เริ่มเห็นความคืบหน้าในการปฏิรูปท้องถิ่นเนื่องจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มี วัลลภ พริ้งพงษ์​ อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น เตรียมนำเสนอแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป

ด้วยการยกฐานะองค์การปกครองส่วนตำบล (อบต.) ทั่วประเทศให้มาเป็นรูปแบบเทศบาลและควบรวมท้องถิ่นขนาดเล็กเข้าด้วยกัน และปรับปรุงอำนาจหน้าที่ขององค์การปกครองส่วนจังหวัด (อบจ.) และเทศบาลไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน โดยจะเสนอให้คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่มี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลพิจารณาออกกฎหมาย หรือใช้อำนาจบริหารตามมาตรา 44 เป็นต้น

แนวทางการปฏิรูปองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเสนอให้ควบรวม อบต. ที่มีประชากรรวมไม่เกิน 7,000 คน และมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีหรืออื่นๆ ต่ำกว่า 20 ล้านบาท/ปี โดยไม่รวมกับรายได้จากการอุดหนุนจากภาครัฐ จะต้องควบรวมกับเทศบาล โดยแนวทางใหม่จะไม่มี อบต. แต่จะมีเพียงองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กับเทศบาลเท่านั้น ทั้งทรัพย์สินและบุคลากรของ อบต. จะถ่ายโอนให้เทศบาลกำกับดูแลแทน

ดังนั้นเมื่อควบรวมแล้วจะเหลือ อบจ.และเทศบาล รวมกัน 4,000 แห่ง จากเดิม อบจ. เทศบาล อบต.และรูปแบบปกครองพิเศษ อาทิ พัทยา และ กทม. รวมกัน 7,853 แห่ง สำหรับ อบจ.จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก มีเพียงการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ระหว่างเทศบาลกับ อบจ.ให้มีความชัดเจน และไม่ซ้ำซ้อนกันในบทบาทหน้าที่การดูแลหรือบริการประชาชน

พงศ์โพยม วาศภูติ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดการควบรวม อบต.กับเทศบาล เพราะปัจจุบัน อบต.ขนาดเล็กมีจำนวนมากเหลือเกิน เบื้องต้นไม่ได้พิจารณาในเชิงสภาพองค์กรการบริหารเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาขนาดหรือพื้นที่ งบประมาณหรือจำนวนบุคลากรร่วมด้วย เพราะ อบต.บางแห่งขนาดเล็กเกินไปจนไม่สามารถดำเนินงานบริการอะไรได้เลย ดังนั้น อบต.ขนาดใหญ่ย่อมบริหารจัดการดีกว่า อบต.ขนาดเล็ก

“เก่งเล็กหรือจะสู้เก่งใหญ่ ยิ่งปัจจุบันทั้ง อบต. อบจ. หรือเทศบาล นับรวมท้องถิ่นพิเศษอย่าง พัทยา กับ กทม. มีอยู่ราว 7 กว่าแห่ง อบต.บางพื้นที่ไม่น่าเชื่อว่า พื้นที่ขนาด 5 ตร.กม.มี อบต.กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เดียวกันถึง 3 แห่ง ดังนั้นจึงเห็นด้วยในการรวม อบต.ที่มีขนาดเล็กควบรวมกับเทศบาล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการสาธารณะ” พงศ์โพยม กล่าว

พงศ์โพยม กล่าวว่า สำหรับแนวทางการควบรวม อบต.มีด้วยกัน 2 แนวทาง คือ 1.อบต.ขนาดเล็กพื้นที่ใกล้เคียงกันให้ควบรวมกับเทศบาล และ 2.หาก อบต.ขนาดเล็กมีจำนวนมากในพื้นที่เดียวกัน ในระดับจังหวัดควรตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อพิจารณา “สั่งตัด” อบต.โดยการพิจารณาต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและต้องคำนึงถึงขนบธรรมเนียบประเพณีวัฒนธรรมหรือเชื้อชาติ ศาสนาของ อบต.แต่ละแห่งที่จะสั่ง ตัด หรือ มารวมกัน สิ่งสำคัญคือต้องค่อยๆ ดำเนินการเริ่มตั้งแต่เปิดโอกาสตามความสมัครใจว่า อบต.ใดต้องการควบรวมกับเทศบาล หรือถึงระยะหนึ่งจำเป็นต้องใช้วิธีการแกมบังคับ เช่น ประกาศว่า อบต.ใดจะร่วมโครงการควบรวมบ้าง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการจะต้องมีการแก้ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามหลักการกระจายอำนาจการปกครอง โดยอาจจะออกเป็น พ.ร.บ. หรือจะใช้อำนาจการบริหาร ย่อมขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย แม้ทราบดีว่าแนวทางดังกล่าวสร้างความไม่พอใจแก่นักการเมืองท้องถิ่น เพราะทำให้เขตพื้นที่การหาเสียงเลือกตั้งใหญ่ขึ้น การแข่งขันรับเลือกตั้งจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก ดังนั้นสิ่งสำคัญของแนวทางการควบรวม คือ ต้องการยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญมิใช่ยึดประโยชน์หรือกลัวผลกระทบของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะนักการเมือง

“แน่นอนจะทำอะไรต้องมีทั้งคนได้บ้าง หรือคนเสียบ้างเป็นธรรมดา เหมือนการควบรวม อบต. ก็คือ การผ่าตัดร่างกายครั้งใหญ่ ย่อมต้องเสียเลือดบ้างเป็นธรรมดา แนวคิดการควบรวม อบต.ของ สปท.ไม่ใช่คิดขึ้นมา หรือทำกันเพื่อสนุกๆ แต่ต้องการทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง”พงศ์โพยม กล่าว

พ.ท.กมล ประจวบเหมาะ นายกสมาคมนักปกครองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวทางการควบรวม อบต.กับเทศบาล เพราะหลักการถูกต้องและช่วยสร้างความเข้มแข็งรวมถึงการสร้างความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากรภาครัฐ เนื่องจาก อบต.ขนาดเล็กบางแห่งสร้างตึกอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใหญ่โตเกินศักยภาพและขีดความสามารถของตัวเองในการจัดเก็บรายได้ ดังนั้นหากมีการควบรวมพื้นที่ จำนวนประชากร หรืองบประมาณที่ได้รับหรือจัดเก็บย่อมดีขึ้นตามมา

“อบต.บางแห่งใช้งบประมาณเกินตัวสร้างรั้วล้อมตึกสำนักงานใหญ่ยิ่งโตกว่าที่ว่าการอำเภอเสียอีก เงินภาษีที่ได้หมดไปกับงานก่อสร้างทั้งๆ ที่ไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ใดๆ ถ้าควบรวมกันได้จริงก็จะได้หมดความวุ่นวายเรื่องแบบนี้เสียที” พ.ท.กมล กล่าว

วีระศักดิ์ เครือเทพ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความไม่เห็นด้วยกับการควบรวม อบต.กับเทศบาล เพราะไม่ได้ตอบโจทย์การปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเพิ่มศักยภาพท้องถิ่นอย่างแท้จริง เพราะการควบรวมหรือยุบ อบต.เป็นเพียงแนวทางหนึ่งเท่านั้นในการปฏิรูปหรือเพิ่มศักยภาพท้องถิ่น ยังมีอีกหลายวิธีการที่สามารถทำได้ แต่สิ่งสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการปกครองส่วนท้องถิ่น มีด้วยกัน 2 แนวทาง คือ 1.การสร้างความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่นโดยปลอดจากอำนาจส่วนกลางเข้าไปแทรกแซง และ 2.กลไกการตรวจสอบต้องเข้มแข็ง

 

แหล่งข้อมูล : โพลต์ทูเดย์


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …