เมื่อวันที่ 7 เม.ย.61 ดร.ประพงษ์ คล้ายสุบรรณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เปิดเผยถึงการนำแสงซินโครตรอนวิจัยด้านโบราณคดีวัตถุล้ำค่าว่า ปัจจุบันได้มีการนำแสงซินโครตรอนมาใช้ในการวิจัยด้านโบราณคดีอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป เนื่องจากเทคนิคการทดลองที่ใช้แสงซินโครตรอน สามารถบอกให้รู้ถึงองค์ประกอบและโครงสร้างของวัตถุได้ โดยไม่ทำลายชิ้นงานให้เสียหายหรือมีผลอื่นใดต่อวัตถุที่นำมาศึกษา ทำให้เหมาะที่จะนำแสงซินโครตรอนไปใช้ในการศึกษาวัตถุโบราณ หรือวัตถุที่มีคุณค่าและมูลค่าสูงอื่นๆ ได้

สำหรับประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้มีการนำแสงซินโครตรอนมาใช้ในการศึกษาด้านโบราณคดีเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันฯได้ทำการศึกษาคุณสมบัติของกระจกเกรียบโบราณด้วยแสงซินโครตรอน ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งได้ทรงพระราชทานพระราชานุญาติให้คณะวิจัยของสถาบัน นำตัวอย่างกระจกเกรียบโบราณจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มาดำเนินการศึกษา เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีว่า กระจกแต่ละสีประกอบด้วยธาตุชนิดใดบ้าง และมีปริมาณเท่าไร จนประสบความสำเร็จ สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยมาสังเคราะห์กระจกใหม่ที่มีคุณสมบัติเหมือนของเดิมทุกประการ เพื่อใช้สำหรับงานบูรณปฏิสังขรณ์ในอนาคต

ดร.ประพงษ์ กล่าวอีกว่า ล่าสุดทีมงานนักวิจัยได้ทำการศึกษาวิจัยเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง จ.อุดรธานี ซึ่งบ้านเชียงเป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญแห่งหนึ่งที่ให้ความรู้อย่างมาก เกี่ยวกับพัฒนาการของสังคมและวัฒนธรรมสมัยโบราณเมื่อหลายพันปีมาแล้วในประเทศไทย สิ่งที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมายังบ้านเชียง คือ เรื่องราวอันเกี่ยวกับอดีตของพื้นที่นี้ โดยเฉพาะเรื่องสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งมีการจัดแสดงไว้เป็นพิพิธภัณฑสถาน 2 แห่ง คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง และพิพิธภัณฑสถานกลางแจ้งที่วัดโพธิ์ศรีใน เมื่อประมาณ พ.ศ.2515 ได้เริ่มมีการสังเกตพบโบราณวัตถุและหลักฐานทางโบราณคดีในพื้นที่เนินของหมู่บ้าน และส่งผลให้มีการศึกษาทางโบราณคดี จนได้ทราบว่าความจริงแล้วพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของบ้านเชียงปัจจุบัน เคยมีคนตั้งถิ่นฐานมาแล้วก่อนประวัติศาสตร์เมื่อหลายพันปีก่อน

ทั้งนี้ โบราณวัตถุที่พบ ได้แก่ เศษภาชนะดินเผาที่มีการตกแต่งเขียนเป็นลายสีแดง โครงกระดูก เครื่องมือที่ทำด้วยหินและสำริด และเหล็ก โดยเฉพาะภาชนะดินเผาเขียนเป็นลายสีแดงนั้นเป็นโบราณวัตถุที่มีลักษณะเด่นมาก เนื่องจากเพิ่งมีการพบเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

สำหรับแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเป็นแหล่งโบราณคดีที่มีความสำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยและของโลก ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเมื่อปี พ.ศ. 2535  เนื่องจากพบหลักฐานที่แสดงถึงอารยธรรมชุมชนโบราณ ซึ่งเป็นชุมชนเกษตรกรรมที่มีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ในยุคโลหะที่มีอายุกว่า 3,500 ปี มีหลักฐานที่บ่งบอกถึงการมีวัฒนธรรม ขนบประเพณี และภูมิปัญญาในหลาย ๆ ด้าน

ในแหล่งโบราณคดีนี้นักโบราณคดีได้ขุดค้นพบหลุมศพของชาวบ้านเชียงโบราณ ซึ่งมีประเพณีฝังศพที่จะทำการฝังสิ่งของเครื่องใช้ เป็นการอุทิศให้กับผู้ตายด้วย ภายในหลุมศพเหล่านี้ จึงพบเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากสำริดและเหล็ก เช่น ใบหอก ใบขวาน มีด เครื่องประดับลูกปัดที่ทำจากหินและแก้ว เศษผ้า และที่สำคัญคือภาชนะเครื่องปั้นดินเผาโบราณที่มีการเขียนสีเป็นลวดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์ จนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในนาม เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง

“เนื่องจากเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงมีความงดงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงเป็นที่ต้องการของผู้ที่สนใจและนักสะสม ทำให้เกิดการทำเทียมเลียนแบบขึ้นเป็นจำนวนมาก การทำเทียมเหล่านี้ได้มีการพัฒนาเทคนิค จนสามารถทำให้ดูเหมือนของแท้ รวมถึงการทำให้ดูเหมือนเก่าด้วย ซึ่งการพิสูจน์ความเป็นของแท้นั้นทำได้ยาก และต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์อย่างมากเท่านั้น” ดร.ประพงษ์ กล่าว

ดร.ประพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ดังนั้นกรมศิลปากร ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ศึกษาวิจัยคุณสมบัติของเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงด้วยแสงซินโครตรอน ทั้งในส่วนของเนื้อดินและสีที่เขียนเป็นลวดลาย  เพื่อนำไปแยกแยะความแตกต่างระหว่างเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงของแท้ และของที่ทำเลียนแบบขึ้นมา และได้มาซึ่งองค์ความรู้ในการพิสูจน์ความเป็นของแท้ของเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงโดยใช้เทคนิคการเรืองรังสีเอ็กซ์ ร่วมกับเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ ในการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของเนื้อดินและสี นำไปสู่การพัฒนาวิธีการแยกแยะเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงของแท้ และของทำเทียมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 


แหล่งข้อมูล : แนวหน้า


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …