ไม่ใช่แค่ “นักธุรกิจ” ที่น่าจับตา สำหรับผู้ชายที่ชื่อว่า พงษ์เลิศ สุภัทรวณิชย์ เจ้าของโรงแรมเรียบเท่ห์ ใจกลางเมืองใหญ่อย่างโคราช แต่ในอีกบทบาท ยังมีตำแหน่งห้อยท้ายที่มีภาระงานสำคัญ คือ การนั่งเก้าอี้รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ที่ทุ่มเทอย่างสุดกำลังทั้งโลกแห่งการทำธุรกิจ และแวดวงการเมือง

พงษ์เลิศ สุภัทรวณิชย์ เป็นชาวโคราชโดยกำเนิด เกิดในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน เจ้าของโรงแรมเก่าแก่ในตัวเมือง ซึมซับเลือดนักธุรกิจที่ถ่ายถอดสู่ตัวตนอย่างเข้มข้น ในขณะเดียวกัน บรรยากาศของ “สภากาแฟ” ที่ได้สัมผัสมาตั้งแต่เด็ก ก็หล่อหลอมความรัก ผูกพัน และกระตุ้นความสนใจในเส้นทางสายการเมือง ซึ่งวาดหวังที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้คนโคราช ไม่เพียงการพัฒนาด้านกายภาพ แต่มองไกลถึงมุมของดนตรี และศิลปะ อันเป็นสุนทรียะของชีวิต

บนผนังโรงแรม “ลีโอซอ” ของเขา แขวนภาพสีน้ำมันที่สวยงามทั้งสีสัน ลายเส้น และแนวคิดที่ไม่ได้เป็นฝีมือของจิตรกรเอกคนใด หากแต่เป็นผลงานชิ้นเยี่ยมของลูกชายทั้ง 2 คน “ลีโอ” และ “ลีซอ” ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโรงแรมแห่งนี้ ซึ่งคำว่า “ลีโอ” มาจากความประทับใจในศิลปินคนสำคัญของโลก ลีโอนาร์โด ดาวินชี หลังทริปฮันนีมูนกับภรรยาที่ยุโรป ส่วน “ลีซอ” มาจากชื่อนักฟุตบอลไทยผู้โดดเด่นเรื่องความมุ่งมั่น

หลังประสบความสำเร็จจากการปลุกปั้นโรงแรมซิตี้ พาร์ค บนถนนมิตรภาพ รวมถึงธุรกิจเต็นท์รถ ซึ่งเจ้าตัวกล่าวอย่างติดตลกว่า “รถที่ดีที่สุด คือรถที่มีคนขับให้” พร้อมยืนยันไม่ใช่คนติดหรู แม้ชื่นชอบ “กระเป๋า” เป็นพิเศษ แต่กระซิบว่าที่ครอบครองอยู่ราวๆ 30 ใบนั้น ล้วนหลงใหลความเป็นเอกลักษณ์ ชื่นชมคุณภาพการตัดเย็บ ดีไซน์ การออกแบบ มากกว่าป้ายแบรนด์เนม ซึ่งไม่ใช่สาระสำคัญ

ลึกซึ้ง และละเอียดอ่อนในความหมายของสิ่งรอบตัว กระทั่งสีสันโทนส้มสดใสที่ใช้ในการตกแต่งโรงแรมก็คือ “สีแสด” อันเป็นสีประจำจังหวัดนครราชสีมา

จุดเด่นของ “ลีโอซอ”

ตอนมาทำลีโอซอ ผมมองว่าเมืองขาดโรงแรมใหม่ๆ และอยู่เส้นนอกกันหมด ผมมาอยู่เส้นในซึ่งก็ไม่ไกล เลยเป็นโลเกชั่นที่ถือว่าย้อนศร ที่นี่เป็นโรงแรม 3 ดาว เราไม่ทำถึง 5 ดาว เพราะคนมาโคราชส่วนใหญ่มาทำงาน ทำธุระ มาประชุม ไม่ได้มาเที่ยวพักผ่อน ราคาไม่แพงเท่าโรงแรมใหญ่ และดีกว่าอพาร์ตเมนต์ นี่คือช่องว่างในตลาด การทำโรงแรมมีหลักง่ายๆ คือ สะอาด สะดวก ปลอดภัย หัวใจ คือ โลเกชั่น ที่เหลือคือดีไซน์ก็แล้วแต่คนชอบ มีที่จอดรถ กล้องวงจรปิด อยู่ในเมือง ทำเลดี เข้าออกได้หลายทาง

ความท้าทาย ได้เปรียบเสียเปรียบของ “ทุนท้องถิ่น”

เชื่อว่าโรงแรมไซซ์ครอบครัว 70-80 ห้อง มีข้อดีคือความคล่องตัว ในขณะที่ทุนใหญ่มาเต็มระบบ แต่ผมบริหารง่ายกว่า ยังไงต้นทุนก็ต่ำกว่า

ทราบว่ามีแผนจะเปิดอีก 1 แห่ง คอนเซ็ปต์เป็นอย่างไร

อาจเป็นบัดเจ็ต โฮเต็ลขนาด 40-50 ห้อง ราคาระหว่าง 600-800 บาท คนสมัยใหม่ลากกระเป๋าเองได้ มีป้ายบอกก็พอ เดี๋ยวนี้ลูกค้ารับได้ ลิฟต์มีให้ โรงแรมแบบนี้ถ้าเซตอัพมาตรฐานได้ดีใช้บุคลากรน้อยก็ประหยัดต้นทุนไปมาก บางส่วนอาจโยกคนจาก “ลีโอซอ” ไปได้ เช่น ช่างซ่อมบำรุง โรงแรมแรกที่ผมทำคือ ซิตี้พาร์ค ใช้คนประมาณ 70 คน ที่นี่ใช้ 40 บัดเจ็ตอาจใช้แค่ 20 คน

ความมั่นใจในธุรกิจโรงแรมของทุนท้องถิ่นในอนาคต

เชื่อว่าโคราชยังมีศักยภาพโตไปอีก แต่ไม่ใช่ท่องเที่ยวเหมือนที่อื่น ไม่นับบางจุดอย่างปากช่อง ที่นี่เป็นเกตเวย์ ยังไงคนก็ผ่าน ตัวเมืองมีระบบเศรษฐกิจดีอยู่แล้ว ทั้งพืชผลทางการเกษตร ข้าว มัน โรงงานอุตสาหกรรม ตอนนี้เห็นเทรนด์ว่าธุรกิจใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าก็เข้ามา แสดงว่ามีสัญญาณบางอย่างที่จะมีตัวเลข เรื่องแบงก์ เรื่องเครดิตการ์ด เราก็อยู่ในยุคที่เขาก็โต เราทำธุรกิจแบบนี้ก็เชื่อว่าน่าจะมีโอกาส ในขณะที่เมืองเริ่มโต มีคนที่มาทำธุรกิจจริงๆ เพราะฉะนั้นยังไงก็ต้องมีลูกค้า เพราะคนต้องเดินทาง ถึงเดี๋ยวนี้ใช้ระบบออนไลน์มากขึ้น แต่คนกลับเดินทางเยอะ เพราะราคายิ่งถูก และสะดวก

ความจริงธุรกิจโรงแรมอาจไม่ได้ฮอต แต่เป็นน้ำซึมบ่อทราย ยุคนี้คนอยากเปิดร้านกาแฟสวยๆ คนแข่งกันทำร้านกาแฟมีเงินล้าน ในขณะที่โรงแรมต้องมี 100 ล้าน คู่แข่งผมก็น้อยลง

บทบาทไหนรู้สึก “เป็นตัวเอง” มากกว่า ระหว่างการเป็นรองนายกเทศมนตรีกับนักธุรกิจ

ทั้ง 2 บทบาทนี้คือส่วนผสมที่เป็นตัวผมทั้งคู่ เพราะด้วยธุรกิจทำให้ได้เจอคนหลายแบบ เป็นคนชอบคุยกับคน ผมโตมากับธุรกิจโรงแรมของครอบครัว ชื่อโรงแรมโพธิ์ทอง อยู่หน้าอนุสาวรีย์ย่าโม คนเก่าแก่ที่มาโคราชรู้จักกันดี นี่คือจุดเริ่มต้นเพราะเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ ข้างล่างเป็นร้านกาแฟ มีคนหลายวงการมาพูดคุยกัน ข้าราชการก็มี นักเล่นก็มี พ่อค้าก็มา แต่นั่งแยกโต๊ะกัน เป็นสภากาแฟ เมื่อก่อนเมืองมันเล็ก ในส่วนของการเมือง เข้ามาอยู่ตรงนี้เพราะความรัก เพราะโคราชคือบ้านของเรา เราเกิดที่นี่ โตที่นี่ และจะตายที่นี่ ลูกของเราก็ยังอยู่ที่นี่ เพราะฉะนั้นจะปล่อยเฉยๆ โดยไม่มีส่วนร่วมรับผิดชอบได้อย่างไรเมื่อมีโอกาส

การอยู่ทั้งแวดวงการเมืองและธุรกิจ ส่งผลต่อมุมมองชีวิตอย่างไรบ้าง

สิ่งสำคัญมากคือทำให้ผมเข้าใจทั้ง 2 ฝั่ง คนทำธุรกิจอาจไม่เข้าใจวิธีคิดหรือระบบราชการ ว่ามีกลไกอย่างไร ในขณะที่ผมโชคดีได้รู้ทั้ง 2 โลก ว่าราชการคิดอะไรในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชา สามารถอธิบายให้ข้าราชการฟังได้ว่าถ้าเป็นเอกชนเราจะคิดแบบนี้

การเมืองสอนผมหลายเรื่อง ถ้าเราทำดี มีประโยชน์จะมีโอกาสกลับมา การออกไปหาเสียง ไหว้คน ช่วยลดอัตตา เวลาไปงานต่างๆ เจอมวลชน ได้พูดคุย ทักทาย สวัสดี ก็มีความสุข

เห็นว่าวัยหนุ่มใช้ชีวิตคุ้มมาก

การเข้ากรุงเทพฯสำหรับเด็กต่างจังหวัดที่พ่อแม่ต้องทำมาหากินเพื่อส่งเสีย มันรู้สึกเคว้งคว้าง ว่างก็ไปเดินตามศูนย์การค้า พอ ม.ศ.5 เริ่มเที่ยวกลางคืน ผับ เทค อย่างเดอะ พาเลซ เรื่องสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพิ่งมากลับตัวเอา 3-4 เดือนสุดท้าย ได้เรียนคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ แต่ก็ไม่ค่อยเข้าเรียน เพราะธรรมศาสตร์บอกว่า เข้าหรือไม่เข้าห้องก็ได้ แต่งตัวยังไงก็ได้ เลยไม่เข้า (หัวเราะ) ไปเตะตะกร้อ เดินเล่น เลยจบช้า เพื่อนเรียน 4 ปี ผมเรียน 7 ปี

ประสบการณ์ช่วงนั้นสอนอะไรบ้าง

การเป็นคนเกเร ด้านหนึ่งชีวิตไร้สาระ และเจ็บปวด ตอนรอจบ มันทรมานมากที่เห็นเพื่อนทำงาน ผมต้องมาลงเรียนเทอมละตัว ห้ามพลาด ห้ามป่วย ต้องไปสอบให้ได้ เพราะเปิดครั้งเดียว และจะต้องจบเพราะมหาวิทยาลัยให้โควต้าสูงสุด 7 ปี ความกดดันไม่ใช่ความยากของวิชา แต่เป็นการคุมจิตใจไม่ให้ฟุ้งซ่าน แต่ประสบการณ์ช่วงนั้นทำให้รู้ว่า ไม่มีอะไรที่เสียเปล่า ทำให้เรามีประสบการณ์ชีวิตบางอย่างซึ่งช่วยให้อดทน รู้จักการรอคอย อย่างการทำธุรกิจต้องรอ

บางครั้งอาจเสียเวลา แต่ได้อย่างอื่นกลับมา อย่างช่วงที่เรียนจบช้า ต้องลงเรียนวิชาต่างๆ ทุกคณะเพื่อหาเกรด ทำให้ได้เรียนวิชาต่างคณะ เรียนพับลิก สปีกกิ้ง เรียนสังคมวิทยา ได้รู้เรื่องราวต่างมุมมอง ผมจึงรับกับเรื่องเทาๆ ได้หมด เพราะเข้าใจชีวิต เคยผิดหวัง เคยผ่านอะไรมามาก

ตอนเรียนจบ คิดว่าชีวิตนี้จะไม่เรียนอีกแล้ว โยนเอกสาร โยนหนังสือทิ้งเหมือนในหนังเลย แต่ไม่นาน พอปี 2538 ก็ไปเรียนปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์ ที่นิด้า โคราช แต่ก็ยังเหมือนเดิมคือไปสาย ชิล..ชิล ตีกอล์ฟ (ยิ้ม)

ด้านครอบครัว เป็นคุณพ่อสายไหน

ผมช่วยภรรยาเลี้ยงลูก อุ้มลูก อาบน้ำ เขาโตมา เรามองเป็นสิ่งสวยงาม ผมพยายามบอกภรรยาว่าตอนอายุเท่านี้ ผมเกเรกว่าลูกๆ เยอะ ลูกชายทั้ง 2 คน ไม่เคยโดนตี โดนตะคอก ผมเหมือนติวเตอร์มากกว่า พยายามให้ข้อคิดสั้นๆ จะได้ไม่เบื่อฟังและจำ เชื่อว่าเด็กที่กำลังจะโต ไม่ได้อยากฟังเยอะ สมมุติไปเที่ยวด้วยกัน ผมบอก งวดนี้มี 2 อย่างคือ 1.มีแผน ต้องจองตัวเครื่องบิน เช่ารถ หาเส้นทาง จองที่พัก 2.ไปไหนต้องไปเจรจา จริงๆ แล้วนี่คือวิชาผู้ใหญ่เลยนะ

เขา 2 คนเป็นเด็กดีมาก แต่ไม่อยากให้อ่อนโลก ไม่ได้อยากให้เขาเป็นอัจฉริยะ อยากให้เป็นคนธรรมดา เป็นคนดี มีความคิด ซึ่งอันนี้ยาก ความรู้สอนอย่างไรก็ไม่มีวันหมด เพราะข้อมูลเยอะมาก แต่สอนให้มีความคิดเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องถูกขัดเกลาบนพื้นฐานความดี จึงจะคิดและตัดสินใจอย่างมีเหตุผล มีตรรกะที่ดี บางคนเรียนเก่ง แต่อารมณ์ไม่ปกติ ก็ไม่มีประโยชน์

ลูกๆ มีฝีมือด้านศิลปะ มีแนวทางส่งเสริมเขาอย่างไร จะเรียนต่อด้านศิลปะเต็มตัวหรือมาสายธุรกิจ

ผมเลี้ยงลูกให้เขาหาตัวเองให้เจอ มีความสุขกับสิ่งที่เป็นก็พอแล้ว เพราะถ้าคิดไม่เป็น เรามีเงินให้เยอะแล้วใช้ไม่เป็นก็หมด เรามีน้อย แต่ใช้เป็น เงินก็เพิ่ม สุดท้ายแล้วที่เรียนรู้คือ พอไหม ถ้าคิดว่าพอ ก็มีความสุข ค่อนข้างปรัชญาหน่อยๆ ส่วนตัว เชื่อว่าชีวิตไม่ได้มีแค่เรื่องสอบ ยังมีเรื่องน่าอภิรมย์อีกเยอะ ปลายทางทุกคนอยากมีความสุขในสถานะที่มี พอโตขึ้นความฝันคนจะเล็กลง อยากให้ลูกเห็นโลก เพราะเราอธิบายไม่หมดหรอก การที่เขาสามารถทำงานศิลปะได้ดี เชื่อว่าเพราะความบริสุทธิ์ของเด็กที่ทำให้ไม่มีกรอบมาก ไม่หวาดระแวง รู้สึกเป็นอิสระ ไม่เกร็ง เด็กมีพลังในตัวเยอะ พอครูสอนเทคนิควาด เขาก็ทำได้ดี

สิ่งที่ผมเริ่มเรียนรู้ตอนอายุ 50 ขึ้นมาแล้ว คือ ถ้าพอใจในสิ่งที่เป็น จะมีความสุข ถ้าเปรียบเทียบข้างบนคุณก็ด้อย ถ้าเปรียบเทียบข้างล่าง ก็เกินกว่าเขา เพราะฉะนั้นเป็นอย่างที่เป็น ดีที่สุด จะมีความรับผิดชอบ เพราะเลือกเอง อย่างลูกชายคนโตตัดสินใจมาบอกว่า ถ้ามีทุนเอกชนบางส่วนให้ไปเรียนมัธยมปลายที่ญี่ปุ่นจะอนุญาตให้ไปไหม ผมบอก ไปเลย เพราะโตแล้ว คนรุ่นผมรัศมีคือกรุงเทพฯ แต่เด็กรุ่นใหม่ รัศมีเขาไกลกว่าเรา ตอนนี้เรียน ม.6 แล้ว รอเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่นู่นเลย ส่วนคนเล็กอยู่ ม.4 ปีหน้าจะไปเรียนแลกเปลี่ยนที่เยอรมนี 1 ปี เราก็ดีใจว่าเขารู้จักที่จะออกไปเจอโลก ถามว่าห่วงไหม ไม่ห่วง เพราะพื้นฐานเขาดี จิตใจมั่นคงพอ อีคิวโอเค

ถ้าตัดข้อจำกัดต่างๆ ออกไป ความฝันหรือจินตนาการสูงสุดที่มีต่อโคราชคืออะไร

เศรษฐกิจที่ดีต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ตอนนี้โคราชกำลังได้รับโครงสร้างพื้นฐานหลายๆ อย่างเข้ามา แม้จะขาดอะไรไปบ้าง แต่ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี อย่างไรก็ตาม จะมองแค่เศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองไปถึงเรื่องสังคมและคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องมีต้องมีอารมณ์เสพศิลปะ ดนตรีมากขึ้น โชคดี 2 เดือนที่ผ่านมานี้ โคราชได้รับเลือกเป็นเมืองศิลปะ 1 ใน 3 เมือง เพราะเป็นเมืองที่มีศิลปินหลายแขนง นักร้องเพลงโคราช จิตรกรวาดภาพ ทัศนศิลป์ เรารอว่าวันหนึ่งจะมีหอศิลป์ อยากให้เยาวชนเข้าถึงเรื่องพวกนี้มากเท่าๆ กับกรุงเทพฯ นี่คือความฝันที่อยากให้เติมเต็ม ซึ่งจะทำให้ชีวิตคนโคราชมีความอภิรมย์มากขึ้น โดยคนท้องถิ่นน่าจะได้มีส่วนร่วมในการกำหนดชีวิตตัวเองมากกว่านี้ เป็นความฝันที่อยากให้เป็นจริง

นอกจากนี้ ก็มีเรื่องห้องสมุดที่มีชีวิต ให้เด็กมีทางเลือก ไม่ต้องไปห้างอย่างเดียว แต่มาเรียนรู้ในนี้ด้วยวิธีทันสมัย มีลานให้เขาได้มีโอกาสทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ หรือแม้กระทั่งหลังๆ มีคนชวนไปเทศบาลสนับสนุนสตรีทอาร์ต และมองว่าควรมีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางมาให้หัวเมืองโต ให้เราสร้างบ้านของเราเอง เพราะเรารู้ว่าอะไรเป็นอะไร

 


แหล่งที่มา : หน้าประชาชื่น มติชนรายวัน
ผู้เขียน : พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร-เรื่อง / รัฐสีมา พงษ์เสน-ภาพ


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …