ตร.เพิ่มความเร็วใช้ปีหน้าโทษปรับตามขั้นบันได ด้านทางหลวงหนุนตำรวจผลวิจัยชี้ซิ่งอย่างปลอดภัย โดยทางหลวงนอกเขตเมือง วิ่งเลนขวาต้องไม่ต่ำกว่า 80 กม./ชม. นายสุจิณ มั่งนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง(ทล.) เปิดเผยว่า กรณีพล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บัญชาการกองบัญชาการการศึกษา (รอง ผบช.ศ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในฐานะคณะกรรมการแก้ไขกฎหมายจราจรสตช. ได้สรุปความคืบหน้าเรื่องการแก้ไขกฎหมายความเร็วรถโดยกำหนดให้บนทางด่วนใช้ความเร็วได้100-110 กม. จากเดิมที่กำหนดความเร็วในเขตเมืองไม่เกิน 80 กม.ต่อชม.และนอกเขตเมืองที่ 90 กม.ต่อชม.นั้น ถือว่าสอดคล้องกับที่ ทล.ได้นำเสนอข้อมูลความเร็วที่เหมาะสมบนทางหลวงและทางพิเศษหรือมอเตอร์เวย์รวมทั้งดอนเมืองโทลเวย์ เสนอพล.ต.ต.เอกรักษ์ โดยทล.เห็นว่าความเร็วทั่วไปที่เหมาะสมกับทางหลวงและดอนเมืองโทลเวย์ซึ่งเป็นทางยกระดับคือไม่เกิน100กม. ต่อชม. ส่วนมอเตอร์เวย์ไม่เกิน 120 กม.ต่อชม แต่ทางด่วนระดับดินไม่เกิน 110 กม. ต่อชม. สำหรับความเร็วเฉพาะจุดเช่น ทางโค้งคือ 45-55กม.ต่อชม.ขึ้นอยู่กับพิกัดความโค้ง ส่วนทางหลวงในเขตชุมชนควรกำหนดว่าเขตชุมชนให้ลดความเร็ว จะเหมาะสมกว่ากำหนดตัวเลขความเร็วที่ชัดเจน เพราะรถส่วนใหญ่ใช้ความเร็วที่60-70กม.ต่อชม.อยู่แล้ว นายสุจิณ กล่าวต่อว่า การกำหนดความเร็วของทางหลวงขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยคือ 1.ความเร็วที่ใช้ในการออกแบบ และจัดการด้านความปลอดภัยให้เพียงพอโดยทั่วไปจะอยู่ที่ 90-110 กม.ต่อชม.สำหรับทางหลวงทั่วไปขึ้นกับความกว้างของเขตทางหลวง ส่วนมอเตอร์เวย์จะอยู่ที่ 130-140 กม.ต่อชม. 2. ความปลอดภัยจากอันตรายข้างทางเช่น ต้องอยู่ห่างในระยะที่ปลอดภัยหากรถเกิดเสียหลักตกข้างทาง และ3.ลักษณะการใช้พื้นที่สองข้างทาง เช่นบริเวณย่านชุมชน ตลาด โรงเรียนสถานพยาบาล ความเร็วควรอยู่ระหว่าง 40-50 กม.ต่อชม. ผลการศึกษาพบว่าอัตราความเร็วบนถนนควรกำหนดไว้ที่อัตราความเร็วที่รถส่วนใหญ่ใช้ ซึ่งหมายถึงอัตราความเร็วที่รถร้อยละ 85ใช้ความเร็วไม่เกินความเร็วนี้ หรือเรียกว่าความเร็วที่ 85เปอร์เซนไทล์ ไม่ควรแตกต่างเกิน 20 กม.ต่อชม.เพราะความเร็วที่แตกต่างจากความเร็วของรถส่วนใหญ่ยิ่งมากจะยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงในการเฉี่ยวชน นายสุจิณ กล่าวต่อว่า ผลการศึกษาความเร็วบนถนนของกรมทางหลวงส่วนใหญ่วิ่งกันอยู่ที่88-97 กม.ต่อชม. ส่วนมอเตอร์เวย์อยู่ที่ 98-117 กม.ต่อชม. ความเร็วที่เหมาะสมบนทางหลวงทั่วไปจึงอยู่ที่100กม.ต่อชม.มอเตอร์เวย์ 120 กม.ต่อชม. กรณีทางยกระดับ ขึ้นกับมาตรฐานของราวกำแพงของทางยกระดับ จะออกแบบไว้ตามมาตรฐานระดับการชนที่ TL-3ตามมาตรฐานสหรัฐอเมริการถจะไม่พลิกข้ามกำแพง คือ 100 กม.ต่อชม.กรณีทางยกระดับดอนเมืองโทลเวย์หรือสะพานบก ความเร็วที่ควบคุมควรไม่เกิน 100 กม.ต่อชม. สำหรับการกำหนดความเร็วของทางพิเศษ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)จากการศึกษาพบว่า มีรูปแบบของทางเป็น 2ลักษณะคือ เป็นทางระดับพื้นราบ และทางยกระดับ กรณีทางยกระดับข้อจำกัดของการใช้ความเร็วจะขึ้นกับมาตรฐานของราวกำแพงของทางยกระดับที่รถจะไม่พลิกข้ามกำแพงคือ 100กม.ต่อชม.ดังนั้นทางพิเศษยกระดับจึงควรกำหนดความเร็วไม่เกิน 100กม.ต่อชม.ส่วนในทางราบเขตทางพิเศษจะไม่กว้าง และระยะปลอดภัยข้างทางแคบกว่ามอเตอร์เวย์ ความเร็วในทางระดับพื้นราบจึงไม่ควรเกิน 110 กม.ต่อชม. ด้านพล.ต.ต.เอกรักษ์ กล่าวว่า การแก้ไขกฎกระทรวงเรื่องความเร็วรถแล้วเสร็จ95% กำหนดความเร็ว2รูปแบบคือดีฟอลฟ์สปีด( Defaul – speed ) คือค่าความเร็วพื้นฐานหรือขั้นต่ำ และไซน์สปีด(Sign-speed) ตามลักษณะและสภาพทางกายภาพถนน สรุปว่าบนทางด่วนยกระดับให้ความเร็วไม่เกิน 100 กม.ต่อชม.ส่วนทางด่วนระดับดินให้ไม่เกิน 110 กม.ต่อชม. ส่วนทางหลวงที่มีช่องจราจรชัดเจน มีเกาะกลางถนนเช่น พหลโยธิน ที่มีช่องจราจรกว้างจะให้ความเร็วไม่เกิน 100-110 กม.ต่อชม. ทางหลวงแบบสวนกันแต่ช่องจราจรแคบกว่าจะให้ไม่เกิน 90กม.ต่อชม. สำหรับมอเตอร์เวย์ถือเป็นไซน์สปีดจะให้เทล.กำหนดเช่นเดียวกับเขตชุมจะให้พื้นที่เป็นผู้กำหนด พล.ต.ต.เอกรักษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้จะเสนอในกฎกระทรวงกำหนดความเร็วขั้นต่ำช่องขวาสุดบนทางหลวงนอกเขตเมืองที่มีช่องจราจรด้านละ3ช่องทางขึ้นไปหรือ 6 ช่องจราจรไปกลับ ต้องใช้ความเร็วขั้นต่ำไม่ต่ำกว่า 80 กม. ต่อชม. แต่ไม่เกินความเร็วสูงสุดที่กำหนดคือ 90-110 กม.ต่อชม. เพระหากขับช้าจะทำให้เกิดปัญหากับรถที่ขับรถได้ตามกฎหมายอีกทั้งเพื่อระบายรถด้วย ดังนั้นหากขับช้าก็ให้ใช้ช่องซ้าย จากปัจจุบันไม่มีการบังคับแต่ขอความร่วมมือให้ขับช้าชิดซ้าย เมื่อแก้ไขกฎหมายความเร็วให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันแล้วตำรวจจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและเข้มข้นขึ้นควบคุมไม่ให้ผู้ขับขี่ใช้ความเร็วรถเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดโดยจะเพิ่มโทษปรับผู้ฝ่าฝืนมากขึ้นเป็นขั้นบันไดจากเดิมปรับ500บาทยิ่งใช้ความเร็วสูงขึ้นโทษปรับจะมากขึ้นเพื่อสร้างระบบกฎหมายให้มีประสิทธิภาพขึ้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปหลังปีใหม่เพื่อนำเสนอผู้บัญชาการสตช.เห็นชอบและเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาออกเป็นกฎกระทรวงบังคับใช้ในปี 62 แหล่งข้อมูล : เดลินิวส์