30 สมาคมการค้าไทย ห่วงทิศทาง EEC หลังการเลือกตั้ง ขอความมั่นใจรัฐบาลต่างชาติขนธุรกิจ Alibaba-Airbus-Boeing ลงทุนจริง พร้อมเร่งแก้ปมความล่าช้าในการออกใบอนุญาตต่างๆ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะรองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ในฐานะประธานคณะทำงานด้านการค้าและการลงทุน สภาหอการค้าฯ และหัวหน้ากลุ่มประชารัฐ ด้านการส่งเสริมการส่งออกและลงทุนในต่างประเทศ (D4) ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ได้นำคณะนายกสมาคมการค้า 30 สมาคม เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่โรงแรมพูลแมนพัทยาจี จ.ชลบุรี ร่วมกับ ดร.คณิต แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อหารือถึงแนวทางในการพัฒนา EEC ซึ่งเป็นแผนงานที่สำคัญมากในช่วงเวลานี้ และเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่มีอีกหลายประเด็นที่ภาคเอกชนยังเป็นกังวล

“สิ่งที่ภาคเอกชนกังวลเกี่ยวกับการขับเคลื่อน EEC หากในปีหน้ามีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง จะมีการเดินหน้าต่อในเรื่องนี้หรือไม่ นอกจากนี้ เอกชนยังมีความกังวลถึงปัญหาการติดขัดในการยื่นขอใบอนุญาตต่างๆ ที่มีความล่าช้า รวมถึงความคืบหน้าในประเด็นที่รัฐบาลไทยไปหารือกับรัฐบาลต่างชาติ และมีพันธสัญญาร่วมกันมีความคืบหน้าไปอย่างไรบ้าง ซึ่งทางท่านคณิตได้อธิบายเพิ่มเติมถึงประเด็นที่ยังเข้าใจไม่ตรงกัน เช่น การที่นักลงทุนต่างชาติให้ความเชื่อมั่นและประกาศแผนการลงทุนใน EEC แล้ว เช่น กลุ่มอาลีบาบา (Alibaba), แอร์บัส (Airbus) และโบอิ้ง (Boeing) เป็นต้น รวมถึงการจัดการผังเมือง การพัฒนาศูนย์กลางบริการสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) กระบวนการเช่าที่ดินระยะยาว มาตรการการสนับสนุนของภาครัฐ การส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ (Logistics Hub) การทำเขตเศรษฐกิจพิเศษปลอดภาษี เป็นต้น”

อย่างไรก็ตาม สมาคมการค้ายังมีความเชื่อมั่นในแผนงาน EEC ว่าจะสามารถขับเคลื่อนประเทศไทยให้เข้าสู่ยุคโชติช่วงอีกครั้ง ซึ่งสิ่งสำคัญไม่ใช่เพียงเราจะรอเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศอย่างเดียว แต่นักลงทุนไทยต้องพร้อมที่จะเข้าร่วมลงทุนในห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) เพื่อใช้ประโยชน์จากการที่รัฐบาลไทยสนับสนุน ในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ดร.คณิตยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินการตาม EEC ซึ่งจะเกิดขึ้นในระยะเวลา 5 ปี ทั้งหมด 7 โครงการ และแผนการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากภาคเอกชน โดยจะให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนเพิ่มเติมมากขึ้น โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ด้านภาษี สิทธิการเช่าที่ดิน และการจัดหาแรงงาน การจัดตั้งกองทุนพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ การจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จการลงทุน เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุน การประกาศเป็นเขตปลอดภาษี การจัดหาที่ดิน และระยะเวลาเช่าที่ดิน ระยะเวลาพำนัก และทำงานของนักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน การใช้เงินตราต่างประเทศ การจัดตั้งศูนย์ธุรกรรมทางการเงิน และการจัดตั้งกองทุนในพื้นที่ร่วมกับชุมชนในท้องถิ่น เป็นต้น

สำหรับ 7 โครงการ ที่จะดำเนินการขณะนี้ ประกอบด้วย 1) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 3 ล้านคนต่อปี ในเบื้องต้นจะมีแผนขยายรันเวย์ที่ 2 และจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการบินในภาคตะวันออก 2) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 เรื่องรองรับจำนวนตู้สินค้า 18 ล้าน TEU ต่อปี จากเดิมที่รับได้ 7 ล้าน TEU ต่อปี 3) โครงการท่าเรือมาบตาพุด รองรับการลงทุนปิโตรเคมี 360,000 ล้านบาทภายใน 5 ปี 4) โครงการท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ เพื่อรองรับนักธุรกิจและนักท่องเที่ยว 3 ล้านคนต่อปี และ 5) โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-ระยอง เพื่อเชื่อมต่อ 3 สนามบินหลัก คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา 6) โครงการรถไฟฟ้าทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลอง 19-แก่งคอย เชื่อมโยงแห่งอุตสาหกรรมและท่าเรือ และ 7) โครงการทางหลวงพิเศษ ระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เส้นทางพัทยา-มาบตาพุด, เส้นทางแหลมฉบัง-นครราชสีมา และเส้นทางชลบุรี-ตราด

นายสนั่นกล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 29 กันยายนนี้ จะนำคณะภาคเอกชน เข้าพบกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหารือถึงแนวทางในการดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากภาคเอกชนกังวลว่าปัญหาค่าบาทแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่ง 7% นับตั้งแต่ต้นปี อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย

 


แหล่งข้อมูล : ประชาชาติออนไลน์


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …