ศธ. ร่วมมือ จีนยกระดับพัฒนาการเรียนการสอนอาชีวศึกษาร่วม  เตรียมคัดเลือกวิทยาลัยเอกชน แปลงโฉม เป็นวิทยาลัยระบบราง ศักยภาพสูง ใช้หลักสูตรจีน 100% พร้อม ยกระดับหลักสูตรไทยที่ตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 ด้าน “รมช.ศธ.” เผยจีนจะช่วยอย่างยกระดับอย่างเข้มข้น ลั่น เปิดหลักสูตรปีการศึกษา 61 นี้

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการหารือกับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงการพัฒนาการเรียนการสอนอาชีวศึกษาร่วมกัน ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีการหารือกับทางนายกรัฐมนตรีของประเทศจีน ก่อนหน้านี้  โดยหลักการเบื้องต้น จะมีการดำเนินการ 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การจัดตั้งโรงเรียนที่มีศักยภาพสูง ในเรื่องของระบบรางไทย-จีน  ซึ่งจะเป็นหลักสูตรจีนร้อยละ 100  ดังนั้น การเรียนการสอน การดำเนินการทุกเรื่องอย่าง รวมถึงประกาศนียบัตรก็จะเป็นของจีนทั้งหมด ส่วนกระทรวงศึกษาธิการไทย จะทำหน้าที่คัดเลือกอาชีวะเอกชนที่มีศักยภาพ มีความพร้อมมาร่วมมือในการพัฒนานักศึกษา  และ 2. ไทย-จีน จะร่วมมือกันยกระดับหลักสูตรไทยที่ตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 เช่น ระบบราง ท่าอากาศยาน โดยจัดการเรียนการสอนร่วมกันในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง

ด้านนพ.อุดม คชินทร  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าว ทางเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ยินดีและพร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่ ในด้านการยกระดับการเรียนการสอนอาชีวศึกษาไทย โดยเฉพาะในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ นั่นคือ สาขาระบบราง ซึ่งทางประเทศจีนจะช่วยอย่างยกระดับอย่างเข้มข้น  เพราะที่ผ่านมาอาชีวะไทยไม่ได้มีความร่วมมือกับอาชีวะศึกษาจีนที่สอนระบบรางโดยตรง ดังนั้น ความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นการร่วมมือพัฒนาการเรียนการสอนระบบรางที่ทำให้ได้มาตรฐานนานาชาติ รวมถึงจะมีความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการของจีนและกระทรวงศึกษาธิการของไทย โดยในเรื่องระบบราง ซึ่งไทยอยากให้ศูนย์กลางการเรียนรู้ระบบรางในภูมิภาคอาเซียน เพราะตอนนี้ประเทศไทยมีการขยายในระดับเมือง และประเทศเพื่อนบ้าน ลาว พม่า ล้วนต้องการระบบราง จึงต้องดำเนินการเรื่องระบบรางอย่างเร่งด่วน โดยหลักสูตรดังกล่าวจะเปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2561 เดือนพฤษภาคมนี้

“ตอนนี้การเรียนการสอนระบบรางของไทย ขาดแคลนคน ไม่ว่าจะเป็นช่างเทคนิค หรือวิศวกรระบบราง ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นการขอใช้หลักสูตร การจัดการเรียนการสอน มาตรฐานเช่นเดียวกับหลักสูตรของประเทศจีน โดยช่วงเริ่มต้นได้ขอให้ทางประเทศจีนส่งครูมาช่วยในสอน เพราะขาดแคลนครู รวมถึงขอเรื่องทุนการศึกษา ซึ่งการเรียนการสอนจะเป็นรูปแบบทวิภาคี หรือเรียนที่ไทย 1 ปี เรียนที่ประเทศจีน 1 ปี และได้ประกาศนียบัตร 2ใบ รวมถึงขออุปกรณ์การสอน ซึ่งทางเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยพร้อมลงทุนและให้ความร่วมมือในครั้งนี้” รมช.ศธ.กล่าว

 


แหล่งข้อมูล : ไทยโพสต์


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …