กลิ่นหอมหวนชวนเหียนของพญาสัตบรรณ กลายเป็นบาดหมางจนต้องโค่นทิ้ง แต่ดีกว่าไหมที่จะแก้ความเข้าใจผิดเรื่องต้นไม้

“โห.. เมื่อก่อนขายดีมากเลยค่ะ” คำตอบจาก ‘เอ๋’ แม่ค้าร้านขายต้นไม้ย่านราบ 11 เมื่อถูกถามถึงความนิยมในต้น ‘พญาสัตบรรณ’ หรือที่เรียกกันคุ้นหูอีกชื่อว่า ‘ตีนเป็ด’

แต่ถ้าถามหาความนิยม ณ นาทีนี้ เธอบอกว่า ที่ร้านไม่มีต้นพญาสัตบรรณอยู่ในสต๊อคเลย

ไม่ใช่เพราะขายดี แต่… “ไม่มีลูกค้ามาถามหานานแล้วค่ะ”

สาเหตุหลักของการขายดิบขายดีเมื่อสิบปีที่แล้ว เอ๋ บอกว่า หลักๆ มาจากชื่อที่เป็นมงคล โดยสมัยก่อนมีคนมาถามหาซื้อเยอะมาก ทั้งบ้านเรือนทั่วไป จนถึงหน่วยงานราชการ ด้วยความที่ร้านของเธอเน้นขายไม้ใหญ่ยืนต้น ทำให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่โดยมากจะเข้ามาถามหาต้นที่โตพร้อมให้ร่มเงา

“ถ้าต้นหน้า 8 นิ้วนี่.. ขายกัน 6-7 พันบาทเลยล่ะสมัยนั้น” เอ๋บอกถึงราคาตามความนิยมในสมัยตีนเป็ดเฟื่องฟู โดยวิธีคำนวณ ‘หน้าต้น’ คือ วัดรอบวงลำต้นจากโคนตุ้มสูงขึ้นมา 30-50 เซนติเมตร วัดได้กี่นิ้ว ก็เอามาหารด้วย 3

ส่วนสาเหตุของความนิยมที่ดิ่งลงแค่ชั่ว 10 ปี เธอสรุปว่ามาจากสองปัญหาหลักคือ กลิ่นรุนแรง และ รากที่ชอนไช ซึ่งตอนนั้นแม่ค้าอย่างเธอก็ไม่รู้ มารู้ก็พร้อมๆ กับลูกค้าที่ซื้อไปปลูกรุ่นแรกๆ นี่แหละ หลังจากนั้น ทุกครั้งที่มีคนมาถามหา เธอจะต้องถามเสมอว่า ปลูกในบ้านหรือเปล่า มีพื้นที่ไหม ฯลฯ และให้ข้อมูลลูกค้าประกอบการตัดสินใจ และบอกว่า ถ้าเป็นบ้านคน เธอจะไม่แนะนำ แต่ถ้าเป็นสถานที่ราชการจะไม่ค่อยมีปัญหา เพราะมีพื้นที่ใหญ่ และมีเวลาปิดทำการ จึงไม่ค่อยได้รับผลกระทบเรื่องกลิ่นเพราะกลิ่นดอกของพญาสัตบรรณจะแรงเฉพาะช่วงกลางคืน

ตีนเป็ด Haters

จากกระแสเห่อปลูกต้นตีนเป็ดที่ระบาดหนักในอดีต ก็ไม่ต่างกับระเบิดเวลาที่ถึงคราวโตเต็มวัยก็พร้อมใจกันผลิดอก ออกกลิ่นฟุ้ง ซึ่งแม้ในความเห็นของคนทั่วไปเสียงจะออกมาแนวบวก ทั้งกลิ่นหอมๆ ฟอร์มสวยๆ

“แน่สิ.. มันไม่ได้ปลูกข้างบ้านเขาหนิคะ” เสียงหนึ่งสวนทันควัน ไม่ว่าจะเป็นจากความเก็บกดหรืออะไรก็ตาม แต่สำหรับคนที่ทนกลิ่นไม่ได้ ความยุ่งยากในชีวิตจะมาเยือนทุกครั้งเมื่อถึงฤดูตีนเป็ดบาน

สำหรับออย – วรมน ศิรินพกุลหนึ่งในผู้ประกาศกร้าวเป็นศัตรูกับต้นตีนเป็ดอย่างเปิดเผย ออยเล่าว่า หนึ่งในกิจกรรมประจำวันยามตีนเป็ดบาน คือ ออกแบบเส้นทางที่ไม่ต้องพบเจอกัน!

“เรียกว่า Hate at first site ก็ได้ค่ะ รู้จักครั้งแรกก็เกลียดเลย.. คือมันเหม็นมาก แล้วเดี๋ยวนี้มันหนักข้อขึ้นมาก มีอยู่ทุกที่ บางครั้งถ้าเจอจังๆ ก็ถึงกับคลื่นไส้ได้เลยนะ” ออย บอก

ทุกวันนี้ คนรอบตัวที่รู้ว่าเธอเกลียดตีนเป็ดมาก ก็กลายเป็นธรรมเนียมไปแล้วว่า เจอตีนเป็ด หรือข่าวคราวของตีนเป็ดที่ไหน เป็นต้องโพสท์ขึ้นเฟซบุ๊คและติดแฮชแท็กถึงเธอ

“อย่างย่านราชประสงค์จะไม่ไปเด็ดขาด เพื่อนบอกว่า มีเพียบเลย”

ถ้าจะมีใครหาว่าโอเว่อร์ แต่สำหรับ ตีนเป็ด Hater รายนี้ เธอยืนยันว่า ทนไม่ได้จริงๆ และเป็นแต่กับกลิ่นต้นตีนเป็ดอย่างเดียวเท่านั้นด้วย “ดอกไม้อื่นๆ ออยชอบหมดเลยนะ อย่างต้นปีบก็ชอบ”

ถึงจะไม่ได้มีอาการแพ้ แต่แค่ ‘ไม่ชอบ’ ก็คงไม่ได้แปลว่า เธอจะไม่มีสิทธิเกลียดเจ้าต้นไม้กลิ่นแรงนี้

แต่กับ “นก” สาวเมืองที่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่เชียงใหม่ได้หลายปี จัดอยู่ในจำพวกไม่ได้เกลียด แต่ถ้ารู้ว่าอยู่ไหนเธอจะหนีให้ไกล เพราะเจอทีไร… เป็นต้อง ‘แพ้’

นก บอกว่า เธอเป็นโรคภูมิแพ้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเกสรละอองดอกไม้ชนิดไหน ต่างก็ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับเธอทั้งสิ้น แต่ถ้าจะถามหาศัตรูตัวหลัก นกตอบได้ทันทีเลยว่า.. เจ้าไม้ใหญ่ชื่อไพเราะอย่าง “พญาสัตบรรณ” นี่แหละที่ทุกครั้งที่เฉียดเข้าใกล้ เป็นต้องฟุดฟิด คัดจมูก คันตา น้ำตาไหล ให้รำคาญใจเสมอๆ

“มันทั้งเกสร ทั้งกลิ่นเลยค่ะ ยิ่งค่ำๆ ยิ่งหนัก” เธอบอก พร้อมยืนยันว่า ปีนี้หนักกว่าปีก่อนๆ เพราะปลูกกันทั่วเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่ตามริมถนนหนทาง สวนสาธารณะ จนถึงในหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ก็ยังตามมาหลอนอีกหลายต้น

แค่ต้นเดียวถ้าอยู่ต้นลม ก็ทำให้คนแพ้อย่างเธอออกอาการได้ เมื่อมากันเป็นกองทัพ บุกประชิดจนแทบจะถึงหน้าบ้าน แน่นอนว่า ปีนี้ นก ตลอดจนหลายๆ คนที่มีอาการแพ้ต้องรับศึกหนักจริงๆ

แม้จะรู้ดีอยู่ว่า อาการแพ้ของเธอคงไม่สามารถไปเรียกร้องอะไรจากใครได้ เพราะก็แค่คนส่วนน้อย ที่ทำได้ก็คือ ดูแลตัวเอง พยายามไม่ไปเฉียดบริเวณที่มีมาก โดยจุดที่ถูกกากบาทสีแดงตัวใหญ่ๆ ที่จะไม่เฉียดเข้าใกล้ในช่วงตีนเป็ดสะพรั่งไม่ว่าจะปีนี้ หรือปีไหน มีตั้งแต่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สวนสุขภาพ ตามข้างคูเมืองก็มีประปราย แถมล่าสุดเธอยังเห็นว่า มีอีกชุดใหญ่ วัยกำลังโตที่ถูกปลูกอยู่ริมถนนข้างๆ พืชสวนโลกเส้นที่จะขึ้นดอยคำซึ่งทุกวันนี้มีคนนิยมไปปั่นจักรยานกันเยอะ และสำหรับใครที่แพ้ ปีหน้าก็คงได้เวลาเปลี่ยนเส้นทางไปปั่นกินลมบนถนนเส้นอื่นแทน

“มันน่าจะมีต้นไม้อื่นที่น่าปลูกกว่านี้ได้ก็ดีนะ เพราะเท่าที่ทราบข่าว อย่างจังหวัดน่านก็เห็นว่ามีปัญหา จนต้องเสียงบประมาณมาจัดการกันอีก” นกเล่า พร้อมยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับสวนศรีเมือง ในจังหวัดน่าน ซึ่งเทศบาลเมืองน่านต้องนำรถกระกระเช้าพร้อมอุปกรณ์เข้าตัดแต่งกิ่งต้นตีนเป็ดกว่า 20 ต้นที่กำลังผลิดอกสีขาวสะพรั่งออกเสียเพราะชาวเมืองร้องเรียนเรื่องกลิ่นที่รุนแรง จนสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง และผู้ที่มาออกกำลังกายในช่วงเย็น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้ที่ป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ โรคปอด และหอบหืด โดยมีหลายรายสูดดมกลิ่นจนเวียนศีรษะถึงขึ้นเข้าโรงพยาบาลก็มี

รักปลูก ให้ถูกทาง

“เห็นว่าฟอร์มมันสวยดี ก็เลยซื้อมา 6 ต้น จะเอาไปปลูกที่บ้านที่พิษณุโลก พอเอาไปลงแล้ว ปรากฏว่า กลับไปอีกที เหลือแค่ต้นเดียว เพราะแม่บอกว่า เหม็นมาก ทนไม่ไหว ขนาดเพื่อนบ้านที่ห่างไป 300 เมตร ยังต้องเดินมาดูว่า กลิ่นอะไร” อีกหนึ่งเสียงจาก “นิ” ที่แม้ตัวเองจะชอบทั้งรูปทรง ทั้งชอบกลิ่น แต่สุดท้ายก็ต้องตัดใจ เพราะคนอื่นไม่ได้ปลื้มด้วย…

 อาจดีหน่อย ด้วยความที่เป็นครอบครัวเกษตรกรอยู่แล้ว เมื่อคิดจะโค่น ก็ทำได้เลย ไม่ต้องไปจ้างใครให้เปลืองเงิน แต่สำหรับคนเมือง ที่ไม่มีทั้งเครื่องไม้ เครื่องมือ แถมยังไร้ทักษะงานสวน อย่างไรก็ต้องเสียเงินจ้าง

“อย่างต้นที่หน้ากว้างสัก 2 ฟุตนี่.. จ้างคนมาตัดที เขาคิดกันราวๆ 8 พันบาท สำหรับทั้งตัด ทั้งขนไปทิ้ง แต่ไม่ได้ขุดนะ ถ้าขุดเอารากออกด้วยนี่เรื่องใหญ่มาก ว่ากันเป็นหลักหมื่น” น้ำทิพย์ โยธินพัฒนะ ผู้ให้บริการจัดสวนที่อยู่ในแวดวงมานานเล่า โดยบอกว่า ทุกครั้งที่รับงาน เธอจะไม่แนะนำให้ลูกค้าปลูกต้นตีนเป็ด ที่ก่อนจะคุยกันเธอถามย้ำให้แน่ใจว่า หมายถึงต้นเดียวกัน นั่นคือ ‘พญาสัตบรรณ’ ด้วยความที่คนจำนวนไม่น้อยยังสับสนกับชื่อเรียก เพราะบ้านเรามีสารพัดตีนเป็ดชวนให้สับสน

เอาแค่ชื่อ คนทั่วไปยังงงๆ จึงไม่แปลกใจ หากจะปลูกกันทั้งๆ ที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับไม้ใหญ่ต้นนี้

“มันมีโรคเยอะนะ.. ใบก็มีเพลี้ย มีตุ่มตามใบ แล้วหลายคนก็ไม่รู้ว่า มันเป็นไม้ใหญ่ขั้นใหญ่ยักษ์ บางบ้านเอามาปลูกใกล้ๆ กันนี่ไม่ได้เลย ถ้าจะปลูกต้องให้ที่เขา 2-3 เมตรอย่างต่ำ ไม่ใช่แค่เอามาปลูก แต่เราปลูกแล้วก็ต้องไม่เบียดเบียนเขาด้วย ต้องดูแลเขาให้ดี” น้ำทิพย์บอก และยังยกตัวอย่างลามไปถึง ‘หูกระจง’ อีกหนึ่งไม้ยอดฮิตที่ปลูกกันเยอะมากโดยอาจจะไม่ได้ศึกษาความเป็นอยู่ของต้นไม้ ซึ่งน้ำทิพย์บอกว่า ต้องเผื่อที่ว่างให้โตถึง 8 เมตรเลยทีเดียว

เมื่อถึงคราวจะโต แต่โตไม่ได้ เพราะพื้นที่จำกัด คงไม่ต้องเดาคำตอบหรอกว่า… ใครจะอยู่ หรือ ใครจะไป ระหว่าง ย้ายบ้าน กับ โค่นต้นไม้!

ไม่ต่างกับ ‘ครูต้อ’ ธราดล ทันด่วน ผู้ชำนาญการด้านการดูแลต้นไม้ในเขตเมือง และเป็น นักตัด(ต้นไม้)คิวทอง ที่มีลิสต์ลูกค้ายาวเป็นหางว่าว ครูต้อ เล่าว่า จากประสบการณ์ ลูกค้าของเขาจะไม่ค่อยเจอปัญหาเรื่องขนาด เพราะหมั่นตัดแต่งอยู่เสมอ แต่ปัญหาที่เจอโดยมากเป็นเรื่องโรครากเน่า และมีอัตราการตายสูง โดยสันนิษฐานว่า ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะโตเร็วเกินไป ไม่เหมาะกับการปลูกในพื้นที่ลุ่มอย่างภาคกลาง เนื่องจากดั้งเดิม ตีนเป็ด หรือ พญาสัตบรรณ เป็นต้นไม้ในเขตป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 150 เมตรขึ้นไป พอมาปลูกในภาคกลาง เลยมักเจอปัญหารากเน่าในหลายๆ เคส

อีกหนึ่งปัญหาที่คนบ่นมาก คือ เรื่องรากที่แผ่ขยาย จนอาจเป็นอันตรายต่อโครงสร้าง อาทิ กำแพงรั้ว หรือตัวบ้านนั้น ครูต้อ บอกว่า นี่ก็เป็นตัวอย่างของการปลูกต้นไม้ แต่ไม่เข้าใจต้นไม้ เนื่องจากตีนเป็ดเป็นต้นไม้ใหญ่ ต้องใช้พื้นที่ในการปลูกพอสมควร แต่เมื่อนำมาปลูกในพื้นที่จำกัด แต่ไม่หมั่นดูแลตัดแต่งกิ่ง ต้นก็สูงชะลูด ปะทะลมแรง จนรากต้องแผ่ขยายเพื่อเกาะดินให้แน่น

“ถ้าหมั่นตัดทุกๆ 3-5 ปี ไม่ปล่อยให้เขาโตมากเกินไป ก็ไม่มีปัญหาเรื่องรากชอนไช” ครูต้อ บอก

ปลูกต้นไม้ แต่ไม่รู้จักต้นไม้ ดูจะเป็นเรื่องคลาสสิคของคนสมัยนี้ เหมือนที่เอ๋บอกไว้ตอนต้นว่า ช่วงแรกๆ ที่มีการหันมาปลูกต้นตีนเป็ด โดยมากจะไม่รู้ถึงที่มาที่ไป รายละเอียดของต้นไม้ จนมาเกิดปัญหาก็สายเสียแล้ว หลายรายเลือกแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

…โค่นเสีย!

อยู่อย่างไร ให้ ‘ชนะ’

รศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิแพ้ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ แนะนำวิธีปฏิบัติตนสำหรับผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือโรคแพ้อากาศ ซึ่งมักประสบปัญหาแพ้ละอองเกสรดอกไม้ โดยมากจะมีอาการน้ำมูกไหล ไอ จาม คันตา และมีโอกาสที่จะลามมาสู่แน่นหน้าอก ซึ่งเข้าขั้นอันตรายต่อชีวิตได้ หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

หากต้องอยู่ในภาวะเสี่ยงทั้งเรื่องเกสรดอกไม้ หรือฝุ่งละออง ฯลฯ คุณหมอบอกว่า การใส่หน้ากากไม่ช่วยอะไร หรืออาจได้แค่บรรเทาลง เพราะละอองเกสรดอกไม้มีขนาดเล็กมากและสามารถหลุดรอดผ่านหน้ากากได้ เพราะฉะนั้น ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในสถานที่เสี่ยง โดยถ้าบ้านที่พักอาศัย ในบริเวณรอบๆ มีเกสรดอกไม้ การใช้เครื่องฟอกอากาศก็พอช่วยบรรเทาได้บ้าง แต่วิธีที่ดีที่สุด ก็คือ “การรักษา”

“คนเป็นภูมิแพ้ต้องมารักษาให้หายขาด ต้องพ่นจมูกทุกวัน เพื่อลดการได้รับสิ่งกระตุ้น ถ้าทำอย่างต่อเนื่องภายใต้การดูแลของแพทย์ ต่อไปโดนอะไรก็จะไม่แพ้ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยมารักษา เพราะโรคนี้มันเป็นแล้วไม่ตาย.. แต่ถามว่า ถ้าไม่รักษา คุณภาพชีวิตก็เสียนะ นอนหลับไม่เพียงพอ เป็นหวัดบ่อยๆ ”

ส่วนความเชื่อจำพวกที่ว่า.. ถ้าแพ้อะไร ก็ให้ไปโดนซ้ำๆ ร่างกายจะได้สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมานั้น คุณหมอบอกว่า เป็นความเข้าใจผิดอย่างแรง แม้การทำให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานจะเป็นแนวทางการรักษาจริง แต่ต้องไปให้แพทย์ทดสอบก่อนว่า แพ้อะไร จากนั้นก็รักษาด้วยการฉีดเข้าร่างกาย ไม่ใช่ไปโดนด้วยตัวเอง ซึ่งมีแต่จะแพ้มากขึ้น

สัตตบรรณสารบัญ

ชื่ออื่นๆ : กะโนะ (กระเหรี่ยง – แม่ฮ่องสอน) จะบัน (เขมร – กบินทร์บุรี) บะซา ปูลา ปูแล (มาเลเซีย ยะลา ปัตตานี) ตีนเป็ดดำ (นราธิวาส) ยางขาว (ลำปาง) พญาสัตบรรณ (ภาคกลาง) หัสบรรณ (กาญจนบุรี) ตีนเป็ดขาว (ยะลา) ตีนเป็ดต้น

ลักษณะทั่วไป : ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ทรงพุ่มกลม แตกกิ่งก้านเป็นชั้นรอบต้นคล้ายต้นหูกวาง

การออกดอก :ช่วงฤดูหนาว ประมาณ เดือน พ.ย. – ม.ค. โดยดอกจะส่งกลิ่นหอมช่วงเย็น – มืด หรือช่วงที่มีอากาศเย็น

ข้อดีของพันธุ์ไม้ : เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ปลูกง่ายโตเร็ว ราคาถูก ปลูกเป็นไม้ที่ให้ร่มเงาได้ดี เวลาออกดอกพร้อมๆ กันตลอดทั้งต้นสวยงามมาก

ข้อแนะนำ : เป็นพันธุ์ไม้หอมที่ออกดอกเพียงปีละ 1 ครั้ง ควรตัดสินใจให้ดีก่อนปลูก

**หมายเหตุ**

ที่มา : หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …