“กลุ่มโคราชเพื่อโคราช” จัดเวทีหารือประเด็น “รถไฟฟ้ารางเบา หรือ LRT” พร้อมเชิญ ดร.สมพงษ์ ปักษาสวรรค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบขนส่งสาธารณะ มาให้ข้อมูล เตรียมเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนแนวเส้นทาง ช่วงถนนโพธิ์กลาง-มุขมนตรี เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและตอบโจทย์ให้คนโคราชมากที่สุด

โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบา หรือ LRT เป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะเกิดขึ้นในเขตเมืองนครราชสีมา เพื่อลดปัญหาการจราจรที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยรัฐบาลมอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาโครงการทำการออกแบบเส้นทาง และก่อนหน้านี้มีการจัดปฐมนิเทศโครงการ เพื่อนำเสนอเส้นทางนำร่อง คือ สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) ซึ่งเส้นทางดังกล่าวยังมีผู้ที่เห็นด้วย กับผู้ที่ไม่เห็นด้วย ขณะนี้ รฟม. และบริษัทที่ปรึกษา อยู่ระหว่างการประชุมกลุ่มย่อยไปตามกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ที่อาศัยในเขตเมืองนครราชสีมา

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มโคราชเพื่อโคราช นำโดยเภสัชกรจักริน เชิดฉาย อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ได้จัดประชุมกลุ่มย่อยเป็นการภายใน เพื่อหารือประเด็นรถไฟฟ้ารางเบา หรือ LRT พร้อมเชิญ ดร.สมพงษ์ ปักษาสวรรค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบขนส่งสาธารณะ มาให้ข้อมูลผู้ที่สนใจได้รับฟัง

เภสัชกรจักริน เชิดฉาย อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ประธานกลุ่มโคราชเพื่อโคราช กล่าวว่า “การจัดเวทีกลุ่มย่อยในวันนี้ กลุ่มโคราชเพื่อโคราช ต้องการให้สมาชิกกลุ่ม และผู้สนใจที่เกี่ยวข้องกับระบบการขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา ในเฉพาะเทศบาลนครนคราชสีมาได้รับรู้ว่า วันนี้โครงการดังกล่าวมีความคืบหน้าอย่างไร เฉพาะเจาะจงเรื่องของระบบรถไฟฟ้ารางเบา หรือที่เรียกว่า LRT ที่ว่ารัฐบาลได้มีการอนุมัติงบประมาณเพื่อการศึกษาโดยละเอียดที่เรียกว่า ดีเทล ดีไซน์”

“สำหรับรถไฟฟ้ารางเบา สายสีเขียวซึ่งเป็นสายแรก ที่จะมาให้บริการในเขตเมืองโคราช ทางกลุ่มโคราชเพื่อโคราช จึงจัดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนในสิ่งที่อะไรเหมาะสมกับคนโคราชและเกิดผลประโยชน์กับคนโคราชมากที่สุด”

“ระบบรถไฟฟ้ารางเบา หรือ LRT ตนเห็นด้วย และสนับสนุนให้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้น เพราะวันนี้เทคโนโลยีนี้ได้รับการยอมรับทั่วโลก และในประเทศไทย ก็มีหลายจังหวัดที่สนใจนำมาระบบนี้ไปใช้ในการแก้ไขปัญหาจารจร หรือส่งเสริมภาคเศรษฐกิจในการท่องเที่ยว”

“ซึ่งโคราชก็เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่น่าจะมีระบบสาธารณะ เพราะว่ามันไม่ได้มีประโยชน์เรื่องของการแก้ไขปัญหาจารจรเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมเรื่องของการท่องเที่ยว ด้านเศรษฐกิจ และจะทำให้เกิดการพัฒนาย่านใจกลางเมืองนครราชสีมาได้”

เภสัชกรจักริน กล่าวอีกว่า “อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ได้ในวันนี้ พวกเราก็มองเห็นว่าระบบนี้มีประโยชน์กับเมืองโคราช ต้องรณรงค์ให้คนโคราชมีการรับรู้เรื่องนี้ และช่วยกันสนับสนุนให้เกิดขึ้นได้จริงในเวลาที่รวดเร็ว วันนี้ตามขั้นตอนเอง ต้องใช้เวลาอีกสัก 3-4 ปี คนโคราชจะได้ใช้ แต่สิ่งสำคัญในวันนี้นั้น เราอยากนำเสนอในเรื่องประเด็นของการปรับเส้นทางบางเส้นทางต่างๆ เพื่อที่จะตอบโจทย์ให้คนโคราชมากที่สุด”

“ซึ่งก่อนหน้านี้มีคนกังวลเรื่อง LRT หลายประเด็นเช่น หากผ่านถนนโพธิ์กลาง ถนนมุขมนตรี อาจจะเกิดผลกระทบในเศรษฐกิจ เพราะถนนอาจจะแคบไปหน่อย วันนี้กลุ่มโคราชเพื่อโคราช มีทางออกที่จะนำเสนอต่อสาธารณะ ด้วยการเสนอให้มีการปรับเส้นทางเล็กน้อยโดยเร็วๆ นี้ กลุ่มโคราชเพื่อโคราช จะนำเสนอแนวทางในการปรับเส้นทางของ LRT เพื่อให้ตอบโจทย์ให้เกิดประโยชน์กับคนโคราชมากที่สุด” เภสัชกรจักริน กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบา หรือ LRT เส้นทางนำร่อง หรือสายสีเขียว มีทั้งหมด 20 สถานี เริ่มต้นจากบริเวณตลาดเซฟวัน (ถนนมิตรภาพ) และสิ้นสุดที่บริเวณสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ รวมระยะทางประมาณ 11.17 กิโลเมตร ประกอบด้วย สถานีตลาดเซฟวัน, สถานีตลาดมิตรภาพสถานีอู่เชิดชัย, สถานีสำนักคุมประพฤติ, สถานีชุมชนประสพสุข, สถานีสวนภูมิรักษ์, สถานีหัวรถไฟ, สถานีเทศบาลนคร, สถานีแยกเต๊กฮะ, สถานีตลาดใหม่แม่กิมเฮง, สถานีราชดำเนิน, สถานีคลังพลาซ่าใหม่, สถานีธนาคารยูโอบี, สถานีถนนชุมพล, สถานีแยกประปา, สถานีโรงเรียนสุรนารีวิทยา, สถานีราชภัฏ, สถานีโรงแรมดุสิตปริ๊นเซส, สถานีราชมงคล, สถานีบ้านนารีสวัสดิ์

จากภาพนั้น เส้นทางจะเริ่มจากตลาดเซฟวัน ผ่านแยกปักธงชัย ลอดด้านข้างสะพานข้ามทางรถไฟ เข้าสู่ถนนสืบศิริ เลี้ยวขวาวัดใหม่อัมพวันเข้าถนนมุขมนตรี ผ่านห้าแยกหัวรถไฟ มุ่งสู่ถนนโพธิ์กลาง เลี้ยวซ้ายที่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จากนั้นเลี้ยวขวาที่แยกไอที ผ่านโรงเรียนเมืองนครราชสีมา วิทยาลัยอาชีวศึกษา โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา สุรนารีวิทยา วัดสามัคคี เลี้ยวซ้ายเข้าแยกสุรนารายณ์ ตรงไปสิ้นสุดที่บริเวณสถานคุ้มครองบ้านนารีสวัสดิ์

ตามแผนงานการก่อสร้างคาดว่าจะเริ่มได้ช่วงปลายปี 2564 แล้วเสร็จคาดว่าปลายปี 2568 ค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 14 บาท และคิดเพิ่ม 1 บาท ตามจำนวนสถานีปลายทาง


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …