เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่การมีส่วนร่วมของประชาชนงานปรับแบบรายละเอียดในโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (ช่วงสระบุรี-นครราชสีมา) ที่โรงแรมสีมาธานี อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยมีผู้แทนส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พระภิกษุ และประชาชนที่มีที่ทำกินและที่พักอาศัยในแนวเส้นทางรถไฟผ่าน จำนวน 300 คน เข้าร่วม

นายทศวรรณ นิจพาณิชย์ ผู้จัดการโครงการ เปิดเผยว่า ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2569 จะพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา-หนองคาย และเส้นทางแก่งคอยท่าเรือมาบตาพุด ระยะทางรวมประมาณ 867 กิโลเมตร โดยให้รัฐบาลจีนมีส่วนร่วมตั้งแต่การเตรียมศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของโครงการ และดำเนินการก่อสร้าง เพื่อให้การพัฒนาโครงข่ายรถไฟสอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาตามนโยบายของรัฐบาลไทยที่ส่งเสริมการลงทุนที่มีความพร้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการขนส่งและเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยว และในวันที่ 23 มีนาคม 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้หารือทวิภาคีกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ที่เมืองไหหนาน ประเทศจีน มีข้อสรุปการลงทุนให้ฝ่ายไทยเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด โดยกำหนดนโยบายเริ่มต้นเส้นทาง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และส่วนต่อขยายเมื่อมีความพร้อมต่อมาในการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 10 ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้เริ่มต้นก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เป็นลำดับแรก โดยฝ่ายจีนเป็นผู้ออกแบบรายละเอียดการก่อสร้าง และควบคุมการก่อสร้าง

“การประชุมคณะกรรมการร่วมฯ ครั้งที่ 11 และครั้งที่ 12 มีมติร่วมกันแบ่งสัญญาโครงการออกเป็น 2 ส่วน คือ สัญญาที่ 1 การก่อสร้างงานวิศวกรรมโยธา ฝ่ายไทยเป็นผู้คัดเลือกผู้รับจ้างก่อสร้างงานวิศวกรรมโยธา สัญญาที่ 2 งานวางระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกลและรถจักรล้อเลื่อน ฝ่ายจีนเป็นผู้คัดเลือกผู้รับจ้างวางระบบ ส่วนฝ่ายไทยเข้ามาสังเกตการณ์ทำงานของผู้รับจ้างจีน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามนโยบายและข้อบังคับของฝ่ายไทย ล่าสุดในการประชุมครั้งที่ 20/2559 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2559 มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการจ้างและสั่งจ้างบริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดการออกแบบของฝ่ายจีนและออกแบบเพิ่มเติมในส่วนที่ฝ่ายจีนไม่ได้ดำเนินการสำรวจรายละเอียดอสังหาริมทรัพย์ เพื่อการเวนคืนและการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม” นายทศวรรณกล่าว และว่า ขณะนี้ได้ก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ช่วงสถานีรถไฟกลางดง-ปางอโศก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

นายทศวรรณกล่าวว่า โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ถือเป็นโครงการยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน ระหว่างประเทศไทยไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคและทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอินโดจีน (กัมพูชา-ลาว-มาเลเซีย และเวียดนาม) รวมทั้งประเทศจีน และสาธารณรัฐอินเดีย ทั้งยังเป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟลาว-จีน โดยยกระดับมาตรฐานรถไฟและส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง เป็นการลงทุน เพื่อวางรากฐานความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยในระยะยาว และสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค

“สำหรับแนวเส้นทางโครงการ ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีสถานีรถไฟ 6 แห่ง ได้แก่ สถานีบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีพระนครศรีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา โดยเป็นทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร เป็นทางยกระดับ 190 กิโลเมตร มีความสูงจากพื้นดินตั้งแต่ 7-22 เมตร และทางระดับพื้น 54.5 กิโลเมตร อุโมงค์ยาว 7.8 กิโลเมตร จำนวน 2 แห่ง คือ บริเวณมวกเหล็ก จ.สระบุรี และบริเวณลำตะคอง จ.นครราชสีมา ความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะเวลาเดินทางจากกรุงเทพฯถึงนครราชสีมา ประมาณ 1.30 ชั่วโมง ช่วงเวลาให้บริการ 06.00-22.00 น. ออกเดินทางทุก 90 นาที อัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 107-534 บาท เฉลี่ยค่าโดยสาร 80 บาท บวก 1.8 บาทต่อกิโลเมตร เปิดให้บริการปี 2566 งบประมาณ 179,000 ล้านบาท

ด้านนายวิเชียรกล่าวว่า เมื่อโครงการดำเนินการเสร็จสิ้น จะทำให้การขนส่งมวลชนมีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว สามารถย่นระยะเวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่ภูมิภาคได้รวดเร็วกว่าเดิม นำไปสู่ความเจริญทุกด้านให้กับ จ.นครราชสีมา และภูมิภาคอีสาน อย่างไรก็ตาม ขอนำเสนอเพิ่มเติมระบบขนส่งมวลชนที่มีความเหมาะสม เพื่อเชื่อมโยงและสอดคล้องรองรับกับสถานีรถไฟความเร็วสูง โดยเฉพาะพื้นที่เขตเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา ไม่ควรให้เกิดผลกระทบต่อการจราจรบนถนนที่มีอยู่เดิม รวมทั้งสถานีรถไฟปากช่อง ที่ตั้งห่างไกลจากพื้นที่ก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงปากช่องประมาณ 5-7 กิโลเมตร อาจส่งผลกระทบเกิดความไม่สะดวกในการเดินทางของผู้โดยสาร ควรหาแนวทางระบบเชื่อมโยงให้สอดคล้องกัน เพื่อให้สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น

 


แหล่งข้อมูล : มติชนออนไลน์


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …