป็นศูนย์กลางของระบบรางของภูมิภาคอาเซียน เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ของประเทศไทย เนื่องจากอยู่จุดศูนย์กลางประเทศ มีโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่ อยู่ในจังหวัดเดียวกัน ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางสายไหมของจีน ที่จะไปท่าเรือแหลมฉบัง เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ EEC จึงเหมาะที่จะก่อตั้งอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีระบบรางในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเป็นอย่างมาก”

“ซึ่งอุตสาหกรรมระบบรางนี้มีมูลค่ามหาศาล ดังนั้นขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยพัฒนา ทดสอบ และถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงขึ้นมา เพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงให้กับนักศึกษา และผู้ประกอบการที่สนใจ เป็นการสร้างบุคลากรเตรียมความพร้อมไว้สำหรับการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบรางในอนาคต” ผศ.ดร.วิโรจน์ กล่าว


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …