ดีเดย์ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2560 การบริหารประเทศทั้งราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น จะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 วงเงิน 2.733 ล้านล้านบาท เมื่อเจาะลึกลงไปที่การจัดสรรงบประมาณตามแผนงานบูรณาการส่งเสริมการพัฒนา “จังหวัด” และ “กลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ” มีงบประมาณตั้งไว้ 2.69 หมื่นล้านบาท ปรับลดจากปี 2559 ประมาณ 567 ล้านบาท

โดยสามารถแยกเป็นจังหวัดและตามกลุ่มจังหวัด ดังนี้

1. กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 1 (นนทบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี) ได้รับการจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 360,221,500 บาท

2. กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 (อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท และลพบุรี) ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 360,494,500 บาท โดยทั้งสองกลุ่มมีเป้าหมายนำงบประมาณใช้เพื่อผลักดันนโยบายรัฐบาล ในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และบริหารจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

3.กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลาง (นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว และสมุทรปราการ) งบประมาณ 396,242,700 บาท มุ่งสู่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก

4.กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 (กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี และสุพรรณบุรี) งบประมาณ 349,786,100 บาท ใช้ในการพัฒนาด้านสังคม

5. กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2
 (สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์) งบประมาณ 352,257,300 บาท นำไปใช้ในการบริหารจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายหาดสามร้อยยอด ระยะที่ 2 บ้านหนองข้าวเหนียว หมู่ 2 ต.สามร้อยยอด อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 1 กิโลเมตร

6. กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย
 (ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง) งบประมาณ 358,298,700 บาท

7. กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน (สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) งบประมาณ 394,870,500 บาท ยังคงมุ่งพัฒนาด้านเศรษฐกิจ

เช่นเดียวกับ 8. กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (พังงา กระบี่ ตรัง ภูเก็ต และระนอง) งบประมาณ 394,597,500 บาท โดยเพิ่มเติมด้านการรักษาความมั่นคงและความสงบ ได้แก่ ก่อสร้างอาคารศูนย์บัญชาการกู้ภัยทางทะเล พร้อมครุภัณฑ์ประกอบบริเวณศูนย์ราชการจังหวัดพังงา ต.ถ้ำน้ำผุด อ.เมือง จ.พังงา

สำหรับ 9. กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก (ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด) งบประมาณ 363,789,500 บาท ใช้งบฯในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ก่อสร้างถนนแอสฟัลติกคอนกรีต ทางหลวงหมายเลข 3405 ตอนบ้านแหลม-ทุ่งขนาน ต.หนองตาคง อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ระยะทางไม่น้อยกว่า 2.3 กิโลเมตร ก่อสร้างถนนแอสฟัลติกคอนกรีต สายวงษ์พัฒนา-ทุ่งกราด เชื่อม อ.ขลุง ระยะที่ 1 ต.สะตอ อ.เขาสมิง จ.ตราด ระยะทางไม่น้อยว่า 5.4 กิโลเมตร

การปรับปรุงภูมิทัศน์จุดพักรถบนถนนสาย R10 เชื่อมโยง จ.ตราด กับจังหวัดบนเส้นทาง R10 แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด รวมถึงนำไปบริหารจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ก่อสร้างคอนกรีตป้องกันตลิ่ง ต.ทับมา อ.เมือง จ.ระยอง

ขณะที่ 10. กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (อุดรธานี เลย หนองบัวลำภู หนองคาย และบึงกาฬ) งบประมาณ 385,534,200 บาท และ

11. กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง (กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด) งบประมาณ 359,946,100 บาท

12. กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1
 (นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และสุรินทร์) งบประมาณ 355,279,100 บาท นำงบฯไปพัฒนาในด้านเศรษฐกิจ
เช่นเดียวกับ

13. กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (มุกดาหาร นครพนม และสกลนคร) งบประมาณ 307,448,200 บาท ไม่เพียงพัฒนาด้านเศรษฐกิจเท่านั้น ยังคงตั้งเป้าบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

14. กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2
 (อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร และอำนาจเจริญ) นำงบประมาณ 359,117,800 บาท มาใช้ในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ทั้งการขุดลอกแก้มลิงลำชีเก่า บ้านหนองเตย ต.เขื่องคำ อ.เมืองยโสธร จ.ยโสธร และการขุดลอกแก้มลิงกุดยอดนิยม บ้านคุยสำโรง ต.เขื่องคำ อ.เมืองยโสธร จ.ยโสธร

15. กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน) งบประมาณ 345,121,200 บาท พัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

16. กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 (ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์) งบประมาณ 394,595,200 บาท โดยใช้งบฯเพื่อบริหารจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ขุดลอกคลองและก่อสร้างคันกันน้ำ พร้อมอาคารรับน้ำ ท่อลอด ถนน และสะพานใน อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก และ อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย รวม 2 แห่ง

และ 17. กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 (นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร และอุทัยธานี) งบประมาณที่ตั้งไว้ 346,491,200 บาท ใช้ในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เช่น ปรับปรุงขยายถนนลาดยางจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 115 ตอนคลองโนน-เนินสมอ ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร กว้าง 14 เมตร ต.ปากทาง อ.เมืองพิจิตร จ.พิจิตร และปรับปรุงถนน เส้นทางขนส่งเพื่อรองรับการเกษตร สายแยก ทล.11-บ้านหนองบอนใต้ อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์, อ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร ระยะทาง 3.9 กิโลเมตร เป็นต้น

สำหรับงบประมาณส่งเสริมการพัฒนาจังหวัด หรืองบฯจังหวัด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการใช้จ่ายเม็ดเงินก้อนนี้พบว่า ในแต่ละจังหวัดจะได้รับการจัดสรรงบประมาณอยู่ในระดับ 200-300 ล้านบาท โดยจังหวัดที่ได้รับจัดสรรงบประมาณมากที่สุด คือ นครราชสีมา 431 ล้านบาท รองลงมาเป็นจังหวัดเชียงใหม่ 400 ล้านบาท ขอนแก่น 380 ล้านบาท ชลบุรี 365 ล้านบาท และบุรีรัมย์ 369 ล้านบาท ตามลำดับ

ส่วนจังหวัดที่มีงบประมาณน้อยที่สุด คือ ระนอง 170 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการรักษาความมั่นคงและความสงบ โดยมีโครงการหลัก ๆ ได้แก่ การพัฒนาแหล่งน้ำ การก่อสร้างและปรับปรุงสะพาน ถนน รวมถึงการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค

ดังนั้น จังหวัดไหนจะมีการใช้จ่ายงบฯก้อนนี้ไปทำโครงการอะไรบ้างนอกเหนือจากนี้ ประชาชนในทุกจังหวัดควรติดตามอย่างใกล้ชิดและมีส่วนร่วมกับการพัฒนาท้องถิ่นตนเอง

 

 

แหล่งข้อมูลและภาพประกอบ : ประชาชาติธุรกิจ


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …