เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคารสิรินธร สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มร.นม.) ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานะนายกสภา มร.นม. พร้อมนายสุเมธ อำภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) นครราชสีมา รศ.ดร.วิเชียร ฝอยพิกุล อธิการบดี มร.นม. ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ และ ดร.อุทุมพร ดีศรี นักวิจัยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ศึกษาฟอสซิลจากแหล่งบ้านโนนสาวเอ้ ต.วังหมี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ร่วมแถลงข่าวการพบฟอสซิลปลายุคจูราสสิค พันธุ์ “โคราชอิกธิสจิบบัส” ปลาน้ำจืดสกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลก ในยุคจูราสสิคตอนปลายถึงครีเทเชียสตอนต้น หรือประมาณ 150 ล้านปีก่อน ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ บริเวณหลังส่วนคอมีลักษณะเป็นโหนกชัดเจน

18274883_10156046343052786_3542793043547493093_n

นายสุวัจน์ได้กล่าวแสดงความยินดีที่นักวิจัยภาคอีสานสามารถค้นพบฟอสซิลปลาน้ำจืดสกุลใหม่ ซึ่งถือเป็นชนิดใหม่ของโลก รวมทั้งขอบคุณนายวิโรจน์ ปิ่นปก ราษฎร อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นผู้ค้นพบคนแรก ได้อนุเคราะห์มอบซากให้ มร.นม.เพื่อนำไปวิจัยเป็นวิทยาทานแก่คนรุ่นหลัง

18199539_10156046343002786_7770237434626734901_n

ผศ.ดร.ประเทืองเปิดเผยที่มาของฟอสซิลปลาว่า เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2540 นายวิโรจน์ ปิ่นปก ราษฎร อ.วังน้ำเขียว พบก้อนหินแตกออกเป็น 2 ซีก ในขณะขุดแหล่งน้ำใกล้น้ำตกถ้ำขุนโจร หมู่บ้านโนนสาวเอ้ ต.วังหมี อ.วังน้ำเขียว แล้วนำก้อนหินไปวางไว้ที่ศาลเจ้าพ่อน้ำตกถ้ำขุนโจร จนกระทั่งนายประวิทย์ สุดเนตร สื่อมวลชนท้องถิ่นได้แจ้งข่าวไปที่หัวหน้าภาควิชาภูมิศาสตร์ มร.นม.ให้ทราบ จึงเดินทางมาตรวจสอบข้อเท็จจริงและนำไปอนุรักษ์ ศึกษาวิจัย เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ แต่ขาดแคลนนักวิจัยฟอสซิลปลา จนกระทั่งผ่านมาร่วม 17 ปี ช่วงปี 2557 ดร.อุทุมพร ดีศรี ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล และ ดร.ลิโอเนล คาวิน ผู้เชี่ยวชาญฟอสซิลปลาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ร่วมศึกษาวิจัยและนำข้อมูลเผยแพร่ในวารสารชั้นนำของโลกด้านบรรพชีวินวิทยา คือ Journal of Vertebrate Paleontology เมื่อปลายปี 2559

18268551_10156046343012786_3755009706220331071_n

ดร.อุทุมพรกล่าวว่า ปลาชนิดนี้เป็นปลากระดูกแข็งโบราณสกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลก ตั้งชื่อว่า โคราชอิกธิสจิบบัส (Khoratichthys gibbus; โดย khorat=โคราช, ichthys=ปลากระดูกแข็ง, gibbus=โหนก) จากการศึกษาถึงความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการของปลากระดูกแข็งที่มีก้านครีบในกลุ่มจิงกลีโมเดียน (กลุ่มปลามีเกล็ดสี่เหลี่ยม) ทั้งหมด 25 สกุล พบว่า ปลาสกุลโคราชอิกธิสแสดงลักษณะพื้นฐานที่สุดของปลาในอันดับเลปิซอสติฟอร์ม (Lepisosteiformes) หรืออันดับอัลลิเกเตอร์การ์ (ปลาปากจระเข้) นั่นแสดงว่าเป็นพวกปลากลุ่มแรกสุด หรือมีวิวัฒนาการต่ำสุดในอันดับปลาดังกล่าว นอกจากนี้ ปลาโคราชอิกธิสยังเป็นหลักฐานที่แสดงถึงความหลากหลายของปลาจิงกลีโมเดียนที่พบในหมวดหินภูกระดึงของไทยอีกด้วย และจากความหลากชนิดของปลาจิงกลีโมเดียนดังกล่าว ซึ่งพบในสภาพแวดล้อมน้ำจืดของช่วงเวลาตั้งแต่กลางยุคจูราสสิคถึงต้นยุคครีเทเชียสของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการครอบครองพื้นที่แหล่งน้ำจืดของปลาเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี ตลอดเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเรามีการค้นพบฟอสซิลปลาจิงกลีโมเดียนในปลายยุคจูราสสิคถึงต้นยุคครีเทเชียส ในหลายพื้นที่บริเวณที่ราบสูงโคราช ชนิดแรกที่ค้นพบและตีพิมพ์โดย Cavin และคณะ ในปี 2003 มาจากแหล่งภูน้ำจั้น หมวดหินภูกระดึง จ.กาฬสินธุ์ เคยตั้งชื่อว่า “เลปิโดเทส” พุทธบุตรเอนซิส ซึ่งต่อมาพบตัวอย่างที่สมบูรณ์มากขึ้น จึงทำการศึกษาใหม่โดย Cavin และคณะ ในปี 2013 และตั้งเป็นปลาสกุลใหม่ว่า ไทยอิกธิส อีกชนิดต่อมาคือ อิสานอิกธิส พาลัสทริส พบในแหล่งเดียวกันกับไทยอิกธิส และอีกชนิดคือ อิสานอิกธิส เลิศบุศย์ศรี พบในแหล่งภูน้อย จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งจากข้อมูลการศึกษาลำดับความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการ พบว่า ทั้งไทยอิกธิสและอิสานอิกธิสจัดเป็นพวกเลปิซอสติฟอร์มพวกแรกๆ (basal) แต่โคราชอิกธิสนี้ปรากฏลำดับความสัมพันธ์ที่บ่งบอกว่าเป็นพวกแรกสุด (basal most) ทำให้การค้นพบปลากระดูกแข็งโคราชครั้งนี้เป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงการแพร่กระจายพันธุ์ปลาน้ำจืดในอันดับเลปิซอสติฟอร์มจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่ภูมิภาคอื่นของโลก

 

logo-matichon-classic
แหล่งข้อมูล : มติชนออนไลน์


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …